ทีดีอาร์ไอเผยการศึกษา “รวม 3 กองทุน” ชี้โมเดลที่ดีที่สุดคือ ไม่ยุบ 3 กองทุน แต่รัฐบาลต้องตั้งบุคคลที่ 3 มาดูแล ซึ่งในที่นี้กระทรวงสาธารณสุขเหมาะสมที่สุด ชี้ข้อดีคืออำนาจต่อรองสูง ลดเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาล ภายใต้แนวคิด “ทุกคนเข้าได้ทุกโรงพยาบาลมาตรฐานเดียวกัน” และต้องรีบ เพราะช้าจะทำให้งบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มทวีคูณ รัฐแบกภาระอื้อ ฟันธง! การรวม 3 กองทุนทำให้ประหยัดงบฯ อย่างต่ำ 6 หมื่นล้าน!
หลังจากทีม “Special Scoop” หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ได้เสนอภาพแผนของฝ่ายการเมืองภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยตัวจริงไปแล้วว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยต้องมีนโยบาย Step 2 ต่อจาก “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” ที่ประสบความสำเร็จดึงคะแนนนิยมจากประชาชนไทยให้เทคะแนนเลือกตั้งให้พรรคไทยรักไทยไปอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2544 ในสกู๊ปเรื่อง “แพทย์เปิดศึกชิงเงินประกันสุขภาพ 2.3 แสนล้านบาท เบื้องหลัง!ทักษิณได้ประโยชน์เนื้อๆ” ไปแล้วนั้น
แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มอง และเคาะซื้อทันทีคือความคิดที่นำเสนอมาจากกลุ่มหมอชนบทตั้งแต่ต้นในการจะรวม 3 กองทุนมาไว้ด้วยกันและให้การบริหารจัดการเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นหนึ่งเดียว ได้แก่การรวมกองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) มาไว้ด้วยกัน และให้ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดูแล
แต่เส้นทางนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็รู้ดีว่าไม่ใช่งานง่าย ที่จะทำให้สมาชิกที่อยู่ในกองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการยอมรับได้ง่ายๆ และแถมยังมีการต่อต้านอย่างหนักมาตลอด
ดังนั้นทั้งฝ่ายการเมือง และ สปสช.จึงเริ่มเคลื่อนไหว 3 ส่วน เพื่อรวมกองทุนทั้งสามมาไว้เป็นก้อนเดียวกันและการบริหารภายใต้กระทรวงสาธารณสุขจึงเริ่มต้นขึ้น
ความเคลื่อนไหวที่จะเห็นได้ชัดในเริ่มแรก เป็นหน้าที่ของ สปสช.ที่จะทำหน้าที่ลดแรงต้านทานนี้ลงให้ได้ ที่ผ่านมาจึงเห็นบทบาท สปสช.ที่เด่นชัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจากความพยายามให้นำเงินกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือ พ.ร.บ.ประกันภัยบุคคลที่ 3 หลายพันล้านมารวมอยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามด้วย งบดูแลสุขภาพในส่วนของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวจำนวน 8 แสนคน เม็ดเงินประมาณ 9,000 ล้านบาท ก่อนก้าวเข้าดึงกองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการเข้ารวมให้ สปสช.เป็นผู้บริหารงานด้วยในท้ายที่สุดตามแผน
ในส่วนของประชาชนหรือสมาชิกใน 2 กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ สปสช.ก็มีหน้าที่ “ซื้อใจ” ให้เห็นว่า อยู่กับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้ สปสช.บริหารเรื่องเงินด้านการดูแลสุขภาพให้แล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างมาก
งานนี้ สปสช.กล้าเล่น โดยปิดจุดอ่อนการรักษาพยาบาลที่เป็นปัญหาใหญ่และยาวนาน ด้วยการตั้ง 3 โครงการ คือ ฉุกเฉินเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล, การรักษาโรคไตวายที่แต่ละครอบครัวต้องใช้เงินค่ารักษามหาศาล และยาโรคเอดส์
เน้น “ซื้อใจ” ประชาชนให้เห็นว่า “สปสช.” เขาดีจริงๆ
