xs
xsm
sm
md
lg

สภาการ นสพ.รับสอบคำร้อง คสช. ตัวแทน “เอเอสทีวีผู้จัดการ” พร้อมแจง-รับผลตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร้องเรียน
ปธ.สภาการ นสพ.แจงผลประชุม ให้นำกรณี คสช.ร้อง “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ไปตรวจสอบตามธรรมนูญและข้อบังคับฯ พร้อมชงให้ผู้ถูกร้องชี้แจง แก้ไข หากดำเนินการแล้ว ผู้ร้องพอใจก็ยุติ ปัดกำชับสื่อ เหตุคำนึงหลักวิชาชีพอยู่แล้ว ชี้คำสั่ง คสช.ไม่ถือว่าชี้ความผิด ด้านตัวแทน “เอเอสทีวีผู้จัดการ” ยินดีชี้แจง แต่ไม่ร่วมวงสอบ พร้อมรับผลตัดสิน


วันนี้ (29 ก.ค.) ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยมีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กล่าวหาว่าหนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 ประจำวันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค.57 มีการพาดหัวข่าวและตีพิมพ์เนื้อหาหลายเรื่องที่เป็นข้อความเสียดสีและเป็นเท็จซึ่งอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าหัวหน้า คสช.อยู่เหนือสถาบันเบื้องสูง มีเจตนาไม่สุจริตทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.

ภายหลังการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรจาก คสช.เรียบร้อยและมีมติให้นำนายสิทธิโชค ศรีเมือง รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ นำเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการพิจารณาตรวจสอบตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2540 และข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ ทางตัวแทนของเอเอสทีวีผู้จัดการที่เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่ายินดีที่จะชี้แจงและจะไม่เข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งนี้หากผลสอบสวนของสภาการหนังสือพิมพ์ออกมาเป็นเช่นไรก็พร้อมปฏิบัติตาม

“จากนี้ไปคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์จะส่งข้อร้องเรียนดังกล่าวไปให้หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์เพื่อดำเนินการชี้แจง แก้ไข ตามที่ คสช.ร้องเรียน หากทางหนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์พิจารณาแก้ไขและขอโทษผู้ร้องเรียน หากผู้ร้องเรียนพอใจถือว่าเรื่องเป็นที่ยุติ” นายจักรกฤษณ์ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมได้พิจารณากำหนดแนวทางทำงานของสื่อฯ ด้วยหรือไม่หลังจากที่ คสช.มีคำสั่งให้ตรวจสอบหนังสือพิมพ์ที่เป็นสมาชิกฯ นายจักรกฤษณ์กล่าวว่า โดยปกติการทำงานของสื่อมวลชนได้คำนึงถึงหลักการสำคัญในการทำงานตามหลักวิชาชีพอยู่แล้วจึงไม่มีประเด็นที่ทางสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะกำชับประเด็นใดๆ

เมื่อถามต่อว่าคำสั่ง คสช.ต่อประเด็นของเอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์มีลักษณะของการชี้ความผิดจะส่งผลต่อการตรวจสอบหรือไม่ นายจักรกฤษณ์กล่าวว่า ลักษณะการกล่าวหาต้องมีการชี้ผิดอยู่แล้ว แต่ตามกระบวนการตรวจสอบของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ที่ถือเป็นองค์กรอิสระต้องดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน ดังนั้น คำสั่งของ คสช.ดังกล่าวนั้นไม่ถือเป็นลักษณะของการชี้ผิดหรือชี้ถูก และการตรวจสอบขององค์กรสื่อฯ หากได้ผลว่าเป็นอย่างไรก็ดำเนินการตามข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ทั้งนี้ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2540 ข้อ 22 กำหนดว่า เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ได้ตรวจสอบและดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วให้แจ้งผลพิจารณาให้คณะกรรมการสภาการฯ และคู่กรณีรับทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ หากคู่กรณีฝ่ายใดเห็นว่ามีพยานหลักฐานและเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณาให้ยื่นคำคัดค้านต่ออนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ภายใน 20 วัน นับแต่วันได้รับทราบผลพิจารณา และให้คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการอุทธรณ์พิจารณาต่อไป สำหรับโทษการรับผิด โดยหากผลวินิจฉัยออกมาระบุว่าหนังสือพิมพ์ที่เป็นสมาชิกสภาการฯ หรือผู้ประกอบการวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในสังกัดละเมิด หรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ให้หนังสือพิมพ์ฉบับที่ถูกร้องเรียนดังกล่าวลงตีพิมพ์คำวินิจฉัยอันเป็นที่สุด พร้อมทั้งตีพิมพ์คำขอโทษต่อผู้เสียหาย ในตำแหน่งและขนาดตัวอักษรที่เห็นได้ชัด เผยแพร่ต่อสาธารณะภายใน 7 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น