xs
xsm
sm
md
lg

เล็งเพิ่มอำนาจ สสจ.เป็น CEO เกลี่ยงบจังหวัด ดูแลสุขภาพ ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิทยา” ฟุ้งนโยบาย 30 บาท ประสบความสำเร็จสุด เตรียมเดินหน้าต่อในปี 56 พร้อมจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวกว่าแสนล้านบาท เล็งเพิ่มอำนาจให้ สสจ.เป็น CEO จัดสรรงบประมาณในจังหวัดให้เกิดสภาพคล่อง และขับเคลื่อนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ

วันนี้ (11 ต.ค.) ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม “ชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555 เพิ่มประสิทธิภาพหลักประกันสุขภาพไทย” ว่า นโยบายด้านสาธารณสุขที่สำคัญของรัฐบาล คือ การเพิ่มประสิทธิภาพหลักประกันสุขภาพไทย โดยเฉพาะการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อสร้างระบบบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานทั่วถึง และเป็นธรรม ภายใต้แนวคิด สมาร์ท เฮลธ์ (SMART HEALTH) คือ มีหมอใกล้บ้าน ใกล้ใจ มียาดีใช้เพียงพอ ไม่ต้องรอรักษานาน มีการจัดการโรคเรื้อรัง เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้มีการนัดประชุมทุก 2 เดือน

นายวิทยา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำการใช้สิทธิการรักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยเริ่มจากนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น” ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ภายใต้การสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐ และล่าสุดการให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศเกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วน 1 ปีแรกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ของนิด้าโพลล์ พบว่า ประชาชนร้อยละ 85 ให้เป็นนโยบายการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ “30 บาทรักษาทุกโรค” ประสบความสำเร็จมากที่สุด

ในปีงบประมาณ 2556 กองทุนหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยได้รับการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวนเงิน 108,507 ล้านบาท จากประชากรทั้งประมาณ 48 ล้านคน ซึ่งจะให้ความสำคัญการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ สำหรับหน่วยบริการซึ่งเป็นผู้ให้บริการต่างๆ ขอเน้นว่า โรงพยาบาลจะต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะ สธ.และ สปสช. ต้องเดินคู่กันให้สอดคล้องกัน การทำงานทุกระดับต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดการระบบ หรือ CEO ระดับจังหวัด โดยมีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริการภายในจังหวัดให้เพียงพอ มิให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง และจะต้องมีการติดตามการใช้เงินของทุกหน่วยบริการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องมีระบบการติดตาม ระบบการกำกับการบริหารงานโรงพยาบาล สนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ รพ.สต.ให้สามารถจัดบริการให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเพียงพอและทั่วถึง

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากจุดเริ่มต้นที่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบันนั้น ได้รับการประเมินจากต่างประเทศโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ประสบความสำเร็จจนเป็นตัวอย่างให้กับนานาประเทศให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านหลักประกันสุขภาพได้ ทั้งนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพจะประสบความสำเร็จได้ถึงวันนี้ ได้รับความความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวิชาชีพ และที่สำคัญอย่างมาก ได้แก่ ผู้ให้บริการสาธารณสุข ที่ช่วยกันผลักดันให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ในการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการและได้รับบริการสาธารณสุขตามสิทธิที่พึงได้ในฐานะความเป็นประชาชนไทย และครอบครัวไม่ต้องล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า สำหรับปีงบประมาณ 2556 ในการจัดกระบวนการแนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า หน่วยบริการในทุกจังหวัดจะไม่เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น