รมว.คลังรับออก พ.ร.ก.เงินกู้จัดการปัญหาน้ำจริงเพราะเป็นวาระเร่งด่วน ส่วนการเจรจาเอฟทีเอจะยึดหลักการตามมาตรฐานสากล ในการคุ้มครองสิทธิบัตรเพื่อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำหนังสือเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทว่า ยืนยันว่าแนวทางการออก พ.ร.ก.เป็นเรื่องเร่งด่วนจริงๆ และจะดำเนินการกู้เงินภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะเต็มวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่ขึ้นกับการประมูล ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเป็นราคาเท่าใด
“นายกรณ์ก็ไม่เคยเห็นอะไรด้วยกับแนวทางของผมอยู่แล้ว เขาคิดว่าผมทำอะไรก็ผิดตลอด แต่ก็คงถูกสักเรื่อง และยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบต่อแผนการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแน่นอน เพราะเงินกู้ดังกล่าวออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เปิดโอกาสให้สมาชิกในรัฐสภาได้ถกเถียงกันในทุกประเด็น” นายกิตติรัตน์กล่าว
นายกิตติรัตน์กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนแสดงความเป็นห่วงกรอบการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่จะกระทบต่อสิทธิบัตรยาว่า แนวทางการเจรจากรอบเอฟทีเอของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับสหภาพยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาจะยึดหลักการตามมาตรฐานสากล ในการคุ้มครองสิทธิบัตรเพื่อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ จะไม่ใช่ลักษณะที่ทำเกินกว่าปกติหรือการแลกอะไรบางอย่างเพื่อการเจรจา หรือเพื่อการค้าอื่นๆ และยืนยันว่าแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้นจะไม่กระทบต่อสิทธิบัตรยาของผู้ป่วย แต่ก็ยอมรับว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์บ้างจากการเจรจาเอฟทีเอ
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม ตนพร้อมด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังและนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้เข้าพบผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการเปิดเผยข้อมูลตามรัฐธรรมนูญเรื่องราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยในส่วนของราคากลางก่อสร้างที่มีสัดส่วน 75% ของเงินงบประมาณ ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลตามรัฐธรรมนูญแล้ว โดยหน่วยงานต่างๆ จะต้องเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์และอื่นๆ คิดเป็น 25% ของเงินงบประมาณ ซึ่งยอมรับว่าที่ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่แตกต่างกัน ทำให้มีราคากลางที่แตกต่างกันไปด้วย แต่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเร่งให้ทุกหน่วยงานเปิดเผยราคากลางในส่วนนี้ไปก่อนแม้จะแตกต่างกันก็ตาม ขณะที่กรมบัญชีกลางร่วมกับสำนักงบประมาณอยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์ราคากลางในส่วนของการจัดซื้อครุภัณฑ์ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้