xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ ปชช.-ผู้ให้บริการพอใจระบบหลักประกันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอแบคโพลล์เผย ประชาชน-ผู้ให้บริการ พร้อมใจชูธงระบบบัตรทอง บอกคุณภาพการรักษาพยาบาล คุณภาพยา และผลการรักษาดี ขณะที่ผู้ให้บริการตระหนักถึงประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีต่อประชาชน แต่ยังกังวลเรื่องความคาดหวัง กำลังคน และงบประมาณ

วันนี้ (7 พ.ย.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานประชุมบอร์ด สปสช.ซึ่งมีการนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้ให้บริการต่อการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2556

ทั้งนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (เอแบคโพลล์) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน และผู้ให้บริการต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (พ.ศ. 2556) โดยสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วน จำนวน 2,730 ตัวอย่าง และกลุ่มผู้ให้บริการ ได้แก่ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และ ผอ.รพ.ทุกระดับ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข/ตัวแทน จำนวนทั้งสิ้น 1,349 ตัวอย่าง โดยผลกลุ่มประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่พึงพอใจต่อการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้คะแนนความพึงพอใจ (จาก 1-10 คะแนน) เฉลี่ยเท่ากับ 8.43 คะแนน ซึ่งคนที่ “เคยใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีความพึงพอใจสูงมากกว่าคนทั่วไป” โดยพบว่าผู้ที่เคยใช้สิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษาพยาบาลในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีค่าคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 8.62 และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.6 รับทราบว่าคนไทยทุกคนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจากสิทธิ์อื่น จะเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

สำหรับสถานพยาบาลที่ตั้งใจจะไปเมื่อเจ็บป่วย คือ สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิสูงที่สุดคือ ร้อยละ 71 โดยให้เหตุผลว่าเพราะเดินทางสะดวกใกล้บ้าน/ที่ทำงาน อย่างไรก็ตามโดยผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนให้ความพึงพอใจในคุณภาพการรักษาพยาบาล 8.67 รองลงมาคือ คุณภาพด้านยา 8.53 และผลของการรักษา 8.52

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ข้อสังเกตจากการศึกษากลุ่มประชาชนพบว่า ปี 2556 ประชาชนมีความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงกว่าปีที่ผ่านมา นับจากที่เคยมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา พบว่า ปี 2550 เป็นปีที่มีความพึงพอใจต่ำสุด คือ 7.73 คะแนน หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2551-2554 เวลา 4 ปีติดต่อกัน คะแนนความพึงพอใจเพิ่มขึ้นตลอด มาเป็น 8.52 คะแนน ในปี 2554 จากนั้นในปี 255 ลดลงมาอยู่ที่ 8.29 คะแนน และในปี 2556 เพิ่มเป็น 8.43

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มผู้ให้บริการพบว่า พึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 7.01 คะแนน ซึ่งผู้ให้บริการเล็งเห็นประโยชน์ความพอใจในผลที่เกิดกับประชาชนมากกว่าผลที่เกิดกับตนเอง ขณะที่ ผลสำรวจการให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงาน ให้ความสำคัญกับความคาดหวังของผู้ป่วยมากที่สุด 8.49 คะแนน รองลงมาคือ ความเพียงพอของงบประมาณดำเนินการ และการตรวจสอบสิทธิตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าให้ความสำคัญกับประชาชนสูง และมีความเห็นว่าจุดเน้นที่ควรปรับปรุงเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ คือ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อลดช่องว่างระหว่างความคาดหวังกับความสามารถในการตอบสนองความต้องการ โดยเฉพาะความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม การจัดระบบกำลังคนให้สอดคล้องกับปริมาณงาน และจัดระบบงบประมาณให้เพียงพอ ทั่วถึง และรวดเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น