กรมบัญชีกลางเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ ปี 57 หลังมติ ครม. กำหนดให้ส่วนราชการ กำหนดโครงการลงทุนไว้ล่วงหน้าก่อนที่งบประมาณจะผ่านสภา ทั้งแผนการลงทุน การกำหนดเงื่อนไขการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง เมื่องบประมาณผ่านการพิจารณาจากสภาฯ แล้วก็จะสามารถเบิกจ่ายงบได้ทันที
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2557 มีการเบิกจ่ายอย่างรวดเร็ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติกำหนดให้ส่วนราชการ กำหนดโครงการลงทุนไว้ล่วงหน้าก่อนที่งบประมาณจะผ่านสภา ทั้งแผนการลงทุน การกำหนดเงื่อนไขการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง เมื่องบประมาณผ่านการพิจารณาจากสภาฯ แล้ว ก็จะสามารถเบิกจ่ายงบได้ทันที แนวทางดังกล่าวจะทำให้งบประมาณด้านการลงทุนออกสู่ระบบได้รวดเร็วมากขึ้น โดยในงบประมาณประจำปี 2557 กำหนดกรอบงบประมาณรายจ่าย 2.25 ล้านล้านบาท เป็นงบด้านการลงทุน 457,000 ล้านบาท หากทำได้ตามที่กำหนดคาดว่าจะเบิกจ่ายงบลงทุนได้เกินร้อยละ 95 ของงบด้านการลงทุน เพื่อให้เม็ดเงินจากภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 56 ในช่วง 5 เดือนแรก (ต.ค.55-15 ก.พ.56) ยอดรวมทั้งหมด 3.063 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 960,768 แสนล้านบาท เงินลงทุนโครงการไทยเข้มแข็ง 341,530 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 322,182 ล้านบาท เงินกู้บริการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 5,813 ล้านบาท งบเหลื่อมปี 2548-2555 วงเงิน 299,415 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 125,815 ล้านบาท สำหรับงบผูกพันก่อนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะต้องเบิกจ่ายให้ได้ร้อยละ 30 เพราะยังเป็นงบประมาณส่วนที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนยอดเงินคงคลังล่าสุด มีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันการฝากไว้กับธนาคารประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ได้รับผลตอบแทนดอกเบี้ย ฉะนั้น เพื่อหาผลตอบแทนเพิ่ม กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเงินคงคลัง เพื่อนำเงินดังกล่าวไปหาประโยชน์เพิ่มเติมได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพื่อนำเงินคงคลังออกไปหาผลตอบแทนเหมือนกับประเทศอื่น
ขณะที่การเบิกจ่ายเงินสำหรับการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน เบิกจ่ายไปแล้ว 25,000 ล้านบาท เฉลี่ย 5,000 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็นผู้ป่วยใน 1,000 ล้านบาท ผู้ป่วยนอก 5,000 ล้านบาท นับว่าหลังจากเข้มงวดการเบิกจ่ายยา แพทย์จะสั่งยาให้เฉพาะในส่วนที่จำเป็นสำหรับการรักษาโดยไม่เผื่อไว้หลายเดือนเหมือนที่ผ่านมา นับว่าเป็นระดับการเบิกจ่ายที่น่าพอใจ โดยเป้าหมายเบิกจ่ายทั้งหมดในปีนี้ 60,000 ล้านบาท
นายมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า การคืนเงินให้แก่โครงการรถยนต์คันแรกนั้น ล่าสุด ดำเนินการโอนเงินให้แก่เจ้าของรถที่ครอบครองรถครบตามกำหนด 1 ปีแล้ว ยื่นขอคืนเงิน จำนวน 64,428 ราย เป็นเงิน 4,682 ล้านบาท โอนเงินไปให้ประชาชนแล้ว 58,361 ราย เป็นเงิน 4,231 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ทราบตัวเงินชัดเจนว่ามีปัญหาหนี้เสียกับสถาบันการเงินปล่อยกู้แบบเช่าซื้ออย่างไรบ้าง แต่หากเริ่มมีปัญหาตามที่หลายฝ่ายเป็นห่วง กรมสรรพสามิตจะยื่นหนังสือเตือนไปยังเจ้าของรถ 2 ครั้ง หากยังไม่มีการชำระเงินเข้ามา กรมบัญชีกลางจะส่งเรื่องให้แก่อัยการสูงสุดดำเนินการทางกฎหมาย แต่ขณะนี้ ยอดหนี้เสียยังไม่ชัดเจนนัก