xs
xsm
sm
md
lg

จวกสธ.จ่อขึ้นค่ารักษา กมธ.แนะรัฐเพิ่มงบรพ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ศิริราช" คาดปรับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% เชื่อไม่กระทบปชช. ด้าน โฆษก กมธ.สาธารณสุข จวก “รมว.สธ.” ประกาศขึ้นค่ารักษาพยาบาล 10-15% ชี้ แก้ปัญหาผิดทาง โยนชาวบ้านรับกรรม แนะรัฐเพิ่มงบให้ “ศิริราช -รามา - จุฬา”

วานนี้ (29 ม.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรงพยาบาลศิริราชเตรียมปรับอัตราค่าบริการ ว่า รพ.ศิริราชไม่มีการปรับอัตราค่าบริการมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งการปรับอัตราค่าบริการในครั้งนี้จะปรับตามต้นทุนที่เป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด ต้องดูตามแต่ละรายการไป หากรายการใดมีราคาต่ำมากก็ควรมีการปรับเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุน ที่สำคัญการปรับอัตราค่าบริการไม่ได้เป็นการปรับเพิ่มแบบปีต่อปี แต่จะต้องดูแนวโน้มเป็นระยะ 3-5 ปี และต้องเปรียบเทียบกับอัตราค่าบริการใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วย เพื่อไม่ให้อัตราค่าบริการโดดหรือแพงมากไปกว่าสถานพยาบาลในสังกัดของ สธ. เพราะเราไม่ใช่องค์กรที่แสวงหากำไร อย่างไรก็ตาม รพ.ศิริราชจะยังไม่ประกาศอัตราค่าบริการในเร็วๆนี้ เพราะต้องรอให้ สธ.มีการประกาศปรับอัตราค่าบริการเสียก่อน ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลา 5-6 เดือน กว่าจะผ่านกระบวนการพิจารณาต่างๆ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงกรณีการพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าบริการของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน เพราะประชาชนไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มเติมอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่จะต้องจ่ายเพิ่มคือ ชาวต่างชาติ หรือผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลตามขั้นตอน ซึ่งขณะนี้กระทรวงกำหนดพิจารณาอยู่ ยืนยันว่าต้นทุนทุกอย่างถือเป็นต้นทุนภายใน

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงค่าทำเนียมต่างๆไม่มีผลต่อประชาชน เพราะประชาชนต่างได้รับการดูแลจากรัฐบาล ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหลักประกัน 30 บาท ข้าราชการ รวมไปถึงประกันสังคม ก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่มีเหตุผลในการขึ้นค่ารักษาพยาบาลด้วย เพราะต้นทุนก็เป็นต้นทุนของปัจจุบัน และจากการตรวจสอบก็ยังไม่มีโรงพยาบาลเอกชนใดปรับขึ้นราคา นอกจากนี้เรื่องดังกล่าว กระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด โดยจะมีการประชุมในวันที่ 4-5 ก.พ. เพื่อวางระบบต่างๆ ในการดูแลประชาชน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีสิทธิในหลักประกันสุขภาพต่างๆ 3 หลักประกันคือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ มีประชากร 6 ล้านคน กองทุนประกันสังคมมีประชากร 9 ล้านคน และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) 48 ล้านคน โดยกองทุนเหล่านี้จะทำหน้าที่จ่ายเงินให้สถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น กองทุนประกันสังคม จะจ่ายตามรายหัวที่ขึ้นทะเบียนประกันตน กับสถานพยาบาล กองทุนข้าราชการจ่ายตามจริง และกองทุนบัตรทองจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว โดยแยกการแบ่งจ่ายเป็นผู้ป่วยนอก จ่ายตามรายหัว และผู้ป่วยใน จ่ายตามกลุ่มโรค(ดีอาร์จี) ดังนั้น หลังจากปรับเพิ่มค่าบริการ กองทุนดังกล่าว ก็ยังทำหน้าที่จ่ายเงินตามกติกาของแต่ละกองทุนเหมือนเดิม ซึ่งประชาชนไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด

ขณะที่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี นพ.ประดิษฐ เตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล 10 -15% ว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากที่โรงพยาบาลศิริราชออกมาโวยวาย เพราะมีการขึ้นค่าแรงลูกจ้าง วันละ 300 บาท ทำให้ รพ.ศิริราช มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเนื่องจากมีลูกจ้างจำนวนมาก ทำให้ต้องแบกรับภาระไม่ไหว แต่รัฐบาลกลับเลือกแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่ารักษาพยาบาลอีก 10 -15% ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพราะมีประชาชนบางกลุ่มที่มีเงินจำนวนไม่มาก แต่เลือกที่จะรักษาด้วยการเสียเงินและไม่รับสิทธิ์ตามบัตรต่าง ๆ เนื่องจากการอำนวยความสะดวกมีปัญหา ยุ่งยาก และรอนาน ไม่ได้รับการบริการที่ดี และเมื่อเปรียบเทียบราคายา ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามียาบางชนิดได้ปรับราคาเพิ่มขึ้น แม้จะไม่สูงมาก ยาบางชนิดได้ปรับราคาลง

“เหตุผลการขึ้นค่ารักษาดังกล่าว ผมไม่เห็นด้วยรัฐบาลทำวิธีนี้ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลไม่ควรเลือกการขึ้นค่ารักษาพยาบาล แต่ควรให้งบประมาณที่เพียงพอกับ รพ.ศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ให้เพียงพอกับการบริหาร การแก้ปัญหาแบบนี้เป็นการทำผิดวิธี เพราะปัญหาทุกอย่างจะตกอยู่กับประชาชน แพงทั้งแผ่นดินและเชื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนก็จะใช้จังหวะนี้ปรับขึ้นราคาค่ารักษาด้วยเช่นกัน ดังนั้นคนที่เดือดร้อนคือประชาชนทุกระดับชั้น” โฆษก กมธ.สาธารณสุข ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น