xs
xsm
sm
md
lg

สื่อทหาร เขตปลอดปฏิรูป ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การปฏิรูปสื่อ เป็นหนึ่งในวาระการปฏิรูปประเทศไทย ตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติมีตัวแทนจากภาคสื่อสารมวลชนเป็นสมาชิก ทำหน้าที่ศึกษาจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปสื่อเพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่จะมีการร่างขึ้นต่อไป

การปฎิรูปสื่อเป็นเรื่องที่พูดกันมานานไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อ พ.ศ. 2535 ซึ่งครั้งนั้น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ ที่ถูกรัฐบาลควบคุม ใช้เป็นเครื่องมือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจนนำไปสู่ความรุนแรง จึงตกเป็นเป้าหมายของการปฏิรูป และผลก็คือ เกิดสถานีโทรทัศน์ไอทีวี รวมทั้งการกำหนดแนวทางการปฏิรูปสื่อไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปสื่อนั้นไม่เป็นจริง สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเกิดได้ไม่นาน ก็ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 เทกโอเวอร์กลายเป็นธุรกิจของชินคอร์ป บทบัญญัติตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญที่ให้มี องค์กรอิสระจัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรทัศน์ วิทยุ และกิจการโทรคมนาคม กว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้ ก็ใช้เวลานานหลายปี และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว องค์กรอิสระที่ว่านี้ คือ กสทช. กลับทำหน้าที่อำนวยผลประโยชน์ จัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนญาตให้กับผู้ประกอบการ มากกว่าที่จะคำนึงถึงการปฏิรูปสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ส่วนสื่อหนังสือพิมพ์ ยืนยันในหลักการกำกับดูแลกันเองด้วยการก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2540 มีข้อกำหนดว่าด้วยจริยธรรม ให้สมาชิกปฏิบัติตาม แต่ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 17 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทำได้แค่ ว่ากล่าวตักเตือนสมาชิกที่ถูกร้องเรียนและมีการตรวจสอบแล้วว่าทำผิดจริยธรรม สมาชิกบางรายที่ถูกตั้งกรรมการสอบ ไม่พอใจก็ใช้วิธีลาออกจากการเป็นสมาชิก สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงเหมือนเสือกระดาษ ไม่สามารถกำกับดูแลสมาชิกด้วยกันเองได้จริง ล่าสุดคือ กรณีนักข่าว คอลัมนิสต์ สิบกว่าคน ถูกเปิดโปงว่ารับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแลกกับการทำข่าวสร้างภาพลักษณ์ให้บริษัทนั้น สภาการหนังสือพิมพ์ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตั้งแต่เดือนกรฎาคมที่ผ่านมา จนถึงบัดนี้ ไม่ปรากฏความคืบหน้าแต่อย่างใด

การปฏิรูปสื่อจีงเป็นสิ่งที่พูดได้ แต่ทำยาก โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่มีสื่อใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย คือทีวีดาวเทียม เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ การปฏิรูปสื่อ หากเจ้าของสื่อไม่ให้ความร่วมมือ ก็ยากจะเป็นจริงได้

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกที่มาจากสายสื่อสารมวลชน จึงมีความท้าทายรออยู่ว่าจะปฏิรูปสื่ออย่างไรให้เกิดผลเป็นจริงได้

ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ การปฏิรูปสื่อที่ว่านี้ จะปฏิรูปแต่เฉพาะสื่อที่เอกชนถือครอง หรือสื่อของรัฐ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์และวิทยุทหาร ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

กองทัพ มีเครือข่ายสื่อขนาดใหญ่มาก เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ทั้งระบบเดิม และระบบดิจิตอล มีสถานีวิทยุมากกว่า 500 แห่ง ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงแทบจะทุกครัวเรือน มากกว่าสื่ออื่นใดของภาคเอกชน

ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญสองฉบับปี 2540 และ 2550 คลื่นวิทยุเหล่านี้เป็นสมบัติของสาธารณะ กองทัพจะต้องคืนให้กับ กสทช.เพื่อนำคลื่นมาจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ กสทช.ไม่ได้แตะต้องสถานีวิทยุเหล่านี้เลย ในขณะที่ฝ่ายทหารแสดงท่าที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการคืนคลื่น อ้างว่าต้องรักษาไว้เพื่อความมั่นคงของชาติ พร้อมกับส่งตัวแทนเข้าไปนั่งเป็น กรรมการ กสทช.เพื่อคอยดูแลไม่ใครมาแตะต้อง

ในความเป็นจริง คลื่นวิทยุทหารถูกจัดสรรแบ่งปันไปให้กับกลุ่มธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจระดับต่างๆ ในกองทัพหลายๆ รายผูกขาดสัมปทานคลื่นวิทยุมานานนับสิบปี บางรายเป็นเครือญาติอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพ แม้จะเกษียณราชการไปแล้ว แต่ยังมีบารมี สามารถนำคลื่นวิทยุไปให้ลูกหลานทำธุรกิจราวกับเป็นสมบัติส่วนตัว

การปฏิรูปสื่อที่เอกชนเป็นเจ้าของนั้นทำได้ยาก หากเจ้าของไม่ยินยอมพร้อมใจ เพราะการปฏิรูปสื่อย่อมจะต้องกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่สำหรับสื่อทหารนั้น เจ้าของคือกองทัพ ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่ได้มีผลประโยชน์ในทางธุรกิจ การปฏิรูปสื่อของกองทัพจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อกองทัพ หากจะมีก็คงเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา ที่มีอำนาจในการกำหนดว่า จะยกสัมปทานคลื่นให้กับใคร

หาก พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ซึ่งชอบเทศนาสั่งสอนสื่อมวลชนอยู่เป็นนิจ มีความตั้งใจจริงที่จะให้เกิดการปฏิรูปสื่อ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ก็ไม่ควรจะละเว้นสื่อของกองทัพ ทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ซึ่งอยู่ในสภาพอีเหละเขละขละ ไม่มีทิศทางชัดเจน เพราะเอาแต่ขายเวลา รวมทั้งสถานีวิทยุหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ แต่จะต้องปฏิรูปสื่อของกองทัพให้เป็นสื่อของประชาชนจริงๆ เป็นสื่อที่มีเนิ้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ มีความหลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้จัดรายการรายเล็กๆ เข้ามาจัดรายการดีๆ ได้ ไม่ใช่ยกเวลาให้กลุ่มทุนเจ้าประจำที่ผูกขาดสัมปทาน ยึดเอาคลื่นไปตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยเฉพาะสมาชิกสายสื่อสารมวลชน ต้องมีความชัดเจนว่า การปฏิรูปสื่อที่แต่ละคนอาสาเข้าไปทำนั้น มีขอบเขตแค่ไหน จะปฏิรูปสื่อทั้งหมด ทั้งของเอกชนและรัฐ หรือว่าปฏิรูปแต่สื่อเอกชน ยกเว้นสื่อของรัฐ โดยเฉพาะสื่อของกองทัพ เพราะแตะไม่ได้ ทหารไม่ยอม



กำลังโหลดความคิดเห็น