xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ยัน สธ.ปรับค่าบริการไม่กระทบสิทธิ 30 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปสช.ยัน สธ.ปรับอัตราค่าบริการไม่กระทบคนใช้สิทธิ 30 บาท เหตุมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายเงินตรงให้โรงพยาบาลแบบเหมาจ่ายรายหัว ที่ได้รับงบประมาณเฉพาะในแต่ละปี ชี้มีการคำนวนจากต้นทุนของโรงพยาบาลและโครงสร้างประชากร

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมปรับอัตราค่าบริการสถานพยาบาลในสังกัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10-15 ว่า การปรับอัตราค่าบริการจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคจำนวน 48 ล้านคน เพราะ สปสช.ได้ทำหน้าที่จัดสรรให้หน่วยบริการตามหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในแต่ละปีรัฐบาลได้จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวในวงเงินอัตราก้าวหน้าให้ สปสช. โดยการคำนวณงบเหมาจ่ายรายหัวใช้หลักการวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขคำนวณจากข้อมูลต้นทุนของสถานพยาบาล เพื่อจัดสรรให้หน่วยบริการตามอัตราประชากรที่มาลงทะเบียนกับหน่วยบริการทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้กำหนดอัตราเพดานงบเหมาจ่ายรายหัวในอัตราการจ่ายแบบปลายปิดตามแนวทางงบเหมาจ่ายรายหัว โดยการจัดสรรให้ผู้ป่วยนอกใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัวโดยปรับตามโครงสร้างอายุประชากร ขณะที่การจ่ายแบบผู้ป่วยในนั้นใช้ระบบเหมาจ่ายตามระบบดีอาร์จี (DRGs) หรือการวินิจฉัยตามกลุ่มโรค ทั้งนี้ การให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล หากเป็นบริการที่อยู่นอกสิทธิประโยชน์ ซึ่งประชาชนต้องจ่ายค่าบริการเอง

“ระบบนี้ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง มีเพียงการร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาทในแต่ละครั้ง ซึ่งมีข้อยกเว้นในกลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่าย และประชาชนสามารถเลือกไม่จ่ายได้ ดังนั้น การปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลในครั้งนี้จึงไม่มีผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล หากมีข้อสงสัยใดๆประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.วินัยกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับงบประมาณเพื่อทำหน้าที่ดูแลหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน เพื่อให้มีเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลในทุกโรค แต่มียกเว้นบางโรคที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น การผ่าตัดศัลยกรรมเสริมความงาม ภาวะการมีบุตรยาก เปลี่ยนตับในผู้ใหญ่ เป็นต้น

นพ.วินัยกล่าวอีกว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการตามต้นทุนบริการที่คำนวณมาจากการใช้ข้อมูลค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้เงื่อนไขการไม่รวมต้นทุนด้านค่าพัฒนาการบริการ และไม่รวมค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายรัฐบาลตั้งแต่ปี 2554 ดังนั้น ภาระเงินกองทุนจึงขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้บริการและต้นทุนจริงที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีผลกระทบต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่น เช่น อัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลเป็นปัจจัยสำคัญต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือน และอาจจะมีผลต่อราคาสินค้าอื่น โดยอาจจะมีผลทางอ้อมต่อการขึ้นค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้านสุขภาพ

“จากการที่ รมว.สาธารณสุขมีมาตรการต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของหน่วยบริการในสังกัดทุกแห่ง ทั้งการต่อรองราคายา การกระจายและจัดบุคลากรให้เหมาะสม รวมทั้งการจัดระบบการใช้ทรัพยากรร่วมกันในระดับจังหวัดและระดับเขต ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนให้บริการ ซึ่งจะยิ่งเป็นการให้บริการได้ตามมาตรฐาน และการที่ประชาชนไทยทุกคนได้รับหลักประกันสุขภาพภาครัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การเพิ่มอัตราค่าบริการครั้งนี้จึงไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

ทั้งนี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประชาชนมีสิทธิ 48 ล้านคน โดยมีคนไข้นอกมาใช้บริการในหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยเฉลี่ยปีที่ผ่านมา จำนวน 31 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 3.6 ล้านครั้งต่อคนต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น