xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วย "เมอร์ส" อาการดีขึ้น แต่หายใจเองไม่ได้ ขยายกลุ่มเสี่ยงสูงต้องติดตาม 66 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ.เผยผู้ป่วยเมอร์สอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ แต่ปอดยังบวม หายใจเองไม่ได้ แต่พบ "ลูกชาย-น้องชาย" เริ่มมีอาการป่วย ระบุอยู่ห้องแยกโรคแล้ว ไม่ต้องกังวล เร่งเก็บตัวอย่างวิเคราะห์เชื้อ ขยายจำนวนผู้สัมผัสโรคเสี่ยงสูงในไทย 66 ราย เป็นคนบุรีรัมย์ 1 ราย ยังติดตามตัวไม่ได้ และกลุ่มเสี่ยงต่ำในไทย 75 ราย ขอ WHO ส่งผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลระบบ ยันไม่ระบาดแบบเกาหลี

หลังจากชายชาวตะวันออกกลางอายุ 75 ปี เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส มายังประเทศไทย และพบว่ามีอาการไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ได้เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในห้องแยกโรคความดันลบ โดยผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อพบว่าป่วยเป็นโรคเมอร์ส ซึ่งขณะนี้ได้ส่งตัวมารักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร พร้อมเฝ้าะรังญาติที่เดินทางมาด้วยอีก 3 ราย เนื่องจากเป้นผู้สัมผัสใกล้ชิด และกำลังติดตามผู้มีประวัติสัมผัสอีก 59 รายนั้น

ล่าสุด วันนี้ (19 มิ.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ นพ.ศุภมิตร์ ชุณสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คร. และ นพ.ธนะรักษ์ ผลิพัฒน์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา คร. แถลงข่าวความคืบหน้าในเรื่องนี้ ว่า ได้รับรายงานจาก ผอ.สถาบันบำราศฯ ว่า อาการของผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้น ไม่มีอาการทรุดลง ซึ่งยังคงต้องรักษาแบบประคับประคองอาการ ด้วยการให้น้ำเกลือ อาหาร ออกซิเจน และยาเพื่อลดไข้ เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสรักษา สำหรับการติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยรายนี้มีทั้งหมด 161 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ แบ่งเป็นผู้โดยสารรวมลูกเรือจำนวน 106 คน คนขับแท็กซี่ 2 คน เจ้าหน้าที่ รพ.เอกชน 47 คน และโรงแรมอีก 6 คน

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมีจำนวน 68 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้โดยสารสองแถวหน้าและสองแถวหลังของผู้ป่วย 21 ราย ซึ่งขณะนี้ติดตามได้แล้ว 3 ราย คือญาติของผู้ป่วยอยู่ในห้องแยกโรคสถาบันบำราศฯ เพื่อติดตามตามอาการ ส่วนที่เหลืออีก 18 คนนั้น เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้ว 2 คน เป็นคนไทยมีภูมิลำเนา จ.บุรีรัมย์ 1 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถติตตามตัวได้ และชาวต่างชาติอีก 15 คน ยังอยู่ในประเทศไทย สามารถติดตามได้แล้วบางราย และ 2.เจ้าหน้าที่ รพ.เอกชนอีก 47 ราย สรุปกลุ่มเสี่ยงสูงที่ยังอยู่ในไทยคือ 66 ราย ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงต่ำนั้น มีจำนวน 93 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้โดยสารที่มาเที่ยวบินเดียวกัน 85 ราย แต่เปลี่ยนเครื่องออกนอกประเทศไปแล้ว 6 ราย เป็นลูกเรือ 12 ราย เดินทางออกนอกประเทศไปแล้วเช่นกัน เหลือที่ต้องติดตามในไทยอีก 67 ราย 2.คนขับรถแท็กซี่ 2 ราย สามารถตามตัวได้แล้ว 1 ราย อยู่ระหว่างติดตาม 1 ราย และ 3.พนักงานโรงแรมอีก 6 ราย สรุปกลุ่มเสี่ยงต่ำที่ยังอยู่ในไทย 75 ราย

"ขณะนี้ สธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กทม. และผู้แทนองค์การอนามัยโลก มาหารือเพื่อช่วยกันติดตามป้องกันการติดเชื้อ ไม่ให้แพร่กระจายออกไป นอกจากนี้ ยังได้ส่งอีเมล์ถึงองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ที่อินเดีย ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เข้ามาช่วยดูระบบของไทยให้เข้มแข็ง รวมถึงประสาน 37 สายการบินที่มาจากตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ให้ให้คำแนะนำผู้โดยสารในการปฏิบัติตัวหากมีไข้ ไอ หายใจลำบากระหว่างอยู่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พร้อมทำแผ่นพับ 3 ภาษาคือ อังกฤษ อาหรับ และไทย ในการให้คำแนะนำด้วย ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าโอกาสการแพร่กระจายเชื้อแบบเกาหลีใต้เกิดขึ้นได้น้อย เพราะผู้ป่วยได้รับการแยกตัวใน รพ.ตั้งแต่แรก และตรวจวิเคราะห์เชื้อได้เร็ว ต่างจากเกาหลีใต้ที่ผู้ป่วยเดินทางไปรักษาถึง 5 แห่ง" รมว.สาธารณสุข กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสข่าวลูกชายของผู้ป่วยมีอาการป่วย ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากการสังเกตอาการของญาติผู้ป่วยทั้ง 3 ราย พบว่า คนที่เป็นลูกชายเริ่มมีอาการไอ ส่วนน้องชายของผู้ป่วยเริ่มมีไข้ต่ำๆ ซึ่งได้มีการแยกตัวอยู่ในห้องแยกโรคตามกระบวนการอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้อที่บริเวณจมูกและช่องคอไปวิเคราะห์แล้ว คาดว่าจะรู้ผลภายใน 5-6 ชั่วโมง ซึ่งหากติดเชื้อจริงก็ไม่น่าตกใจ เพราะมีการแยกตัวไว้แล้ว เพื่อป้องกันการสัมผัส

ผู้สื่อข่าวถามถึงชายชาวบุรีรัมย์ที่ยังติดตามตัวไม่ได้ ยิ่งนานจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหรือไม่ นพ.ธนะรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งติดตาม แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหาในเรื่องความเสี่ยงต่อระบบป้องกันควบคุมโรค เพราะอย่างกรณีเกาหลีใต้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยเมอร์สแล้วเดินทางไปจีน ซึ่งมีอาการตั้งแต่อยู่บนเครื่องบินก็ไม่พบว่ามีผู้โดยสารคนใดที่เดินทางร่วมมาด้วยมีอาการป่วย อย่างเคสชาวบุรีรัมย์ที่ยังตามตัวไม่ได้คิดว่าโอกาสป่วยไม่สูงมาก แต่จะพยายามติดตามให้เร็วที่สุดเพื่อติดตามอาการ

ดร.ริชาร์ด บราวน์ รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการประเมินพบว่าประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เพราะมีประสบการณ์มาตั้งแต่โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 รวมไปถึงโรคติดเชื้ออีโบลา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพบผู้ป่วยประชาชนย่อมวิตกกังวล แต่ประเทศไทยสามารถควบคุมตัวผู้ป่วยได้ และมีระบบติดตามตัวผู้ที่สัมผัสให้สังเกตอาการได้ และยังมีการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ในการแยกตัวเข้าห้องแยกโรคความดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ จึงขอให้อย่าตระหนก แต่องไม่ประมาท ขอให้ดูแลสุขภาพส่วนตัว

พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศฯ กล่าวว่า อาการผู้ป่วยเมอร์สตอนนี้ยังมีอาการปอดบวม ไม่มีไข้ แต่หายใจเองไม่ได้ ยังต้องใส่ออกซิเจนอยู่ และเนื่องจากผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ และมีอาการรุนแรง ดังนั้น จึงไม่สามารถบอกได้ว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ ส่วนครอบครัวของผู้ป่วยอีก 3 คนนั้นได้เก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ประสานไปยังสถานทูตโอมาน ให้ส่งล่ามมาช่วยแปลภาษาให้ ซึ่งแม้ว่าครอบครัวนี้จะพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย แต่ก็อยากจะพูดภาษาของตัวเอง ดังนั้น ตอนนี้สภาพจิตใจจึงถือว่าดีขึ้นมาก คลายความกังวลลงไปมาก เพราะรู้สึกได้รับการดูแลเอาใจใส่จากประเทศไทยและสถานทูตของตัวเอง โดยสถาบันบำราศฯ เป็นต้นแบบของห้องแยกโรคความดันเป็นลบที่มีมาตรฐาน ซึ่งเชื้อโรคไม่สามารถหลุดรอดออกมาข้างนอกอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีการกันผู้ป่วยทั่วไปไม่ให้เข้าไปใกล้บริเวณห้องแยกโรคอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมตั้งคำถามว่าทำไมปล่อยให้มีผู้ป่วยหลุดเข้ามาในประเทศ ทั้งที่มีการตั้งเทอร์โมสแกน พญ.จริยา กล่าวว่า เทอร์โมสแกนไม่สามารถคัดกรองผู้ป่วยได้ 100% เพราะบางคนที่เข้ามายังไม่แสดงอาการป่วย ไม่ได้มีไข้ตลอด 24 ชั่วโมง บางคนรับประทานยาลดไข้ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงจึงตรวจไม่พบ แต่ สธ.มีมาตรการที่ดีในการคัดกรองผู้ป่วย ทำให้พบผู้ป่วย รักษา และติดตามผู้สัมผัสโรคได้อย่างท่วงที

ด้าน นางสิทธินี นวลปลอด อายุ 60 ปีที่มาใช้บริการที่สถาบันบำราศฯ กล่าวว่า ไม่ได้เกรงกลัวที่มีคนไข้โรคเมอร์สมาที่นี่ เพราะมั่นใจในระบบคัดแยกผู้ป่วย และสถาบันบำราศฯ ไม่ได้รับผู้ป่วยโรคนี้เป็นโรคแรก ก่อนหน้านี้ยังรับผู้ป่วยไข้หวัดนก ซาร์ ไข้หวัดใหญ่ 2009

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถาบันบำราศฯ ยังเปิดให้บริการตามปกติ มีการแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้มารับบริการ พร้อมเจลล้างมือ ขณะที่บริเวณห้องผู้ป่วยเมอร์สยังเงียบสงบ เนื่องจากแพทย์และเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูผู้ป่วยเป็นระยะ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่









































กำลังโหลดความคิดเห็น