ฝ่ายค้านเฉ่งรัฐบาลบริหารงบฯ ห่วย ลดค่าหัวประกันสุขภาพคนไทย ทำโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาการเงิน ด้าน “ชลน่าน” อ้างสาธารณสุขขึ้นค่ารักษาพยาบาลตามต้นทุนเศรษฐกิจ สะท้อนความเป็นจริง รับค่าแรงพุ่งต้นเหตุสำคัญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภา วันนี้ (31 ม.ค.) นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ กระทู้ถามสดเรื่องการปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศเนื่องจากจัดทำงบประมาณให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คิดต่อคนต่อปีแค่ 2,755 บาท ซึ่งอัตรานี้ลดลงจากสมัยรัฐบาลชุดก่อน ดูแลรักษาพยาบาลไม่พอทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาการเงินจนไม่สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพได้
พร้อมตั้งข้อสังเกตการประกาศปรับขึ้นราคาค่ารักษาพยาฐาล ของกระทรวงสาธารณสุขมาจากปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้งบประมาณของรัฐบาลที่ให้ สปสช.จึงไม่ได้อยู่อัตราก้าวหน้าให้รองรับกับอัตราเงินเฟ้อ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใช้งบประมาณ โดยไม่ให้ความสำคัญกับการบริการสาธารณสุขมากเท่ากับนโยบายอย่างรถคันแรกหรือการลดอัตราภาษีนิติบุคคลที่ใช้เงินเป็นแสนล้านบาท ทำไมในเมื่อกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าการขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลจะไม่กระทบต่อประชาชนที่อยู่ในระบบประกันตนและกองทุนหลักประกันสุขภาพถึงจะต้องขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลอีก
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข ชี้แจงว่า การประกาศปรับราคาค่ารักษาพยาบาล มีเหตุผล 2 ประการ คือ 1. กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งหลังจากมีระเบียบของกระทรวงปรากฏว่าการบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีบริการที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ 758 รายการที่ไม่ได้บรรจุไว้ในระเบียบดังกล่าว ดังนั้น ถ้าไม่ปรับค่าบริการแล้วจะทำให้การคิดค่าบริการของสถานพยาบาลของกองทุนต่างๆมีความคลาดเคลื่อน นอกจากนี้จะไม่มีการคุ้มครองผู้มารับบริการ และ 2. เหตุผลด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยพบว่าในรอบ 10 ปีมีต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็น ค่าแรง ราคาวัสดุ ค่าเสื่อมราคา และที่สำคัญระเบียบปี 2547 ไม่เอื้ออำนวยต่อการเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนต่างๆ
ส่วนสาเหตุที่จัดงบประมาณต่อคนต่อปีของ สปสช.ได้แค่ 2,755 บาท เนื่องจากอัตราค่าบริหารที่กำหนดมาตั้งแต่ปี 2547 ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะราคาค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขคิดเฉพาะค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าเสื่อมของครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง โดยไม่ได้คิดค่าการพัฒนาการบริการประมาณ 20-25% เข้าไปด้วย จึงมีความจำเป็นที่กระทรวงต้องคิดต้นทุนให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น เพื่อให้มีผลต่อการคำนวณงบประมาณต่อคนในทุกประเภทซึ่งจะเป็นธรรมแก่ประชาชนเอง