xs
xsm
sm
md
lg

เตือนนายจ้างแจ้ง สปส.หากพบลูกจ้างประสบเหตุขณะทำงาน หลังปี 55 ลูกจ้างเจ็บกว่า 1.2 แสนราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปส. เผย ปี 2555 ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในการทำงานกว่า 1.2 แสนราย เตือนนายจ้าง หากลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ให้รีบส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (22 ส.ค.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า จากสถิติข้อมูลลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานปี 2555 ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 129,891 ราย พบจังหวัดที่มีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงานสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 38,632 ราย รองลงมา คือ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 21,880 ราย และจังหวัดชลบุรี จำนวน 11,006 ราย สถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 1,000 คน มีสถิติประสบอุบัติเหตุสูงสุด คือ 25,502 ราย รองลงมาเป็นสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 201-500 คน จำนวน 20,194 ราย และสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 21-50 คน จำนวน 18,019 ราย ตามลำดับ ในประเภทกิจการที่ประสบอันตรายสูงสุดคือ ประเภทกิจการก่อสร้าง (คือ 8,773 ราย) รองลงมา คือ การค้าเครื่องไฟฟ้ายานพาหนะฯ (จำนวน 7,477 ราย) และการผลิตเครื่องดื่ม อาหาร ฯลฯ (จำนวน 7,294 ราย) ส่วนกรณีที่ลูกจ้างประสบเหตุจนสูญเสียอวัยวะสูงสุดคือ นิ้วมือ จำนวน 28,640 ราย รองลงมาคือ ตา จำนวน 22,959 ราย และบาดเจ็บหลายส่วน จำนวน 9,862 ราย

นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สปส.ขอเตือนนายจ้าง หากลูกจ้างประสบอันตรายจาการทำงานนายจ้างมีหน้าที่ต้องแจ้งการประสบอุบัติเหตุ ตามแบบแจ้งการประสบอันตรายเป็นอันดับแรกหากเจ็บป่วย หรือสูญหาย พร้อมคำร้องขอรับเงินทดแทน (กท.16) และสำเนาแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ภายใน 15 วัน และส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในสถานพยาบาลในความตกลง ของกองทุนเงินทดแทน โดยที่นายจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้า

การส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล นายจ้างควรพิจารณาถึงมาตรฐานการรักษาและการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมตามความจำเป็นของสถานพยาบาลนั้นๆ เพราะหากการประสบอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินความจำเป็นแต่สถานพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาเกินเพดานที่กฎหมายกำหนดจะทำให้มีค่ารักษาส่วนเกิน ซึ่งต้องตกเป็นภาระของลูกจ้างและนายจ้างที่ต้องรับผิดชอบค่ารักษานั้นโดยเฉพาะที่นายจ้างจะต้องถูกเรียกเก็บอัตราค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนตามปกติ” นายจีรศักดิ์ กล่าว

สำหรับวงเงินค่ารักษาพยาบาลสามารถเบิกได้ตามกฎกระทรวงกำหนด อัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 โดยเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 45,000 บาท หากมีความรุนแรงตามที่กำหนดกฎกระทรวงฯ สามารถเบิกเพิ่มได้อีก 65,000 บาท และสูงสุดในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศที่สะดวก หรือ โทร.1506


กำลังโหลดความคิดเห็น