xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ สปสช.ทำฐานข้อมูลเบิกจ่ายยาค่ารักษาสิทธิ ขรก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมบัญชีกลาง มอบ สปสช.ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาสิทธิข้าราชการ แทน สกส. เชื่อรวดเร็วกว่า เริ่ม 1 ต.ค.นี้ ย้ำไม่ยุ่งสิทธิประโยชน์ “หมอวินัย” ชี้มีสิทธิเรียกเงินคืนจากโรงพยาบาลหากตรวจพบเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริง

วันนี้ (26 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมวายุักษ์ กระทรวงการคลัง นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวภายหลังลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขผู้มีสิทธิข้าราชการ กับ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของประเทศให้ไปในแนวทางเดียวกัน ว่า ตามนโยบายของรัฐบาลให้มีการบูรณาการระบบการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ทั้งกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้เหมาะสม และสอดคล้องกันทั้ง 3 กองทุน กรมบัญชีกลาง จึงจัดทำบันทึกความร่วมมือดังกล่าวขึ้น โดยมอบให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นเคลียริงเฮาส์ (clearing house) หรือเป็นศูนย์รับข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลตามสิทธิของข้าราชการกว่า 5 ล้านคน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดยข้าราชการยังคงได้รับสิทธิการรักษาเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม สำหรับปีงบประมาณ 2556 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 - 21 กุมภาพันธ์ 2556 กรมบัญชีกลางได้เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปแล้ว 22,157.50 ล้านบาท จากงบประมาณ 60,000 ล้านบาท

“เดิมทีกรมบัญชีกลางจ้างสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) ปีละประมาณ 19 ล้านบาท ให้ทำหน้าที่ตรวจข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เมื่อข้อมูลถูกต้องก็จะส่งกลับไปยังโรงพยาบาลต้นทาง แล้วจึงส่งเบิกมายังกรมบัญชีกลางอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีความล่าช้า จึงเปลี่ยนให้ สปสช.มาทำหน้าที่ดังกล่าวแทน เพราะในอนาคต สปสช.จะได้เป็นหน่วยงานเดียวในการบริหารค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค อปท. ข้าราชการ รวมไปถึงประกันสังคมในอนาคตด้วย” นายมนัส กล่าวและว่า ขอยืนยันว่าการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของสิทธิข้าราชการยังเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง และยังคงได้สิทธิการรักษาเช่นเดิม การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์อย่างแน่นอน ส่วนการให้ สปสช.ดำเนินการแทน สกส.นั้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากน้อยเพียงไรคงต้องรอการประเมินภายหลังดำเนินการประมาณ 3 ปี

ด้าน นพ.วินัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานพยาบาลจะเป็นผู้เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลกับกรมบัญชีกลาง แต่นับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2556 สปสช.จะเข้าไปทำหน้าที่ประมวลผลการเบิกค่ารักษาพยาบาล และออกเป็นรายงานการจ่ายเงินให้กับกรมบัญชีกลาง เพื่อจ่ายให้กับสถานพยาบาลต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลการเบิกจ่ายเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกกองทุน และในอนาคตประเทศไทยจะมีข้อมูลการเงินการคลังด้านสุขภาพระดับประเทศเป็นครั้งแรก

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า สำหรับเงื่อนไขในการประมวลผลการเบิกค่ารักษาพยาบาลของสิทธิสวัสดิการข้าราชการนั้นจะใช้เงื่อนไขเดียวกับการเบิกจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งการที่ สปสช.เข้ามาดูแลตรงนี้จะช่วยให้ได้ข้อมูลการรักษามาวิเคราะห์ได้มากขึ้น สามารถกำหนดแนวทางการใช้ยาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ หากตรวจสอบพบว่าโรงพยาบาลมีการเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริงก็จะมีการเรียกเงินคืนจากโรงพยาบาลด้วย อย่างกรณี 30 บาท ก็มีการเรียกเงินคืนจากโรงพยาบาลได้ปีละกว่า 100 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มการมีข้อมูลการเงินด้านสุขภาพระดับประเทศเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นพ.วินัย กล่าวว่า เป็นไปได้ ขณะนี้ สปสช.ได้ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทั้งของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนสุขภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหลือเพียงกองทุนประกันสังคม ซึ่งเร็วๆ นี้ จะเข้าหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.)
กำลังโหลดความคิดเห็น