xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จัดระบบรองรับกองทุนค่ารักษา อปท.เผยยอดผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนกว่า 6 แสนราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.จัดระบบไอทีเบิกจ่ายกองทุนรักษาพยาบาล อปท.แล้ว มียอดใช้สิทธิ์กว่า 6.6 แสนราย ด้านประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาล ห่วงยังไม่บังคับใช้ เกรงต้องสำรองจ่ายก่อน วอนขอมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล
นพ.วินัย สวัสดิวร
วันนี้ (30 ก.ย.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม). มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกากองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการท้องถิ่น หากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น และส่งกลับมายัง ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ก็จะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในส่วนของ สปสช.มีความพร้อมในทุกด้านแล้ว ทั้งการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนของผู้ที่ได้รับสิทธิ์ และผู้ใช้สิทธิ์ร่วมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยพัฒนาโปรแกรมขึ้น เพื่อให้ อปท.แต่ละแห่งคีย์ข้อมูลได้เอง ปัจจุบันมียอดของผู้ใช้สิทธิ์มากกว่า 660,000 ราย จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,693 แห่ง เหลือ อปท.ประมาณ 98 แห่งที่ยังให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน สามารถลงทะเบียนได้ที่นายทะเบียนประจำ อปท.ที่สังกัดอยู่ ใช้ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส และใบรับรองบุตร โดยสิทธิจะเกิดภายใน 1 วันหลังการบันทึกข้อมูล

ในการใช้บริการนั้น สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว ไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้มีเลข 13 หลัก กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สูติบัตร สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หากไปใช้บริการต้องสำรองจ่ายแล้วนำใบเสร็จไปเบิกจ่ายกับต้นสังกัด แล้วจะได้รับเงินคืนหลังจากตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว ดังนั้นจึงขอให้ผู้มีสิทธิ์ทุกท่านไปลงทะเบียนโดยเร็วที่สุดจะสามารถใช้บริการได้สะดวกกว่า” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า สปสช.ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลทั่วประเทศว่าเมื่อข้าราชการท้องถิ่นไปใช้บริการที่โรงพยาบาล การให้บริการ การตรวจสอบสิทธิ์ การเก็บเงินจาก สปสช.จะเป็นอย่างไร ในส่วนของการเก็บเงินจาก สปสช.นั้น ทาง สปสช.ได้พัฒนาการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการเตรียมเรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้มีสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ข้าราชการท้องถิ่น หากมีปัญหาหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถโทร.สอบถามได้ที่ สายด่วน สปสช.1330

นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กองทุนนี้เป็นเรื่องที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นเรียกร้องมานาน ซึ่งต้องการให้สิทธิการรักษาพยาบาลเทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือน และใช้หลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยจัดตั้งเป็นกองทุนให้มีการบริหารจัดการร่วม ไม่ใช่ให้แต่ละท้องถิ่นไปจัดการและแบกรับความเสี่ยงเองอย่างที่ผ่านมา ซึ่งต้องขอบคุณทางรัฐบาลที่เห็นปัญหาและดำเนินการแก้ไขให้ และในส่วนของการเตรียมความพร้อมนั้น ทาง อปท.ทุกแห่งได้จัดการลงทะเบียนให้ผู้มีสิทธิทุกคนเรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้ยังมีความไม่ชัดเจนบางประการ แม้ ครม.จะอนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา แต่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯและประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งข้าราชการส่วนท้องถิ่นยังกังวลว่าในวันที่ 1 ต.ค.นี้ หากจะต้องไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลจะทำอย่างไร เบิกจ่ายตรงได้เลยหรือไม่ หรือต้องสำรองจ่ายไปก่อน ต้องขอความชัดเจนเพิ่มเติม แต่หากระบุว่าย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. อปท.ก็มีความสบายใจ และไม่ต้องมีการสำรองจ่ายไปก่อน สามารถเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิและสวัสดิการตรงนี้ตามที่ได้” ประธานสมาพันธ์ กล่าว

นายศักดิพงศ์ กล่าวต่อว่า การดูแลในเรื่องสุขภาพให้มีมาตรฐานเทียบเท่าข้าราชการพลเรือน จุดนี้กองทุนค่ารักษา อปท.ตอบโจทย์ให้แล้ว แต่ที่อปท.ต้องการคือ ต้องเปิดโอกาสให้ อปท.เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแล และในอนาคตอยากให้กองทุนนี้ดูแลบุคลากรที่ทำงานในส่วนท้องถิ่นด้วย เช่น บุคลากรฝ่ายการเมือง สมาชิก อปท.รองนายก อปท.และลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุไปแล้ว โดยเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่รวมผู้มีสิทธิ์ร่วมอื่นๆ คือ บุตร ภรรยา พ่อและแม่ มารวมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น