แฉขบวนการสร้างราคายาของ รพ.รัฐ พบ 3 กลุ่ม “ผู้บริหาร-เภสัชกร-บริษัทยา” กุมชะตาผู้ป่วย ระบุ “ต้นทุน-ราคาขาย” แต่ละสิทธิ 2 มาตรฐาน คิดกำไรเท่าตัว เก็บสิทธิราชการเต็มอัตรา จ่ายสูงเวอร์! ขณะเดียวกันมีการลักลอบขนยา รพ.รัฐสู่ร้านยาขนาดใหญ่ในพื้นที่สร้างผลประโยชน์กันทั่วหน้า จับตาวงการแพทย์เตรียมปรับราคาตามโรงพยาบาลรัฐ ชี้คลินิกจ่อขึ้นราคาค่ารักษา 10-15% ส่วนโรงพยาบาลเอกชน แนะ “คนไข้” เก็บใบเสร็จไว้ตรวจสอบเพราะอาจซ่อนมาในรูปต่างๆ
กระแสความไม่เท่าเทียม และความไม่โปร่งใสในการกำหนดราคาจำหน่ายยาของโรงพยาบาลรัฐในแต่ละแห่ง ก่อให้เกิดข้อกังขาถึงความไม่ชัดเจน และหลักเกณฑ์การคิดราคา โดยเฉพาะราคาขายยาให้คนไข้ในกลับบ้าน-เบิกได้ หรือสิทธิข้าราชการที่พบว่ากำหนดราคายาหลายตัวสูงเป็นเท่าตัว เหลื่อมล้ำกับผู้ป่วยประเภทอื่นๆ มาก ซึ่งข้าราชการหลายท่านเห็นถึงความผิดปกติ และทราบดีว่า “จ่ายแพง” กว่าผู้ป่วยทั่วๆ ไป แต่ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือเรียกร้องอะไร เพราะเห็นว่ายังอยู่ในอัตราที่ตนเบิกได้
ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในวงการสาธารณสุข จึงส่งผลเรื้อรังถึงการจำหน่ายยาทั้งระบบ
และใครบ้างมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการสร้างราคายา!
3 กลุ่มกำหนดชะตาราคายา
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การกำหนดราคาขายยาของโรงพยาบาลรัฐให้กับประชาชนในแต่ละกลุ่ม และแต่ละแห่งจะมีอัตราการคิดราคายาที่ไม่เท่ากัน ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถกำหนดราคายาได้เอง โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจในการดูแลระบบยา เพียง 3 กลุ่มที่ทราบถึงข้อมูลต้นทุนที่แท้จริงของยาในแต่ละประเภท ประกอบด้วย 1. ผู้บริหารในโรงพยาบาล มีอำนาจในการตัดสินใจ 2. เภสัชกร ผู้ที่ติดต่อกับตัวแทนบริษัทยา และ 3. บริษัทยา หรือตัวแทน (รีเทลยา) ในการเข้าเจรจาตกลง
ขณะที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถทราบได้เลยว่ายาที่ได้รับตัวเดียวกัน แต่คนละสิทธิในการรักษาจะมีราคาต่างกันมาก นอกเสียจากจะยื่นเรื่องสอบถามกับทางโรงพยาบาลนั้นๆ
“ส่วนต่างของราคายาที่จ่ายให้สิทธิข้าราชการในอัตราสูง ซึ่งมักกำหนดราคาขายให้ชนเพดานที่สิทธิสามารถเบิกได้ โดยบางโรงพยาบาลใช้ข้ออ้างว่านำมาใช้ทดแทนสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า แม้จำหน่ายให้ผู้ป่วยทั่วไปก็ได้บวกค่ายาเอาไว้แล้วเหมือนกัน”
ข้าราชการจ่าย “ค่ายา” สูงเวอร์!
