xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการฯ“จำเลย”คสช. เสนอ "ข่าวเท็จ"ตรงไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**เสียงปรบมือเรื่องการเปิดใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยอมปลดล็อกโซ่ตรวนให้สื่อมวลชน กรณีประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 ยังไม่ทันจะสิ้นเสียงดี จู่ๆ คสช. ก็มีคำสั่งประกาศฉบับที่ 108 ใส่กระบอกเสียงประชาชนเสียอย่างนั้น
**โดยรอบนี้เป็นหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์”ฉบับล่าสุด
คสช. ระบุว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ มีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคสช. จึงเห็นสมควรตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ซึ่งหากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการ นอกจากนี้ ยังให้องค์กรวิชาชีพทำการสอบสวนทางจริยธรรม แล้วรายงานผลการดำเนินการให้คสช.ทราบโดยเร็ว
**มองดูภาพรวมก็ถือว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช. ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ถึงขั้นใช้ยาแรง ไม่ให้จำหน่าย จ่าย แจก ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 ตอนที่ยังไม่ได้มีการแก้ไข แต่แค่เพียงตักเตือนเท่านั้น
**ทว่า ข้อกล่าวหาที่ คสช. ตั้งเอาไว้ กลับไม่เคลียร์ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการตั้งข้อกล่าวหาที่กว้างเกินไป
เพราะประกาศที่ออกมา ไม่ได้แจ้งผู้ถูกกล่าวหาเลยว่า มีคอลัมน์ไหน บทความชิ้นใด หรือมีข้อความบรรทัดไหนที่ คสช. คิดว่า เป็นเรื่องเท็จ จนทำให้ถึงกับป่าวประกาศให้รู้กันอย่างถ้วนหน้า อีกทั้งยังมีช่องทางที่สร้างสรรค์ดูดีกว่า คือทำเรื่องมายัง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”ให้ตรวจสอบก่อน ที่ไม่ทำเช่นนี้ ทำให้มีข้อติดใจว่า เป็นเพราะกลัวเรื่องจะเงียบเกินไปหรือเปล่า
ประกาศดังกล่าว ไม่ต่างจากการกล่าวหาลอยๆ โดยไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหารู้ตัวว่า กระทำความผิดในเรื่องไหน จึงจะได้ชี้แจงแถลงไขกันไปให้เคลียร์ว่า สุดท้ายมันเท็จอย่างที่ว่าหรือไม่ แต่เมื่อออกมาอีหรอบนี้ จึงเสมือนเป็นการปิดโอกาสไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงอะไรเลย
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ คสช.ระบุว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ตีพิมพ์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า สุดท้ายหากข้อความนั้นๆ เป็นเท็จจริงๆ แล้วเรื่องจริงเป็นอย่างไร เหตุไฉนจึงไม่ออกมาอธิบายให้กระจ่างแจ้งโดยถ้วนทั่วกัน
นอกจากนี้ กระบวนการตรงนี้ ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์โดน ดูจะมีความลักลั่นพอสมควร โดยเฉพาะหากเทียบกับกระบวนการไต่สวน หรือแสวงหาข้อเท็จจริงตามองค์กรตามกระบวนยุติธรรมต่างๆ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนจะชี้มูลความผิดบุคคลใดๆ ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหา เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก่อน แล้วค่อยว่ากันว่า ฟังขึ้นหรือไม่ขึ้น แต่ครั้งนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย
**กลายเป็นตอนนี้ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ เป็น “จำเลยของสังคม” โดยอัตโนมัติ จากผลพวงประกาศดังกล่าวว่า เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ชนิดที่ตัวเองไม่มีโอกาสจะได้ชี้แจงให้สังคมได้ทราบว่า ข้อความนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เหตุและผลเป็นอย่างไร
**หรือเรื่องที่ปรากฏอยู่จนทำให้ คสช. เกิดอาการ “ของขึ้น” นั้น สุดท้ายเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจ เป็นการติเตียนเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหรือไม่
ซึ่งหากเป็นคำติเตียนจนทำให้ คสช.เดือดเป็นภูเขาไฟจริง คสช.เองก็ดูจะใจดำ หรือคับแคบเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะภาระหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องเป็นหูเป็นตาให้ประชาชนเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หากเป็นการติเพื่อก่อ ก็ไม่น่าจะแปลกอะไร เพราะเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริตของสื่อมวลชนอยู่แล้วมิใช่หรือ
กลับกัน โดยวิชาชีพของสื่อมวลชน หากจะนำเสนอข่าวสาร บทความ ที่เป็นการเชลียร์ กลับหัวกลับหาง จากผิดเป็นถูก จากขาวเป็นดำ ลักษณะนั้น มันก็ดูจะขัดหลักจริยธรรมเกินไป คสช.ควรจะต้องเปิดใจกว้างยอมรับธรรมชาติตรงนี้ ยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ต้องกุมความเป็นไปของประเทศชาติ ความคิดเห็นต่างๆ ควรจะต้องนำมารับฟัง
แต่เมื่อออกมาอีหรอบนี้ คนที่ติดลบ โดนพิพากษาจากสังคมไปแล้วคือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ในขณะที่ คสช. ได้ใช้เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ใช้อำนาจที่มีตามอำเภอใจ เพราะไม่ได้สั่งปิดทันที แค่ตักเตือน
อย่างไรก็ดี ในเมื่อเรื่องมันอุบัติขึ้นมาแล้ว หลังจากนี้คงเป็นกระบวนตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่ง คสช. คงต้องทำคำกล่าวหามาให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พิจารณาว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ มีความผิดตรงไหน อย่างไร ตรงไหนที่บิดเบือน ซึ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกลไก และต้องเป็นไปตามธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ที่บัญญัติเอาไว้ชัดแจ้ง
ผลจะออกมาเป็นอย่างไร คสช. จักต้องยอมรับ ในเมื่อประกาศ คสช.เขียนไว้ชัดในประกาศที่ 103 ว่า ให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจัดการกันเอง
**แม้ คสช. มีอำนาจมากตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะใหญ่กว่า “ธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ”ที่ปฏิบัติกันมาหลายสิบปี มั่นคง ไม่ได้ย่อยสลาย หรือหายไปหากมีการฉีกรัฐธรรมนูญ
สภาการหนังสือพิมพ์ฯ มีความยึดมั่นในวิชาชีพที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ มีความเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำใดๆ ขององค์กรใดทั้งสิ้น โดยยึดมั่นอุดมการณ์ที่จะไม่ยอมก้มหัวเป็นเครื่องมือให้ใคร ฉะนั้น สภาการหนังสือพิมพ์ฯจึงไม่ใช่กลไกในโครงสร้างอำนาจของ คสช.
ด้วยเหตุเช่นนี้ จึงต้องปล่อยให้องค์กรวิชาชีพได้ดูแลตรวจสอบกันเองอย่างอิสระ โดยไม่เข้าไปแทรกแซง หรือบีบบังคับใดๆ
ต้องอย่าลืมว่า ปัจจุบัน คสช.เองก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว ฉะนั้น การจะใช้คำสั่ง หรือประกาศใดๆ มีข้อจำกัด และควรระวังไม่น้อยเหมือนกัน เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 มีการเขียนเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความเห็นของประชาชนด้วย ซึ่งในทีนี้ ก็รวมถึงสื่อมวลชนด้วย
โดยเฉพาะหากเป็นความคิดเห็นโดยสุจริต คสช.ไม่สามารถแตะต้องได้เลย !!!
**อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามกันว่า สุดท้ายท้ายสุดเรื่องนี้จะออกมาอย่างไร ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลากันอีกสักพัก
กำลังโหลดความคิดเห็น