แค่นั้นยังไม่พอ ส่วนที่ 3 ในส่วนนี้ฝ่ายการเมืองลงจัดการเอง ด้วยการหางานวิจัยด้านวิชาการมารองรับ โดยมีการขอความร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เข้ามาศึกษาว่าการรวม 3 กองทุน หรือการรวมระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพทั้งหมดไว้ด้วยกันนั้น จะดีต่อประเทศไทยหรือไม่ และโมเดลนี้ในต่างประเทศเขาใช้กันอย่างไร
TDRI ทำวิจัยรวม 3 กองทุน
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ข้อมูลจากงานวิจัยหัวข้อ “แนวทางการอภิบาลระบบประกันสุขภาพไทย” โดยเปิดเผยว่า การศึกษานี้จะเน้นการศึกษาจากต่างประเทศว่ามีการบริหารจัดการระบบกองทุนสุขภาพอย่างไร ซึ่งต่างประเทศส่วนมากก็พบว่ามีกองทุนสุขภาพมากกว่า 1 กองทุน เช่น ประเทศฝรั่งเศสมีประมาณ 11 กองทุน ญี่ปุ่นมี 10 กว่ากองทุน ดังนั้น การที่ประเทศไทยมี 3 กองทุนในการดูแลสุขภาพจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ทั้งนี้ทั้งนั้นโมเดลการบริหารด้านกองทุนสุขภาพของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ว่าจะมีกี่กองทุนแต่จะอยู่ภายใต้การบริหารงานของกระทรวง หรือหน่วยงานเดียว
ต่างกับประเทศไทยที่เวลานี้มีการดูแลกองทุนด้านสุขภาพที่แยกกันอย่างชัดเจน อย่างกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บริหารโดย สปสช. กองทุนประกันสังคมอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงาน ส่วนกองทุนสวัสดิการข้าราชการอยู่ภายใต้การดูแลของกรมบัญชีกลาง
“แถมจริงๆ แล้วประเทศไทยมีมากกว่า 3 กองทุน มีกองทุนดูแลสุขภาพคนต่างด้าวอีก มี อบต. อบจ.อีก ซึ่งอบต.ก็จะรวมในส่วนของกรุงเทพฯ ด้วย ก็คือ กทม. แต่ละแห่งก็มีสวัสดิการเป็นของตัวเอง รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งก็จะมีสวัสดิการแยก ข้าราชการแต่ละที่ก็ไม่เท่ากันด้วย ดังนั้นเรามีเยอะกว่า 3 ระบบด้วยซ้ำ”
ตรงนี้สิแปลก!
“จะมีกี่กองทุนเราไม่ว่า แต่อยู่กระทรวงเดียว เพราะว่าการที่อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน ทำให้การบริหารจัดการมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประเทศส่วนมากมีความเห็นว่า เรื่องของเบี้ยประกัน และสิทธิประโยชน์นั้นน่าจะไม่แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะมีกี่กองทุนก็ตาม ดังนั้นเรื่องของกองทุนเป็นเพียงเรื่องของการบริหารจัดการในด้านการเงิน ว่าแม้คุณจะแยกบริหารเป็นกองทุน แต่เรื่องสิทธิประโยชน์และเบี้ยประกันส่วนมากจะไม่ต่างกัน”
ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่สิทธิประโยชน์และเบี้ยประกันของทั้ง 3 กองทุนเป็นคนละเรื่อง!
กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีคนในระบบ 48 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่ 2,755.60 บาทต่อหัว ปี 2554 ใช้งบประมาณไป 101,057.91 ล้านบาท
กองทุนประกันสังคม มีคนในระบบ 9.4 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายต่อหัวแบบเหมาที่ 2,504 บาทต่อหัว ใช้งบประมาณ 24,476.28 ล้านบาท
ที่เด็ดดวงอยู่ที่กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ที่มีคนเพียง 5 ล้านคน แต่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 14,123.01 บาทต่อหัว ในปี 2554 ที่ผ่านมาใช้งบประมาณไปแล้ว 618,44.27 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2555 นี้ตัวเลขจะพุ่งกระฉูดไปเฉียดๆ 7 หมื่นล้านบาท
แค่ 5 ปี จากปี 2549 ที่รัฐบาลใช้เงินงบประมาณดูแลกองทุนสวัสดิการข้าราชการประมาณ 37,000 ล้านบาท มาเป็นเกือบ 7 หมื่นล้านบาทในสิ้นปีนี้!
