xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางเพิ่มสิทธิประโยชน์บัตรทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จะเป็นกองทุนรักษาพยาบาลที่ตั้งขึ้นภายหลังสุด ใน 3 กองทุนรักษาพยาบาลหลักของประเทศไทย แต่เมื่อเทียบเรื่องสิทธิประโยชน์ความครอบคลุมในการรักษาพยาบาลนั้น อาจกล่าวได้ว่านำหน้าอย่างกองทุนประกันสังคมที่ต้อง “ร่วมจ่าย” เสียอีก ซึ่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละอย่างของสิทธิบัตรทอง บริหารโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น มีที่มาที่ไปชัดเจน เรียกได้ว่าโปร่งใส และเป็นขั้นเป็นตอน จึงทำให้สิทธิประโยชน์มีการพัฒนาครอบคลุมและรอบด้านขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

“เพราะการเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละอย่างของ สปสช. มีการทำการวิจัยความคุ้มค่า ความคุ้มทุน โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จึงมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า หากจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดก็ตามมีความคุ้มค่า เหมาะที่จะลงทุน และไม่เป็นภาระแก่งบประมาณของประเทศหรือไม่” นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการ HITAP กล่าว
ประเด็นสำคัญคือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในขณะนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้วย จากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดยในปี 2552 คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ ภายใต้บอร์ด สปสช. ได้มอบหมายให้ IHPP และ HITAP ดำเนินการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบ อาศัยทั้งหลักวิชาการร่วมกับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบสุขภาพ มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ชุดสิทธิประโยชน์ฯ ด้านการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม และเป็นธรรมแก่ประชาชนไทย 48 ล้านคน ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ยศ กล่าวว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์เริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นผู้มาส่วนได้ส่วนเสีย 7 กลุ่ม คือ 1. ผู้แทนผู้กำหนดนโยบาย เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สปสช. กรมบัญชีกลาง เป็นต้น 2. ผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ซึ่งมีความใกล้ชิดผู้ป่วย จะทราบดีว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือยาใหม่ที่ควรนำมาเพิ่มในการรักษา 3. นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นต้น 4. ผู้แทนภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอ 5. ผู้แทนกลุ่มผู้ป่วย 6. ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม และ 7. ผู้แทนประชาชนทั่วไป ซึ่งแต่ละกลุ่มจะสามารถเสนอประเด็นที่อยากให้เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ได้กลุ่มละ 3 เรื่อง เสนอได้ปีละ 2 ครั้ง เท่ากับแต่ละกลุ่มจะเสนอได้ 6 เรื่องต่อปี แต่การพิจารณาเลือกหัวข้อมาทำการวิจัยว่าจะเพิ่มสิทธิประโยชน์หรือไม่จะทำปีละ 10 เรื่อง โดยอาศัยเกณฑ์พิจารณาคือ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
1. จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ 2. ความรุนแรงของโรคหรือปัญหาสุขภาพ 3. ประสิทธิผลของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ 4. ความแตกต่างในทางปฏิบัติ 5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจของครัวเรือน และ 6. ความเป็นธรรมและประเด็นทางสังคมและจริยธรรม
“ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยแต่ละเรื่องจะใช้เวลาต่างกัน ซึ่งเมื่อได้ผลวิจัยเสร็จสิ้นแล้วก็จะเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็นก่อน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม จากนั้นจึงนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ของ สปสช. พิจารณา และหากเห็นชอบก็จะเสนอต่อบอร์ด สปสช. พิจารณาเข้าสู่สิทธิประโยชน์ในที่สุด ซึ่งการพิจารณาว่าจะลงทุนเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์หรือไม่จะพิจารราจากหลายปัจจัย ทั้งความคุ้มค่า ผลกระทบต่องบประมาณ หรือกระทบต่อสิทธิประโยชน์เดิมที่มีอยู่หรือไม่”
ซึ่ง นพ.ยศ บอกว่า ส่วนใหญ่แล้ว 1 ใน 3 ของเรื่องที่ทำวิจัยจะได้บรรจุเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ แต่ก็มีบ้างที่แม้จะมีความคุ้มค่าหากดำเนินการ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้บรรจุลงไปในชุดสิทธิประโยชน์ เช่น กรณีผ้าอ้อมผู้ใหญ่
นพ.ภูษิต ประคองสาย ผอ.IHPP เล่าว่า ข้อเสนอเรื่องผ้าอ้อมผู้ใหญ่เกิดจากปัญหาผู้พิการนอนติดเตียงมีปัญหาขับถ่าย ถ้าเราให้เขาใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ ก็มีการทำวิจัยประเมินผลออกมาพบว่ามีความคุ้มค่า ช่วยลดการเป็นแผลกดทับ ลดการติดเชื้อ แต่ปัญหาคือรัฐบาลจ่ายไม่ไหว เพราะต้องใช้งบประมาณเป็นหลักหมื่นล้านบาท ถ้าให้ทุกคนก็คงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงไม่ถูกบรรจุลงไปในชุดสิทธิประโยชน์ คือคำนวณแล้วภาระงบประมาณเราให้ไม่ได้นั่นเอง
“ดังนั้น การจะเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ใดก็ตาม การวิจัยเป็นส่วนสำคัญ เพราะจะทำให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจนว่า หากจะดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์แล้วมีความคุ้มค่าหรือไม่ ต้องใช้งบประมาณเท่าไร จะช่วยให้การตัดสินใจไม่ผิดพลาด หากไม่มีข้อมูลจากการวิจัย อาจจะเดินหน้าผิดพลาดเหมือนนโยบายบางอย่าง และเกิดผลกระทบระยะยาวก็ได้”
สำหรับขั้นตอนการวิจัยหรือเก็บข้อมูลนั้น หากเป็นเทคโนโลยีที่มีใช้ในประเทศไทยแล้ว เช่น รพ.เอกชน ร.ร.แพทย์ ก็จะใช้ข้อมูลในไทยศึกษา แต่ถ้าไม่มีในไทยแต่ต่างประเทศมีก็จะไปดูข้อมูลจากต่างประเทศ เพื่อที่จะนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ หรือบางเรื่องเราก็เก็บข้อมูลเอง เช่น การให้ยาต้านไวรัสเอดส์ในทุกระดับภูมิต้านทาน CD4 เราก็จะนำข้อมูลมาศึกษาดูว่า หากให้ยาต้านไวรัสทุกระดับการรักษาแล้วคนหนึ่งจะใช้งบประมาณค่ายาเท่าไรต่อปี โอกาสลดการเป็นผู้ป่วยเอดส์เป็นเท่าไร โอกาสการไปแพร่เชื้อลดลงคิดเป็นเท่าไร ขณะที่หากปล่อยให้ผู้ติดเชื้อค่า CD4 ต่ำลงมาก จนเกิดโรคฉวยโอกาส ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต้องใช้งบประมาณเท่าไรต่อคน ก็จะนำตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์เหล่านี้มาพิจารณา ซึ่งความคุ้มทุนนั้น นพ.ยศ บอกว่า จะอิงค่า GDP เป็นหลัก ซึ่งค่า GDP ต่อหัวของคนไทยตกอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนบาทต่อคนต่อปี หากใช้เงินคนละมากกว่า 1.6 แสนบาทต่อปี อาจจะไม่ค่อยคุ้มทางเศรษฐศาสตร์

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น