อย่างไรก็ดี มีโรงพยาบาลของรัฐจำนวนไม่น้อยที่จ่ายยาให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิข้าราชการ โดยอิงการกำหนดราคาในอัตราที่เบิกสูงที่สุดเป็นเกณฑ์ มากกว่าที่จะกำหนดด้วยมาตรฐานเดียวกันกับผู้ป่วยปกติทั่วไป โดยยาตัวเดียวกัน แต่กลับขายในราคาที่ต่างกัน ซึ่งโรงพยาบาลรัฐจะแบ่งบัญชีการเบิกจ่ายยาเป็นราคาขายงานผู้ป่วยนอก (Out patient Department หรือ OPD) ทั่วไป, ราคาขายงานผู้ป่วยนอก (Out patient Department หรือ OPD) เบิกได้, ราคาขายคนไข้ในกลับบ้าน, คนไข้ในกลับบ้าน เบิกได้ หรือสิทธิราชการ
ยกตัวอย่างการจ่ายยาของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใน กทม. กรณีการใช้ยาฉีด(ดิบ) ALBUMIN 20% 50 ml ราคาทุนอยู่ที่ 688 บาท ขายงานผู้ป่วยนอก (Out patient Department หรือ OPD) ราคา 802 บาท, ราคาขายงานผู้ป่วยนอก (Out patient Department หรือ OPD) เบิกได้ ขายราคา 802 บาท, ราคาขายคนไข้ในกลับบ้านอยู่ที่ 802 บาท และราคาขายคนไข้ในกลับบ้าน เบิกได้ หรือสิทธิราชการราคา 1,473บาท เนื่องจากสิทธิราชการสามารถเบิกได้สูงสุด 900 บาท
สำหรับ HINGE SHORT L/XL ใส่หัวเข่า มีอะลูมิเนียมแข็งแรง ราคาทุนอยู่ที่ 1,264 บาท ขายงานผู้ป่วยนอก (Out patient Department หรือ OPD) ราคา 1,451 บาท, ราคาขายงานผู้ป่วยนอก (Out patient Department หรือ OPD) เบิกได้ ขายราคา 1,451 บาท, ราคาขายคนไข้ในกลับบ้านอยู่ที่ 1,451 บาท และราคาขายคนไข้ในกลับบ้าน เบิกได้ หรือสิทธิราชการราคา 5,000 บาท เนื่องจากสิทธิราชการสามารถเบิกได้สูงสุด 5,000 บาท
ส่วนยา VANCOMYCIN เป็นยาปฏิชีวนะติดเชื้อแบคทีเรีย เช่นติดเชื้อในปอด ใช้ในห้องฉุกเฉิน หรือห้อง ICU เป็นส่วนใหญ่ ต้นทุนอยู่ที่ 139.10 บาท ราคาของสิทธิราชการอยู่ที่ 353 บาท หรือกรณีการใช้ Double lumen 12 fr 13 cm cur set สวนหัวใจในห้องผ่าตัด ต้นทุนอยู่ที่ 2,200 บาท ราคาผู้ป่วยนอกทั่วไป 2,481 บาท ส่วนผู้ป่วนนอกและผู้ป่วยใน รวมทั้งใช้สิทธิราชการอยู่ที่ 8,400 บาท เป็นต้น
ฮั้ว “บริษัทยา-เภสัช-ร้านยา” รับอื้อ!
นอกจากราคายาที่จำหน่ายให้แก่ผู้ป่วยไม่เท่าเทียมกันแล้ว สิ่งที่กัดกินวงการแพทย์ และสาธารณสุขที่ร้ายแรงเห็นจะเป็นขบวนการลักลอบนำยาของโรงพยาบาลออกไปขาย โดยมีลักษณะฮั้วกันระหว่างเภสัชกรของโรงพยาบาลรัฐ กับบริษัทยา ส่งผลให้วงการแพทย์เสียหายปีละมหาศาล
แหล่งข่าวด้านสาธารณสุข เล่าถึงขบวนการลักลอบยาที่เกิดขึ้นในแวดวงโรงพยาบาลรัฐว่า การลักลอบยาจะอยู่ในรูปแบบการตกลงของเภสัชกรของโรงพยาบาลรัฐ กับบริษัทยา ในการแถมยาให้ในลักษณะไม่ลงบิล หรือที่เรียกกันว่า “แถมนอกบิล” จึงไม่มีข้อมูลในการรับยาในรูปแบบของเอกสาร เช่น ซื้อ 10 กล่องแถม 10 กล่อง ก็จะมียาที่มีบิลเพียง 10 กล่องเท่านั้น ส่วนอีก 10 กล่องจะเป็นเรื่องที่ผู้แทนยาและเภสัชกร รู้กันเท่านั้น
ตรงนี้จึงเป็นเหตุให้เภสัชกรของโรงพยาบาลบางแห่งนำยาของแถมที่ไม่ลงบิลไปขายต่อให้กับร้านขายยาขนาดใหญ่ ใกล้โรงพยาบาลในอัตราที่ถูกกว่าที่ร้านขายยาซื้อผ่านตัวแทนบริษัทยา เหมือนลักษณะของการฟอกเงิน เป็นเหตุให้ร้านขายยาบางแห่งสามารถขายยาได้ในราคาที่ถูกกว่าต้นทุนที่ร้านอื่นได้มาเสียอีก
