“หมอธวัชชัย” ยืดอกรับเสนอความเห็นร่วมจ่ายหลังเสนนโยบายต่อ คสช. เหตุต้องการสร้างความเป็นธรรมในระบบ และแก้ปัญหางบประมาณ เผยแต่เดิมสิทธิบัตรทองต้องร่วมจ่ายอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันเป็นแบบสมัครใจ ยันไม่เคยพูดให้ร่วมจ่าย 30-50% โยน สปสช. ต้องเป็นผู้กำหนดเรื่องนี้ พร้อมระบุ 4 ข้อดีหากมีการร่วมจ่าย
วันนี้ (15 ก.ค.) นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยถึงประเด็นร้อนในสังคมขณะนี้ กรณีข่าวภาคประชาสังคมออกมาให้ข่าว นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้มีการร่วมจ่ายการรักษาพยาบาล 30 - 50% ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างการเสนอนโยบายต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ความจริงแล้วเรื่องนี้ตนเป็นผู้เสนอแนวทางในการร่วมจ่ายบัตรทองเอง ไม่ใช่ปลัด สธ.เป็นผู้เสนอ ซึ่งไม่คิดว่าการที่ตนเสนอความคิดเห็นในวันนั้นจะกลายเป็นประเด็นที่นำมาสู่ปัญหาได้ แต่ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีการเสนอให้มีการร่วมจ่าย 30 - 50% แต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการให้ผู้บริหารรับทราบปัญหาในระบบหลักประกันฯ เพื่อนำมาซึ่งการแก้ไขซึ่งการร่วมจ่าย เพราะตนก็เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมาก่อน จึงรับทราบปัญหานี้ดี เมื่อได้มาเป็นผู้บริหารจึงอยากให้มีการแก้ไขปัญหานี้
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนพยายามเสนอความคิดเห็นเรื่องการร่วมจ่าย เพื่อแก้ปัญหางบประมาณด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด แต่เมื่อมีการพูดถึงเรื่องนี้ก็มักจะข้ามผ่านเรื่องนี้ไป ทั้งที่จริงๆ แล้วเรามีการร่วมจ่ายมาตั้งแต่แรก แต่คนกลับเข้าใจผิดว่าการร่วมจ่ายไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งความจริงแล้วผู้ออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพก็มีการระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 5 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่าย ค่าบริการที่เกิดขึ้นแก่หน่วยบริการแต่ละครั้ง ช่วงเริ่มหลักประกันใหม่ๆ ก็มีการต่อรองให้ร่วมจ่ายกันอยู่ที่ 30 บาทต่อครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค ส่วนการฟอกไตอยู่ที่ 500 บาท เป็นต้น” นพ.ธวัชชัย กล่าว
นพ.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า การเสนอให้ร่วมจ่าย 30 - 50% ถือเป็นเรื่องเกินความเป็นจริง และไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริงที่มีการสรุปในที่ประชุม น่าจะเป็นเพียงตัวเลขที่อ้างอิงจากต่างประเทศมากกว่า เพราะเรื่องนี้ สปสช. ต้องเป็นผู้กำหนด ซึ่งการเก็บหรือไม่เก็บไม่ควรมองแต่เรื่องเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว ต้องคำนึงถึงผู้ให้บริการด้วย เพราะทุกวันนี้ทุกโรงพยาบาลก็ค่อนข้างตกระกำลำบาก ต้องดูแลตรงนี้ด้วย หากให้ฟรีทุกอย่างก็อาจเป็นประชานิยมได้ และระบบก็จะแบกรับไม่ไหว ซึ่งการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีข้อดีคือ 1. สร้างความเป็นธรรมในระบบ เพราะต้องยอมรับว่า 3 กองทุนสุขภาพมีความไม่เท่าเทียมกันสูง อย่างประกันสังคม และข้าราชการก็ต้องมีการร่วมจ่าย ถุงปัสสาวะ ท่อน้ำเกลือ ค่าห้องพิเศษ ก็ต้องจ่ายเองทั้งหมด แต่สิทธิบัตรทองได้รับบริการที่เป็นประโยชน์เต็มๆ โดยไม่ต้องเสียเงิน
นพ.ธวัชชัย กล่าวด้วยว่า 2. จะช่วยให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนควรร่วมจ่ายในกลุ่มโรคที่ตัวเองเป็นผู้ก่อ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า คือควรมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้ผู้อื่นมาดูแล ซึ่งทุกวันนี้มีผู้ใช้สิทธิบัตรทองมารับบริการเพิ่มมากขึ้นจาก 1 - 2 ครั้งต่อคนต่อปี กลายเป็น 4 - 5 ครั้งต่อคนต่อปี รวมแล้วกว่า 200 - 250 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งภาครัฐต้องดูแลประชาชนหนักมาก ขณะที่โรงพยาบาลก็มีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างวิกฤต 3. เป็นการสร้างความมั่นคงระบบหลักประกันฯ เพราะที่ผ่านมาพบว่างบประมาณรายหัวเพิ่มขึ้นตลอด จากเดิมหัวละประมาณ 1,200 บาทต่อคน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 3,000 กว่าบาท รัฐต้องแบกรับภาระงบประมาณทั้งค่ายาค่าบุคลากร และ 4. สร้างความเป็นระบบในสังคม คือ คนรวยคนจนไปใช้สิทธิส่วนของการรักษาฟรีเช่นกัน แต่คนที่มีฐานะก็ควรร่วมจ่ายบ้าง ซึ่งปัจจุบันมีการออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการร่วมจ่ายให้เป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งนอกเหนือไปจาก 21 กลุ่มที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. หลักประกันฯ ว่าไม่ต้องร่วมจ่าย ทั้งนี้ การเสนอแนวทางดังกล่าว เป็นการเสนอเพื่อแก้ปัญหาโดยรวมของประเทศ ไม่กลัวที่จะพูดประเด็นดังกล่าว เพราะไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง และเชื่อว่าเป็นการพูดในเรื่องที่ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรา 5 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริกาสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด โดยพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ประเภท และขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ยืนยันว่าขณะนี้ประชาชนสามารถใช้บริการได้ตามปกติ ตามกติกาเดิมคือ จ่ายตามแต่ความสมัครใจ แต่ในหลักการร่วมจ่ายนั้น ต้องดูว่าร่วมจ่ายแล้วผลักภาระให้ประชาชน จนทำให้เจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพบิดเบือนหรือล้มเหลวหรือไม่ คือการเข้าถึงบริการโดยไม่มีปัญหาการเงินเป็นอุปสรรค และไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย ถ้ามีการออกแบบระบบบริการที่ทำให้ประชาชนต้องรับภาระ และต้องคิดหนักทุกครั้งว่าไปรักษาพยาบาลต้องจ่ายเงินเท่าไร ถ้าเป็นอย่างนี้ นี่ไม่ใช่หลักประกันสุขภาพ
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่