xs
xsm
sm
md
lg

สปส.เดินหน้ากำหนดอัตราใหม่เงินสมทบคาดใช้ได้ปี 2558

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปส.เร่งกำหนดอัตราเงินสมทบใหม่เข้ากองทุนเงินทดแทน เน้นสอดคล้องกับประเภทกิจการที่มีความเสี่ยงของการเกิดอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงานสูง ตั้งเป้าบังคับใช้ในปี 2558 หลังปรับปรุงรหัสกิจการใหม่ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้(26 พ.ย.) รศ.ดร.วิจิตร์ศรี สงวนวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปส.ได้ปรับปรุงรหัสประเภทของกิจการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยกรณีลูกจ้างบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานมาเป็นรหัสกิจการตามประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (TSIC) โดยจากเดิมได้จัดรหัสประเภทกิจการไว้ 16 หมวด 131 รหัส จัดรหัสใหม่เป็น 21 หมวดใหญ่ 1,091 รหัส ทำให้สามารถจำแนกกลุ่มประเภทกิจการได้ละเอียด ชัดเจน สามารถนำไปใช้ในการกำหนดอัตราเงินสมทบที่เรียกเก็บจากนายจ้างเข้ากองทุนเงินทดแทนได้อย่างสอดคล้องกับความเสี่ยงที่แท้จริงของแต่ละกิจการ และได้ข้อมูลสถิติกองทุนเงินทดแทนที่เป็นมาตรฐานสากลนำไปเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ได้เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลความปลอดภัยและพัฒนาแรงงานไทย

“ยกตัวอย่างกิจการเลี้ยงสัตว์จากเดิมกำหนดรหัสไว้แบบกว้างๆ ไม่ได้ลงลึกถึงประเภทของสัตว์ที่เลี้ยง เมื่อจำแนกรหัสใหม่ก็จำแนกประเภทสัตว์ที่เลี้ยงไว้ละเอียดขึ้น เช่น เลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งการเลี้ยงไก่ไข่มีความเสี่ยงกว่าการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เพราะเคยมีปัญหาโรคไข้หวัดนกระบาด จึงต้องเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างกิจการประเภทนี้เข้ากองทุนเงินทดแทนมากกว่ากิจการเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่นที่เสี่ยงน้อยกว่า” รศ.ดร.วิจิตร์ศรี กล่าว

รศ.ดร.วิจิตร์ศรี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน 342,084 ราย และลูกจ้าง 8,575,398 คน ซึ่งกำหนดอัตราเงินสมทบตามความเสี่ยงของประเภทกิจการในอัตราร้อยละ 0.2-1.0 และปรับลด-เพิ่มอัตราเงินสมทบโดยขึ้นอยู่กับสถิติการประสบอันตรายและการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างที่บาดเจ็บจากการทำงาน หลังจากนี้คณะอนุกรรมการจะเร่งกำหนดอัตราเงินสมทบที่เรียกเก็บจากนายจ้างเข้ากองทุนเงินทดแทนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องความเสี่ยงที่แท้จริงของแต่ละกิจการ และจะนำสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างมาพิจารณาโดยย้อนหลังไปเพียงปีเดียวเท่านั้น จะไม่ย้อนหลังไปหลายปีเช่นที่ผ่านมา ทำให้มีความเป็นธรรมต่อนายจ้างและเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างที่มีความเสี่ยงในการทำงานสูง เช่น หากคิดตามอัตราเงินสมทบตามความเสี่ยงของประเภทกิจการในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่อัตราร้อยละ 0.2-1.0 สถานประกอบการที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนอยู่ที่ปีละ 2 หมื่นบาท เมื่อกำหนดอัตราเงินสมทบใหม่อาจจะจ่ายเงินสมทบเพียงปีละ 1.3 หมื่นบาท

ขณะนี้คณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างการหาอัตราเงินสมทบใหม่ที่เหมาะสม ตั้งเป้าหมายจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 หลังจากจะนำไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2558” รศ.ดร.วิจิตร์ศรี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น