ปลัด รง.เผย นายกฯ หวั่นปัญหาขาดแคลนแรงงาน และแรงงานต่าวด้าวผิด กม.กระทบนโยบายแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ไม่ห่วงต่างด้าวทะลักเข้าไทย เล็ง หารือ กบร.และชง ครม.ไฟเขียวเปิดจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่ แต่จะเคลียร์ชุดเก่าที่ค้างเรื่องเอกสารให้เรียบร้อย พร้อมหารือทั้งฝ่ายมั่นคงวางมาตรการป้องกันแนวชายแดนรัดกุม มั่นใจและไม่ห่วงปัญหาแรงงานทะลักเข้าไทยแน่นอน
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในไทย ที่อาจกระทบต่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย จึงได้เสนอแนวคิดให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ทั้งนี้หากเปิดจดทะเบียนรอบใหม่จริง จะต้องมีการหารือกับฝ่ายความมั่นคงในการวางมาตรการป้องกันตามแนวชายแดนให้รัดกุม เพื่อป้องกันแรงงานทะลักเข้าประเทศ อีกทั้งยังมีแรงงานต่างด้าวกลุ่มเดิมที่ได้รับการผ่อนผันยังเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนไม่แล้วเสร็จ หากเปิดจดทะเบียนอีกครั้งคงต้องรอให้แรงงานที่ยังออกเอกสารไม่แล้วเสร็จดำเนินการให้เสร็จก่อน
“เรื่องแรงงานต่างด้าวจะทะลักเข้ามามากขึ้นนั้นผมไม่ห่วง เนื่องจากเรื่องแรงงานก็เป็นเรื่องขาดแคลนแรงงาน หากนายจ้างไม่มีความต้องการแรงงานต่างด้าวก็จะไม่หลบหนีเข้าไทย เนื่องจากค่าครองชีพที่ไทยสูงกว่าประเทศต้นทาง ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติและเข้าสู่ระบบประกันสังคมนั้นองค์กรเอกชนมองว่ายังล่าช้าอยู่ เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ประกันสังคม 350,000 คน จากทั้งหมด 1.3 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานต่างด้าวในอาชีพที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ ทั้งอาชีพแม่บ้าน ประมงและเกษตร โดยจะต้องให้ กรมการจัดหางาน (กกจ.) จำแนกว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวที่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้และไม่ได้ มีจำนวนเท่าใด” นายจีรศักดิ์ กล่าว
นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การที่สมัครเข้าประกันสังคมล่าช้าเพราะต้องรอใบอนุญาตการทำงานจากกกจ.แล้วนำไปยื่นต่อทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จึงสามารถสมัครเข้าสู่สำนักงานประกันสังคมนั้น ล่าสุดได้หารือกับผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน และได้ข้อสรุปว่าสามารถนำใบเสร็จที่ กกจ.ออกให้ไปดำเนินการได้ทันที เพราะในใบเสร็จจะระบุเลขใบอนุญาตการทำงานไว้ด้วย