ยกตัวอย่าง ยา vastarel mr 35 mg รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ กล่องหนึ่งจะมี 2 แผง ปกติจะอยู่ที่ 540-570 บาท แต่ร้านยาบางแห่งย่านศิริราช จะขายได้ในราคา 510 บาท แต่ไม่มีกล่องให้
“ยาตัวเดียวกัน แต่ที่ถูกกว่าเพราะหมอ เภสัชมาฝากขาย ไม่ใช่ยาที่เราสั่งมา” เจ้าของร้าน บอก
ส่วนรูปแบบการแถมยาจะเป็นการแถมที่มีอายุยาประมาณ 6 เดือนก่อนหมดอายุ และทำระบบบัญชี ในรูปแบบของยาที่ต้องถูกทำลายแทนจำนวนยาที่หายไป
อย่างไรก็ดี วิธีการ “แถมนอกบิล” แล้วนำยาออกไปขายให้ร้านขายยานั้น กระทรวงสาธารณสุขก็ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ พร้อมเสนอแนะว่า หากจะมีการแถมยา ควรจะเป็นการ “แถมในบิล” ซึ่งหมายถึงการลงบิลตามจริง คือเมื่อซื้อ 10 กล่องแถม 10 กล่อง ในบิลก็ควรจะมียอดรับยาที่ 20 กล่อง จึงจะถูกต้องและไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์
“ถ้าแถมนอกบิล ก็เป็นที่รู้กันระหว่างรีเทลยา เภสัชฯ หรือผู้บริหารบางคน สามารถนำไปหาประโยชน์ได้เฉพาะกลุ่ม ซึ่งถือเป็นการโกงรูปแบบหนึ่ง”
ชี้กรมบัญชีกลางแก้ผิดจุด
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขอธิบายอีกว่า จากปัญหาการคิดราคายาของโรงพยาบาลรัฐ กับสิทธิข้าราชการที่สูงเกินความเป็นจริง ส่งผลให้ยอดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยในปี 2552 ตั้งงบประมาณไว้ 48,000 ล้านบาท แต่มีการใช้จ่ายจริง 61,304 ล้านบาท ในปี 2553 ตั้งงบประมาณไว้ 48,000 ล้านบาทเท่าเดิม แต่มีการใช้จริง 62,195 ล้านบาท และในปี 2554 เป็นปีแรกที่รัฐบาลตั้งงบสวัสดิการข้าราชการไว้สูงถึง 64,000 ล้านบาท แต่มียอดใช้จริง 61,844 ล้านบาท
“ปี 2556 กรมบัญชีกลางต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้อยู่ในงบประมาณ 60,000 ล้านบาทเท่านั้น”
แต่ด้วยยอดเบิกจ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กรมบัญชีกลาง เริ่มออกมาควบคุมห้ามเบิกจ่ายยาบางชนิด สำหรับสิทธิข้าราชการ อย่างเช่น แคลเซียม วิตามิน 1-6-12 ที่นิยมเบิกกันเป็นล่ำเป็นสัน หรือการใช้ยานอกบัญชียาหลัก หรือยาต้นฉบับ original ต้องถูกจำกัดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น แหล่งข่าว ยืนยันว่า ถ้ากรมบัญชีกลางเข้าไปศึกษาตัวเลขค่ายาจริงๆ แล้วจะพบว่า โรงพยาบาลของรัฐเห็นว่าเป็นสิทธิข้าราชการจึงตั้งราคาขายไว้สูงชนเพดาน และคนไข้ก็ไม่มีการท้วงติง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของสวัสดิการไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง หรือถ้าจ่ายก่อน ก็สามารถนำใบเสร็จไปเบิกต้นสังกัดได้เต็มจำนวน
“เรียกว่าทั้งโรงพยาบาล และคนไข้ สมยอมกัน เพราะไม่มีใครเสียประโยชน์จากตรงนี้”
แต่วันนี้คนไข้ที่ใช้สิทธิข้าราชการ เริ่มรู้สึกว่ายาที่ตัวเองได้ไปมีราคาแพง จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถเบิกจ่ายยาบางตัวได้เพราะคำสั่งห้ามของกรมบัญชีกลาง ก็เริ่มจะสอบถามกับทางโรงพยาบาลหรือเภสัชกรที่จ่ายยา
“วันนี้โรงพยาบาลก็เริ่มออกใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลชัดเจน ว่าแต่ละชนิดราคาเท่าไร และจ่ายไปกี่เม็ด รวมไปถึงค่าหัตถการต่างๆ ด้วย”
