xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เฮ! ประกันสังคม-กรมบัญชีกลางยันจ่ายคืนป่วยฉุกเฉินแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” ฟุ้ง 1 ปีนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินช่วยชีวิตคนได้กว่า 7 พันคน ปลอบ สปสช.ไม่ต้องกลัวจ่ายเงินแทนเก้อ สปส.-กรมบัญชีกลางยันจ่ายคืนแน่ แต่ต้องรอก่อน กำลังเร่งดำเนินการ

วันนี้ (28 พ.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายบูรณาการ 3 กองทุน เรื่อง “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” ว่า จากการดำเนินการนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1 ปี มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวน 22,836 ราย ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิตได้รับการช่วยเหลือ 8,023 ราย เสียชีวิต 8% เท่ากับสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดได้ถึง 7 พันกว่าราย ถูกเรียกเก็บเงิน 800 คน ซึ่ง สธ.จะพยายามปรับปรุงลดจำนวนนี้ให้ต่ำลงเรื่อยๆ ส่วนการเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปให้ก่อนนั้น ได้รับการยืนยันจากทั้ง 2 หน่วยงานว่าสามารถจ่ายให้ได้แน่นอน ไม่ใช่จ่ายไม่ได้ แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการจะเร่งให้เร็วที่สุด

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ประชาชนถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้ามาจาก 3 เรื่องหลัก คือ 1.ประชาชนและโรงพยาบาลเข้าใจนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตไม่ตรงกัน จึงควรจัดทำกลุ่มอาการให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และครอบคลุมการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่จะเป็นอันตรายสืบต่อไปด้วย เช่น ภาวะอุดตันหลอดเลือดในสมองที่อาจไม่ถึงแก่ชีวิตในขณะนั้น แต่เกิดอัมพาตตลอดชีวิต เป็นต้น เพื่อไม่ให้แพทย์ปฏิเสธการรักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินลักษณะนี้ ที่สำคัญเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินต้องให้การรักษาก่อน หากสงสัยว่าเข้านิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ให้โทรศัพท์สอบถามมายัง สปสช.ก่อนเพื่อขอรับคำอนุมัติล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลมั่นใจว่าจะได้รับการเบิกจ่ายแน่นอน แต่หากไม่เข้านิยามก็เป็นหน้าที่ สปสช.อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจต่อไป

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อไปว่า 2.เมื่อผู้ป่วยพ้นวิกฤตจะต้องมีการส่งต่อ แต่กลับไม่ส่งต่อ ทำให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นศูนย์กลางในการจัดการสำรองเตียงการส่งต่อผู้ป่วยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดประสานสำนักงานปลัด สธ.แล้ว ทั้งนี้ ปัญหาการส่งต่อไม่ได้เพราะไม่มีเตียง ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 70% และ 3.ภาคเอกชนมีข้อกังวลในเรื่องของอัตราการเบิกจ่าย ซึ่ง สปสช.กำหนดไว้ที่ 10,500 บาท บวกค่าอื่นๆ แต่ภาคเอกชนเห็นว่าไม่ใช่ตัวเลขที่ชัดเจน ไม่มีที่มาที่ไป จึงได้มอบหมายให้ สปสช.ไปจัดทำรายละเอียดที่มาที่ไป เพื่อชี้แจงอัตราการเบิกจ่ายดังกล่าวให้ชัดเจน เชื่อว่าหากสามารถอธิบายได้ภาคเอกชนจะไม่ติดใจกับอัตราค่าบริการ


กำลังโหลดความคิดเห็น