พบดึงข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ บิดเบือนใส่ร้าย “ศิริราช” กล่าวหาคนจนเป็นภาระ เปิดข่าวต้นฉบับชัดเจนมีการเติมข้อความพาดหัวเอง ด้านชาวเน็ตกังขา “ศิริราช” วอนคนมีสามารถจ่ายได้ให้ร่วมจ่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ ขณะที่มติบอร์ด สปสช. ปี 2555 ระบุชัด ทุกคนต้องร่วมจ่ายแบบสมัครใจ เว้นคน 23 กลุ่มรักษาฟรี รวมคนยากจน
วันนี้ (19 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สังคมออนไลน์กำลังมีการส่งต่อหรือแชร์ภาพ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ซึ่งมีลายน้ำ ASTVผู้จัดการ พร้อมระบุพาดหัวข่าว ว่า “ศิริราชหนุนร่วมจ่าย เผยบัตรทองทำขาดทุน 400 ล. อยู่ได้ด้วยเงินบริจาค ย้ำคนจนเป็นภาระ” โดยมีการขีดเส้นเน้นย้ำข้อความสุดท้ายของพาดหัวข่าว และแสดงข้อความเพิ่มเติมว่า “หมอศิริราชอ้างว่าคนจนเป็นภาระของประเทศ ทำให้ รพ. ขาดทุนปีละ 400 ล้านบาท” จนทำให้มีชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กนำข้อมูลดังกล่าวไปแชร์ต่อ พร้อมต่อว่า รพ.ศิริราช ในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม พาดหัวดังกล่าวนั้น ต้นฉบับนั้นเป็นพาดหัวข่าวของเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ในหมวดข่าวคุณภาพชีวิต ซึ่งต้นฉบับข่าวพาดหัวข่าวว่า “ศิริราชหนุนร่วมจ่าย เผยบัตรทองทำขาดทุน 400 ล.อยู่ได้ด้วยเงินบริจาค” http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000079873 ไม่มีการพาดหัวว่า “ย้ำคนจนเป็นภาระ” แต่อย่างใด และเนื้อหาข่าวด้านล่างก็ไม่มีประโยคใดที่ ศ.คลินิก นพ.อุดม ให้สัมภาษณ์ว่าคนจนเป็นภาระ ภาพที่ส่งต่อดังกล่าวน่าจะเกิดจากการต่อเติมข้อความเข้าไปเอง ซึ่งคนแวดวงสาธารณสุขเชื่อว่าเป็นการให้ร้ายบุคคลที่เห็นด้วยกับการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล
สำหรับข่าวต้นฉบับของ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2557 เวลา 08.55 น. นับจนถึงวันที่ 19 ก.ค. เวลา 14.25 น. มีคนกดถูกใจเพื่อแชร์ข่าวไปในเฟซบุ๊กแล้วประมาณ 19,246 คน โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นโครงการที่ดีและทำมานาน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการเงินการคลังของโรงพยาบาลไม่น้อยเช่นกัน เพราะรัฐบาลมีงบประมาณจำกัดในส่วนของค่ารักษาพยาบาล แต่โรงพยาบาลกลับต้องให้การรักษาอย่างเต็มที่ และดีที่สุดกับผู้ป่วย ขณะที่โครงสร้างประชากรขณะนี้เปลี่ยนแปลงเหมือนกันทั่วโลก อย่างคนไทยอายุเฉลี่ยของผู้สูงอายุจากอายุ 60 ปี เพิ่มเป็น 73 ปี หมายถึงโรคแทรกซ้อนที่จะเพิ่มขึ้น การใช้ยาเพิ่มขึ้น ขณะที่งบประมาณจำกัดและถูกควบคุม ซึ่งไม่สอดคล้องกันตามหลักธรรมชาติ หลักประกันสุขภาพฯ มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ ให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม แต่ใน 48 ล้านคน ความจริงแล้วครึ่งหนึ่งเป็นคนที่มีความสามารถจ่ายเงินได้ ดังนั้น การร่วมจ่ายจึงเป็นการช่วยรัฐบาลและโรงพยาบาลให้อยู่ได้
“การให้บริการในส่วนหลักประกันสุขภาพฯ ทำให้ รพ.ศิริราช ขาดทุนปีละ 400 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค และได้เงินบำรุงโรงพยาบาลมาเติมทำให้สามารถอยู่ได้ แต่โรงพยาบาลอื่น หากไม่มีเงินบำรุงจะทำอย่างไร ทั้งนี้ แนวทางการร่วมจ่าย ที่ไม่สามารถทำได้ทุกวันนี้ เพราะเป็นเรื่องประชานิยม ทุกคนได้ฟรีจนมองว่า แค่ 30 บาท ก็จ่ายไม่ได้ แต่จำเป็นต้องเข้าใจว่า ถ้ายากไร้อย่างไรรัฐก็ต้องดูแล แต่เรากำลังพูดถึงคนที่มีศักยภาพสามารถจ่ายได้ ก็ต้องช่วยเหลือ โดยต้องกลับมาดูหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ เพราะมีแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อยู่แล้ว” ศ.นพ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว
ขณะที่เว็บไซต์ข่าวของสำนักข่าวไทย mcot.net มีการเผยแพร่รายงานข่าวเกี่ยวกับกระแสค้าน 30 บาท เช่นกัน โดยได้นำเสนอผ่านคลิปวิดีโอที่ออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ความยาว 2.41 นาที ซึ่งในรายงานนั้นมีคำสัมภาษณ์ของ ศ.คลินิก นพ.อุดม ตั้งแต่นาทีที่ 1.57 เป็นต้นไป ซึ่งคำสัมภาษณ์ก็ไม่มีประโยคใดที่กล่าวหาว่าคนจนเป็นภาระเช่นกัน ชมคลิปได้ผ่าน http://www.mcot.net/site/content?id=53c521c8be047058068b45e0#.U8ofEZR_sQp
สำหรับประเด็นที่สังคมออนไลน์ถกเถียงกันอยู่ว่า การให้คนที่มีความสามารถร่วมจ่ายเพื่อช่วยเหลือรัฐและโรงพยาบาลนั้น ในเมื่อเป็นรัฐสวัสดิการเลือกปฏิบัติได้ด้วยหรือ คนรวยก็ต้องได้สิทธิเท่าคนจน จะเอาเกณฑ์ใดมาวันนั้น ในรายงานพิเศษของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ หัวข้อ “เกมการเมือง สธ. จาก “อภ.” ถึง “ร่วมจ่าย” ประชาชนมีแต่หายนะ!!” http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9570000081470 ได้ให้ข้อมูลซึ่งสรุปใจความได้ว่า มติบอร์ด สปสช. นั้นให้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2555 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป ให้ “ร่วมจ่าย 30 บาท” แต่เป็นไปในลักษณะสมัครใจ ยกเว้นผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ฉบับที่ 1 และ 2 จำนวน 23 กลุ่ม เช่น ผู้ยากไร้ พระภิกษุ ผู้พิการ ทหารผ่านศึก เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสัมภาษณ์ของ ศ.คลินิก นพ.อุดม ที่วอนให้ผู้มีความสามารถจ่ายได้ร่วมจ่าย น่าจะหมายถึงบุคคลทั่วไปที่สามารถร่วมจ่ายได้ และเป็นไปตามความสมัครใจตามมติบอร์ด สปสช. มิได้หมายถึงคนจน คนยากไร้ คนด้อยโอกาส ซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎหมายอยู่แล้วแต่อย่างใด