แหล่งข่าวบอกอีกว่า จากข้อมูลที่ร้องเรียนมายังโรงพยาบาลของรัฐ และกระทรวงสาธารณสุขชี้ให้เห็นว่าประชาชน ข้าราชการเริ่มใส่ใจกับค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น ทั้งในเรื่องค่ายาแต่ละหน่วย ค่าหัตถการต่างๆ ที่โรงพยาบาลรัฐคิดราคา อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งราคายาอย่างเหลื่อมล้ำของโรงพยาบาลรัฐอาจมาจากการฮั้วกันของบริษัทยายักษ์ใหญ่ เพื่อต้องการอัปราคายาขึ้น และอาจส่งผลถึงยาในบัญชียาหลักก็เป็นได้ ในที่สุดผู้ป่วยและงบประมาณของชาติจะกลายเป็นผู้แบกรับภาระในการรักษาพยาบาล ขณะที่มีคน 3 กลุ่มได้ประโยชน์จากการคิดราคายา
“การมองแต่เพียงงบเบิกจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกรมบัญชีกลางไม่ได้ลงรายละเอียดถึงกระบวนการสร้างราคายาของโรงพยาบาลรัฐ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด อีกทั้งยังทำให้ขณะนี้ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่งทั่วประเทศอาจรวมหัวกัน และบอกว่าขอขึ้นราคายาได้”
สัญญาณ “รพ.เอกชน-คลินิก” ปรับราคาขึ้น
อย่างไรก็ดี ในการประกาศปรับขึ้นราคากลางค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 800 รายการ แหล่งข่าวด้านสาธารณสุขบอกว่า จะส่งผลให้การขึ้นราคากลางค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้โรงพยาบาลเอกชน คลินิก รวมถึงเบี้ยประกันสุขภาพปรับสูงขึ้นอย่างแน่นอน
แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะยืนยันว่า การปรับขึ้นราคากลางค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่เกี่ยวกับค่ายา หรือค่าแพทย์แต่อย่างใด แต่เป็นการปรับค่าบริการด้านหัตถการ เช่น ผ่าตัด เจาะเลือด เอกซเรย์ ฯลฯ โดยอ้างว่าผลครั้งนี้จะกระทบผู้ป่วยที่จ่ายเองเท่านั้น แต่จะไม่กระทบ 3 กองทุน อีกทั้งจะไม่ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ต้องขึ้นราคาตาม
อีกทั้งการที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งออกมายืนยันว่าจะไม่ปรับค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นตามโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น อาจไม่ใช่เรื่องจริง ซึ่งวงการแพทย์ต่างเชื่อว่าจะต้องมีการซ่อนมาในรูปต่างๆ ดังนั้น ผู้ป่วยรายเก่า ควรจะเก็บบิลในการรักษาแต่ละครั้งแล้วนำมาเปรียบเทียบ เพราะอาจแฝงเป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นมา เช่น จากเดิมค่าห้องพิเศษจะรวมค่าพยาบาล อาหาร แต่ช่วงหลังอาจมาแยกย่อยเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มในแต่ละส่วนแทนก็ได้ ส่วนของคลินิกเชื่อว่าจะปรับสูงขึ้นตาม 10-15%
“การตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่ละครั้งถือเป็นเรื่องยากสำหรับโรงพยาบาลเอกชน เพราะเขาถือว่าเราสมัครใจไปรักษา ไม่ได้มีการบังคับให้เราไปโรงพยาบาลเอกชน ถ้ารู้ว่ารับภาระค่ารักษาพยาบาลไม่ไหวก็ควรไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐแทน โดยเฉพาะผู้ป่วยใหม่จะยิ่งดูยากว่ามีการปรับราคาหรือไม่ อย่างไร” แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขระบุ