xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิเรื่องสุขภาพ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิมิตร์  เทียนอุดม
สวัสดีครับ ได้อย่างไม่เสียอย่างสัปดาห์นี้ขอว่าด้วยข่าวคราวของคนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองเพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของหลักประกันนี้ด้วยกันครับ ผมไม่แน่ในว่าพวกเราทราบหรือไม่ว่า ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดไว้ ในมาตรา 18(13) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการทุกๆ ปี ปีละครั้ง เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการจัดทำงบประมาณ การพัฒนาคุณภาพ การให้บริการ การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ และการดูแลรักษา ที่ประชาชนพึงได้รับจากระบบหลักประกันสุขภาพ
ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย มี 4 ระบบหลักๆ คือ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ระบบประกันสังคม ระบบบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ให้สิทธิคนงานใน 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยสามารถซื้อบัตรได้ และสุดท้ายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นระบบที่ดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นระบบเดียว ที่กำหนดให้ประชาชนที่ใช้บริการ มีสิทธิที่จะเสนอแนะ มีสิทธิที่จะบอกความต้องการว่าอยากให้ระบบครอบคลุมการรักษาเรื่องอะไร แบบไหน อย่างไร
นอกจากนี้ เวทีดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่ที่พวกเราจะเข้าไปส่งเสียงสะท้อนการใช้บริการที่ผ่านมาว่า ดีหรือไม่ดีอย่างไร และต้องการให้ปรับแก้เพิ่มเติมในเรื่องอะไรอีก ซึ่งตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาที่ระบบหลักประกันสุขภาพที่มีผลบังคับใช้ เสียงของประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ตลอดหลายอย่าง เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยไต และผู้ป่วยมะเร็ง การเพิ่มจำนวนครั้งในการย้าย/เปลี่ยนหน่วยบริการได้ 4 ครั้ง/ปี (จากเดิมปีละ 2 ครั้ง) การปรับและพัฒนางานส่งเสริมป้องกันโรคในกองทุนสุขภาพตำบล และอื่นๆ อีกหลากประการ
ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม ถึง 14 พฤษภาคม เป็นช่วงเวลาที่เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการทั้งหมด 13 เวที เพื่อ ให้ประชาชนได้เข้ามาส่งเสียง มีส่วนในการกำหนดทิศทางการให้บริการการและการพัฒนาคุณภาพการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพประจำปี 2557 ผมคิดว่า ต้องบอกกล่าวพวกเราทุกคนว่า ใครสะดวกวันไหน ใกล้ที่ไหน ต้องไปร่วมเวทีดังกล่าวให้ได้ครับ ยิ่งใครมีประสบการณ์การไปใช้บริการและต้องการให้มีการปรับแก้ตรงไหนควรต้องไป หรือหากพบว่าสิทธิประโยชน์ที่มียังไม่ครอบคลุมกับภาวะการเจ็บป่วยที่เป็น อยู่ ต้องการให้เพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรอย่างไร ต้องไปส่งเสียงครับ ข้อดีของการไปส่งเสียง คือ เรื่องนั้นๆ ที่ มีประชาชนเสนอในแต่ละเวที ต้องถูกสรุป และนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯต้องพิจารณาว่าจะนำข้อเสนอจากเวทีดังกล่าวมากำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพและบริการอย่างไร และถ้าเป็นเรื่องที่มีผู้สะท้อนจำนวนมาก ยิ่งต้องได้รับการกำหนดเป็นแผนงานที่ชัดว่า จะดำเนินการแก้ไข หรือเพิ่มเติมอย่างไร
ทั้งนี้ พวกเราไม่ต้องกลัวว่าข้อเสนอจากเวทีดังกล่าวจะเป็นเพียง “ข้อเสนอ” และถูก “ปล่อยผ่าน” ในที่ประชุมครับเพราะหลังจากนั้น คณะกรรมการแต่ละคนที่มาจากสัดส่วนต่างๆ ก็จะต้องร่วมกันพิจารณาผลักดันให้เกิดผลต่อไป ซึ่งกระบวนการแบบนี้ยังมีผลในอีกมุมหนึ่ง คือ เป็นกระบวนการที่มาคอยกำกับและตรวจสอบตัวแทนคณะกรรมการของแต่ละสัดส่วนว่าให้ความสำคัญกับเสียงประชาชนผู้ใช้บริการหรือเสียงของผู้ให้บริการกันบ้างหรือไม่ หากกรรมการคนไหน จากสัดส่วนใดไม่ให้ความสำคัญเสียงของประชาชน ก็จะได้สะท้อนกันในวงประชุมของคณะกรรมการต่อไปครับ
ผมจึงขออุทิศ หน้ากระดาษในเดือนนี้ เพื่อแจ้งให้ทุกท่านได้ตัดแปะเก็บไว้เลยว่า ใครจะไปเวทีรับฟังความเห็นในระบบหลักประกันสุขภาพเวทีไหนกันได้บ้าง ตามนี้เลยครับ อย่าลืมไปกันให้ได้นะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น