xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งกองทุนรักษาพยาบาล อปท. 6,500 ล. สปสช.รับบริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เล็งตั้ง "กองทุนหลักประกันสุขภาพ อปท." ยก สปสช.บริหารกลาง เผยวางงบไว้ราว 6,500 ล้านบาท หวังขรก.ท้องถิ่นกว่า 5 แสนได้รับสิทธิเท่าเทียม พร้อมปั้นโมเดล “30 บาทพลัส” เพิ่มสิทธิเทียมขรก. รู้ผล ม.ค. 56

วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระบบหลักประกันสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แนวทางการดำเนินการคุ้มครองความมั่นคงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ ว่า ผู้แทน อปท. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสธ.ได้หารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการรับสิทธิด้านการรักษาพยาบาลของ อปท. เพราะบาง อปท.ได้รับงบประมาณน้อย การจ่ายค่ารักษาให้ข้าราชการท้องถิ่นจึงน้อยตาม จึงจะมีการตั้งกองทุนกลางการรักษาพยาบาล โดยจะหักเงินจากงบประมาณเงินอุดหนุน อปท.ที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาทไว้ก่อนกระจายลงไปท้องถิ่นตามหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยหักไว้ประมาณร้อยละ 1 หรือประมาณ 5,000 - 6,500 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการประมาณการ โดยอิงจากสถิติการคำนวณค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งพบว่ามีประมาณ 5,000 ล้านบาท

เงินก้อนนี้แยกตั้งแต่ต้นทาง คือ ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยจะตั้งเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมี สปสช. เป็นผู้บริหารกลางแทน คล้ายๆเคลียริงเฮาส์ (Clearinghouse) ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลอยู่ระหว่างการหารือว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่ต้องไม่แตกต่างจากสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เบื้องต้นมีข้อเสนอว่า อาจใช้สิทธิการรักษาในรูปแบบ 30 บาทพลัส(Plus) โดยจะมีสิทธิต่างๆเพิ่มเติม คาดว่าจะชัดเจนในเดือน ม.ค. 2556 และจะทำเอ็มโอยูร่วมกันต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ขั้นต่อไปจะเป็นการหารือเรื่องสิทธิประโยชน์กับระบบการทำงาน หากเป็นระบบแบบปลายเปิดมีข้อพึงระวังคือ ค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น เหมือนระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพลเรือน ที่ไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน สามารถรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ซึ่งแต่ละฝ่ายต้องนำไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะหากเลือกใช้ระบบปลายเปิด ต้องยอมรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต หากเป็นระบบแบบปลายปิด ก็จะมีการออกแบบให้ได้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ด้อยกว่ากัน แต่ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบัน อปท.มีอยู่ 7,900 แห่งทั่วประเทศ มีประมาณ 537,692 คน รวมพ่อแม่คู่สมรสและบุตร ซึ่งการดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์จะต้องครอบคลุมทั้งหมด โดยรูปแบบการให้สิทธิ 30 บาทพลัสยังเป็นเพียงข้อเสนอ โดยคำว่าพลัส คือการบวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นค่าห้องพิเศษ ค่าพยาบาลพิเศษ รวมทั้งสิทธิการรักษาต่างๆ เช่น กรณีการรักษาผู้มีบุตรยาก ซึ่งระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่มี และจะรวมในเรื่องสิทธิการรักษาแต่ละแห่ง โดยจะต้องพิจารณาว่าจะได้รักษาหลักๆ ที่ใดบ้าง กี่แห่ง เป็นต้น ซึ่งรูปแบบ 30 บาทพลัสจะรวมพ่อแม่ คู่สมรส และบุตรด้วย

"อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว ยังต้องหารือว่าอปท.ทั่วประเทศต้องการรูปแบบใด ในส่วนการบริหารนั้น สปสช.จะเป็นผู้บริหารกลาง รับหน้าที่ดูแลกองทุนดังกล่าว ซึ่งจะแยกออกจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรียกว่าจากนี้ไป สปสช.จะมีหน้าที่ดูแล 2 กองทุน ซึ่งจะมีการคิดค่าบริหารเพิ่มเติมอีกร้อยละ 1.5 ต่อปีโดยจะตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนขึ้นเฉพาะ" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก สปสช.เป็นผู้บริหารจะตกที่ค่าใช้จ่ายรายหัวเท่าใด นพ.วินัย กล่าวว่า ปัจจุบันงบรายหัวของข้าราชการทั้งผู้ป่วยในและนอกรวมประมาณ 12,000 บาทต่อคน แต่กรณีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 9,900 บาทต่อคน

ด้าน นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่มีกองทุนรักษาพยาบาลที่ไม่ต่ำกว่าสิทธิข้าราชการเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินเอง โดยกองทุนนี้ที่รัฐจัดสรรมาให้ ส่วนเรื่อง 30 บาทพลัส ไม่เห็นด้วย เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก และจำเป็นต้องหารืออีก เพราะรูปแบบดังกล่าวเป็นเพียงการรักษาพื้นฐาน เหมือนอยู่กับสปสช. และเชื่อว่าต้องมีการจำกัดสิทธิไม่ครอบคลุมหมด จึงขอให้สิทธิรักษาพยาบาลเหมือนข้าราชการดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น