xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เกมการเมือง สธ. จาก “อภ.” ถึง “ร่วมจ่าย” ประชาชนมีแต่หายนะ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทยไปแล้ว กับกรณีข่าว นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ผู้ใช้สิทธิกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งมีจำนวนมากถึง 48 ล้านคน ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30-50% ซึ่งข่าวนี้ปูดออกมาจากฝ่ายภาคประชาสังคม อย่างนายนิมิตร์ เทียนอุดม ซึ่งสวมหัวโขนในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย

กระนั้นกก็ดี เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ปลัด สธ.เองก็นำเอกสารข้อเสนอการดำเนินงานตามนโยบายด้านสาธารณสุขต่อ คสช. ออกมาเป็นหลักฐานยืนยันว่า การเสนอนโยบายต่อ คสช.ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระยะ 11 เรื่อง ไม่มีเรื่องใดที่พูดถึงการร่วมจ่ายแม้แต่น้อย มีเพียงแต่ช่วงที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นเท่านั้น โดย นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ออกมายืดอกรับเองว่าตนเป็นผู้เสนอเรื่องนี้ขึ้นมาเอง แต่ก็มิได้เป็นมติที่ประชุมแต่อย่างใด

แม้ปลัด สธ.จะเคลียร์ประเด็นรอดตัวจากความเข้าใจผิดของสังคมไปได้ แต่เรื่องร่วมจ่ายกลับกลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลังถกเถียงกันอย่างยกใหญ่ว่า จริงๆ แล้ว ผู้ป่วยที่มารับการรักษาพยาบาลควรจะต้องร่วมจ่าย หรือรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพตัวเองหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่พ้นประเด็นดรามาขึ้นมา โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์และมีการสร้างวาทกรรมผ่านสื่อว่า หากมีการเก็บเงินหรือร่วมจ่ายจะทำให้คนยากจนเข้าไม่ถึงบริการ เป็นการถอยหลังเข้าคลอง

ทั้งที่จริงแล้วการร่วมจ่ายไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างที่คนกำลังเข้าใจผิด เหมือนที่ นพ.ธวัชชัย ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ประชาชนทั่วไปยังไม่รับรู้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วระบบหลักประกันฯ ซึ่งให้การรักษาฟรีกำลังทำให้ระบบสุขภาพเกิดปัญหา นั่นคือ ภาครัฐไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้ไหว ขณะที่โรงพยาบาลก็ขาดทุนจากการเดินหน้าของระบบหลักประกันสุขภาพฯ

กรณีตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนที่สุดคือ รพ.ศิริราช โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ออกมายอมรับเองว่า ระบบหลักประกันสุขภาพฯทำให้ รพ.ศิริราช ขาดทุนถึงปีละ 400 ล้านบาท แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะเงินบริจาค ที่เป็นเช่นนั้นเพราะรัฐบาลมีงบประมาณในส่วนค่ารักษาพยาบาลที่จำกัด แต่โรงพยาบาลต้องให้การรักษาอย่างเต็มที่และดีที่สุดกับผู้ป่วย ขณะที่โครงสร้างประชากรขณะนี้เปลี่ยนแปลงเหมือนกันทั่วโลก อย่างคนไทยอายุเฉลี่ยของผู้สูงอายุจากอายุ 60 ปี เพิ่มเป็น 73 ปี หมายถึงโรคแทรกซ้อนที่จะเพิ่มขึ้น การใช้ยาเพิ่มขึ้น ขณะที่งบประมาณจำกัดและถูกควบคุม ซึ่งไม่สอดคล้องกันตามหลักธรรมชาติ หลักประกันสุขภาพฯ มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ ให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม แต่ใน 48 ล้านคน ความจริงแล้วครึ่งหนึ่งเป็นคนที่มีความสามารถจ่ายเงินได้ ดังนั้น การร่วมจ่ายจึงเป็นการช่วยรัฐบาลและโรงพยาบาลให้อยู่ได้

“แนวทางการร่วมจ่ายที่ไม่สามารถทำได้ทุกวันนี้ เพราะเป็นเรื่องประชานิยม ทุกคนได้ฟรีจนมองว่า แค่ 30 บาท ก็จ่ายไม่ได้ แต่จำเป็นต้องเข้าใจว่า ถ้ายากไร้อย่างไรรัฐก็ต้องดูแล แต่เรากำลังพูดถึงคนที่มีศักยภาพสามารถจ่ายได้ ก็ต้องช่วยเหลือ โดยต้องกลับมาดูหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ เพราะมีแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อยู่แล้ว” ศ.นพ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะนี้ประเด็นร่วมจ่าย กำลังถูกผลักให้กลายเป็นการจ้องล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งที่จริงแล้วระบบนี้มันมีการร่วมจ่ายมาตั้งแต่แรก ซึ่งผู้ออกแบบระบบอย่าง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.คนแรกก็ออกแบบไว้ให้มีการร่วมจ่ายอยู่แล้ว

