xs
xsm
sm
md
lg

จวกแพทยสภาค้านร่าง กม.ผู้เสียหายฯ ไม่ใช่หน้าที่-หาเสียงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์แพทย มศว จวกแพทยสภาค้านร่าง พ.ร.บ.ผู้เสียหายฯ ไม่ใช่หน้าที่ ชี้เป็นสวัสดิการของรัฐที่จัดเพื่อประชาชน ย้อนถามเป็นมติค้านของแพทยสภาจริงหรือ หวั่นทำให้แพทย์คนอื่นเข้าใจผิด ตั้งข้อสังเกตหาเสียงช่วงเลือกตั้ง กก.แพทยสภา
 นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงกรณีแพทยสภาค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ว่า หน้าที่ของแพทยสภา คือ การรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานและจริยธรรมของแพทย์ ดังนั้น เรื่องสวัสดิการเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะจัดให้กับประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องของแพทยสภา แต่แพทยสภากลับออกมาปฏิเสธร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นสวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้เพื่อมาชดเชยความเสียหาย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของแพทยสภาที่จะไปดูแลและปฏิเสธเรื่องสวัสดิการที่รัฐจะให้กับประชาชน

นพ.สุธีร์ กล่าวว่า จากท่าทีของแพทยสภาทำให้ตนมีข้อสงสัย 5 ประเด็น คือ 1. ใช่หน้าที่หรือไม่ 2. ผลที่ออกมาเป็นมติของแพทยสภาที่มีอยู่ประมาณ 50 คน จริงๆ หรือไม่ หรือเป็นแค่เรื่องของแพทย์ 3 - 4 คนที่ออกมาแถลงข่าว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คลุมเครือและมองว่าสิ่งที่แพทยสภาทำผิดจริยธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นในลักษณะนี้ควรระบุให้ชัดว่าเป็นคำพูดของ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ไม่ใช้มติของแพทยสภา ซึ่งทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งเข้าใจผิดและถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง 3. ช่วงนี้เป็นช่วงเลือกตั้งของแพทยสภา การออกมาในเวลานี้เป็นการออกมาช่วงชิงคะแนนเสียงหรือไม่ เพราะถ้าหากมี กกต. ก็คงต้องร้องเรียนว่าเป็นการใช้สื่อ อำนาจและตำแหน่งเพื่อการหาเสียงให้กับสมาชิกหรือไม่

นพ.สุธีร์ กล่าวว่า 4. ในกลุ่มกรรมการแพทยสภาเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่มีการเลือกตั้งก็มีเหตุการณ์ในลักษณะนี้ออกมา แต่ในช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง 2 ปีนี้ ก็ไม่เคยมีการทำอะไรในเรื่องนี้เพื่อคนเสียหายเลย นอกจากการออกมาคัดค้าน แต่พอถึงช่วงเลือกตั้งก็ออกมา ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องนี้รัฐต้องการชดเชยให้กับประชาชน และ 5. พ.ร.บ.ในขณะนี้กับในอดีตเปลี่ยนไปมาก ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. นี้ แพทย์จะได้ประโยชน์กับร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ เนื่องจากมีการระบุว่าหากมีการชดเชยแล้วศาลก็อาจจะลดโทษ หรือไม่ลงโทษเลยก็ได้ ซึ่งตรงนี้ไม่มีการพูดถึงข้อดีนี้เลย

“นอกจากนี้ ยังไม่มีการพูดเลยว่าร่าง พ.ร.บ. ชุดก่อนให้เอกชนเข้าร่วมด้วย ซึ่งคนที่อยู่ใต้ พ.ร.บ. นี้ ต้องส่งเงินเข้าร่วมกับกองทุนนี้ และถ้าส่งเงินเข้าร่วมก็จะต้องเปิดตัวเลขผลประกอบการของตัวเอง โดยเชื่อว่า เอกชนไม่อยากเปิดผลประกอบการของตัวเอง ดังนั้น เอกชนค่อนข้างต่อต้าน ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ใหม่ ระบุว่า เอกชนจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ได้ ทำให้ชาวบ้านมีการพูดกันมากว่าโรงพยาบาลเอกชนกับแพทยสภาเป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือเปล่าเลยออกมาต่อต้าน ซึ่งเรื่องนี้มีการตั้งคำถามกันเยอะมาก” นพ.สุธีร์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น