เมื่อดูตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 5 ระบุว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด โดยพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ประเภท และขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ช่วงเริ่มหลักประกันใหม่ๆ ก็มีการต่อรองให้ร่วมจ่ายกันอยู่ที่ 30 บาทต่อครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค โลโก้ของพรรคไทยรักไทยในยุคนั้น ส่วนการฟอกไตอยู่ที่ 500 บาท เป็นต้น จนตอนเปลี่ยนเป็นยุครัฐบาลขิงแก่เมื่อปี 2550 ซึ่งมี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข ก็ได้มีการยกเลิกการจ่าย 30 บาทไป จนเมื่อปี 2555 นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุขจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นร่างแปลงมาจากพรรคไทยรักไทยเก่า ก็พยายามนำโลโก้ 30 บาทรักษาทุกโรคกลับคืนมา ซึ่งสุดท้ายมติบอร์ด สปสช.ออกมาว่า ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2555 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขึ้นไป ให้ร่วมจ่าย 30 บาท เป็นไปในลักษณะแบบสมัครใจ โดยยกเว้นผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ฉบับที่ 1 และ 2 จำนวน 23 กลุ่ม เช่น ผู้ยากไร้ พระภิกษุ ผู้พิการ ทหารผ่านศึก เป็นต้น

ความจริงแล้วเรื่องการร่วมจ่ายเรียกได้ว่ามีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน เพราะผู้บริหารแต่ละคนก็รู้ว่าสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขเรื่องงบประมาณได้ และเชื่อว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุขก็ย่อมรู้ดีว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งเรื่องการร่วมจ่ายจะต้องมาถึง แต่ที่ออกมาเป็นข่าวครึกโครมในครั้งนี้ ต้นเหตุเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นเพียงเกมการเมืองที่ต้องการนำประเด็นดังกล่าวมาโจมตีปลัด สธ.

ข้อสังเกตก็คือการออกมาให้ข้อมูลให้ข่าวนั้น มีการดำเนินการอย่างเป็นขบวนการ และจะพบได้ถึงเส้นสายโยงใยความสัมพันธ์อันแน่นปึ้กของฝั่งแพทย์ชนบท ซึ่งเดิมทีก็ไม่เอาปลัด สธ.อยู่แล้ว กับกลุ่มภาคประชาสังคม อย่างกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ และ สปสช. ซึ่งเป็นขาใหญ่อีกฝั่งของวงการสาธารณสุขอย่างแยกไม่ออก ที่เมื่อไม่นานมานี้กำลังไม่ลงรอยอย่างแรงกับฝั่งกระทรวงฯ ด้วยสาเหตุความร้าวฉานจากประเด็นแยกบทบาทผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ โดยจะมีการยกเลิกให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็น สปสช.สาขาจังหวัด จนมีการทำสงครามผ่านสื่อกันไปแล้วรอบหนึ่ง

สำหรับประเด็นเรื่องการจ้องโจมตีปลัด สธ. ฉายแววชัดมาตั้งแต่กรณี 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ซึ่งหากสังเกตให้ดีก็จะพบว่าเป็นทีมพันธมิตรอันเหนียวแน่น ทีมเดียวกับที่ออกมาให้ข่าวเรื่องการร่วมจ่าย ประกอบด้วยชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชชนบท กลุ่มศึกษาปัญหายา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท ให้ข่าวว่าจะไปยื่น คสช.เพื่อพิจารณาปลดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) และผู้อำนวยการ อภ. ซึ่งบริหารงานจนเกิดวิกฤตด้านยา ซึ่งปลัด สธ.ต้องรับผิดชอบลาออกด้วย เพราะเป็นกรรมการบอร์ด อภ.คนหนึ่ง

เหมือนตั้งธงไว้แล้วว่าอย่างไรก็ต้องล้มปลัด สธ.ให้ได้ ซึ่งความแค้นฝังหุ่นครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากนโยบายเรื่องการปรับการจ่ายค่าตอบแทนกรณี P4P ซึ่งช่วงขับเคลื่อนแรกๆ ไปกระทบเข้ากับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของแพทย์ชนบทเข้าอย่างจัง จนนำมาซึ่งการเรียกร้อง ขึ้นป้ายโจมตี ไม่เผาผี และคลี่คลายไปสู่การตั้งโต๊ะเจรจาที่มีรัฐบาลเข้ามาเป็นตัวกลาง

ยิ่งกรณีการร่วมจ่ายยิ่งชัดเจน เพราะแม้ปลัด สธ.จะออกมายืนยันแล้วว่าตนเองไม่เคยมีการเสนอเรื่องนี้ต่อ คสช.แต่อย่างใด แต่ฝั่งตรงข้ามยังมีการให้ข่าวอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นจี้ให้ปลัด สธ.ต้องรับผิดชอบฐานะที่เป็นประธานบอร์ด สปสช.ด้วย แต่กลับปล่อยให้มีการสรุปผลประชุมออกมาเช่นนี้ และไม่มีการทักท้วงหรือคัดค้านเรื่องการร่วมจ่าย ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมเหมือนกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใดจึงไม่ถูกแพทย์ชนบทและภาคประชาสังคมตั้งแง่ในประเด็นนี้บ้าง

จึงไม่แปลกที่คนในแวดวงสาธารณสุขจะมองเรื่องนี้ว่าเป็นเกมการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายประชาคมสาธารณสุขที่มั่นใจว่างานนี้ต้องการเลื่อยขาเก้าอี้ปลัด สธ.อย่างแน่นอน

“การที่ออกมาพูดเรื่องนี้เป็นการโจมตีปลัด สธ. ชัดเจน และเป็นเกมการเมือง เพราะคนพูดรู้ดีว่าการเอาเรื่องการร่วมจ่ายออกมาพูด ประชาชนจะต้องรู้สึกเดือดร้อน แต่การออกมาพูดเป็นการพูดแบบบิดเบือน เพราะปลัด สธ. ไม่ได้เป็นผู้เสนอ ซึ่งการพูดเรื่องการร่วมจ่ายเป็นเพียงการเสนอช่วงที่การเสนอนโยบายเสร็จสิ้นแล้ว เป็นการให้ความเห็นเท่านั้น แต่กลับหยิบเอาจุดนี้มาเล่น จึงอยากฝากถามคนที่กำลังเล่นเกมการเมืองนี้รู้จักบาปหรือไม่ เพราะถือเป็นการโกหกในวันเข้าพรรษา ซึ่งถือว่าเป็นวันพระใหญ่” พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ในฐานะตัวแทนประชาคม สธ.ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว

ไม่เพียงแต่ประชาคมสาธารณสุขเท่านั้น เพราะแม้แต่ปลัด สธ.ก็ยังเอ่ยปากให้สังคมตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้

“ที่น่าสังเกตคือ มีกระบวนการที่พยายามทำให้เป็นเกมการเมืองหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีนักการเมือง แต่กลับมีการเล่นเกมการเมือง ขณะที่ สธ. กำลังเดินหน้าเรื่องการจัดบริการที่ดี การบริหารจัดการที่โปร่งใส ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้งโยกย้าย เป็นต้น”

ทางออกของเรื่องนี้ คงต้องกลับมาปฏิรูประบบสุขภาพกันใหม่ ว่าจะทำเช่นไรให้ระบบยั่งยืนอยู่ได้ ภาครัฐไม่ต้องแบกรับภาระงบประมาณมากเกินไป และประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งเรื่องการร่วมจ่ายก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องมีการหยิบยกขึ้นมาหารือด้วย โดยหลายฝ่ายอย่างกลุ่มภาคประชาสังคมเองก็ใช่ว่าจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องร่วมจ่ายเลย นายนิมิตร์ บอกว่า หากเป็นร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วย อย่างการเก็บเป็นภาษีเฉพาะก็ถือว่าทำได้และไม่ผิด หากรัฐเงินไม่พอก็อาจเพิ่มภาษี

แต่ที่แน่ๆคือ หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยหากจะต้องให้ไปร่วมจ่าย ณ โรงพยาบาล เพราะเกรงว่าจะต้องเสียเงินเป็นจำนวนมาก หากตรวจพบว่าเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง

ส่วนอีกมุมก็มองว่า ผู้ที่ทำให้ตัวเองเจ็บป่วยอย่างคนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ก็ควรมีส่วนร่วมจ่าย เพราะจะได้ตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเอง

เห็นได้ว่าจริงๆ แล้ว การตั้งวงเจรจาและหาทางออกเรื่องนี้ สามารถทำได้ขอเพียงอย่าเล่นการเมืองใส่กัน เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะประสบแต่หายนะก็คือประชาชนตาดำๆ ที่ถูกต่างฝ่ายต่างอ้างว่าโดนดึงมาเป็นตัวประกันอยู่เสมอ

ถึงเวลาจริงๆ แล้วหรือยังที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะหันหน้ามาหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิและเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ เท่าเทียม และการดำเนินงานไม่เป็นปัญหาภาระทางด้านงบประมาณอย่างที่โรงพยาบาลทุกวันนี้ต้องเผชิญอยู่!!


กำลังโหลดความคิดเห็น