สิ่งนี้คือสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังระทมหนัก เหตุผลคือรัฐบาลก็กำลังถังแตกด้วยการบริหารงบประมาณแบบขาดดุล คือมีงบรายจ่ายอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท รายได้ 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะกู้เงินด้วยการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก่อหนี้ประมาณ 2.27 ล้านล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะ 7 ปี โดยรัฐบาลประเมินว่าเมื่อกู้แล้วจะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 50% จากปัจจุบันมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 42.55% ของจีดีพี
ดังนั้นงบประมาณดูแลสุขภาพที่รวมทั้งระบบเป็นเงินก้อนใหญ่มากถึง 2.3 แสนล้าน จึงต้องมีการจัดการ โดยเฉพาะกองทุนสวัสดิการข้าราชการที่จำนวนคนน้อยมากในระบบ แต่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มากในการมาดูแล ที่สำคัญคือเงินค่าใช้จ่ายก้อนนี้ดันเพิ่มขึ้นทวีคูณ และรัฐบาลต้องแบกภาระเงินก้อนนี้หนักมาก
“กองทุนมีเยอะมากอย่างที่บอก แต่การศึกษานี้จะดูแค่ 3 กองทุน เพราะการรวมแค่ 3 กองทุนก็เป็นเรื่องที่ยากแล้ว เพราะมีผู้ต่อต้านจำนวนมาก” ดร.เดือนเด่นกล่าว
ชี้ตั้ง สธ.เป็น Third party ดูแล 3 กองทุน
ดร.เดือนเด่นเปิดเผยต่อว่า จากการศึกษาพบว่า แนวคิดที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดและดีที่สุดคือ ทั้ง 3 กองทุนนี้ ไม่จำเป็นต้องยุบรวมมาเป็น 1 กองทุนก็ได้ เพียงแต่จะต้องเอางบประมาณด้านการดูแลสุขภาพมาขึ้นอยู่กับเจ้าภาพเดียวกัน โดยหากมีการไม่ยอมรับให้ สปสช.บริหารเงินทั้งระบบ ก็ควรจะมีการตั้ง Third party หรือบุคคลที่ 3 ขึ้นมาดูแล ซึ่งในที่นี้คงไม่มีใครเหมาะกว่ากระทรวงสาธารณสุข ถ้าทำอย่างนี้ได้ เชื่อว่าแรงต้านจะลดลง
เป้าหมายคือสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกันของทั้ง 3 กองทุน!
“รวมหรือไม่รวมอาจจะไม่สำคัญเท่ากับพยายามให้สิทธิประโยชน์ และเบี้ยประกัน ค่าใช้จ่ายที่ต้องรับภาระนี่มันสอดคล้องกัน”
ทั้งนี้ ขณะนี้ดูเหมือนว่ากองทุนประกันสังคมจะไม่มีปัญหาในการมารวมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากนัก เพราะวันนี้สมาชิกในกองทุนประกันสังคมก็เจ็บช้ำ เพราะเสียเงิน เสียเบี้ยประกันทุกเดือน แต่สิทธิประโยชน์หลายๆ อย่างดันน้อยกว่า 30 บาท
“ผลประโยชน์สูสีกัน แต่คนหนึ่งเสีย คนหนึ่งไม่เสีย มันก็มีความรู้สึกเหลื่อมล้ำ ผู้บริโภคก็มีการรณรงค์ ปีนี้ก็จะบอกว่า ยกเลิก ไม่จ่ายเงินให้สำนักงานประกันสังคม รู้สึกจะเป็นเป้าใหญ่ของกลุ่มผู้บริโภค พวกมูลนิธิผู้บริโภค พวกสหภาพ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคก็ยกเรื่องของการปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน เดือนละ 200 กว่าให้กับ สนง.ประกันสังคม เพราะเขาคิดว่าจ่ายไปแล้วทำไมสิทธิประโยชน์ยังน้อยกว่า 30 บาท ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น”
ขรก.งดให้สวัสดิการคนใหม่
แต่ก็ยอมรับว่าการรวมกองทุนสวัสดิการข้าราชการเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะข้าราชการมีระบบการรักษาสุขภาพที่เรียกว่าหรูหราที่สุด
“กองทุนสวัสดิการข้าราชการน่าจะยาก เพราะเขาถือว่าเป็นสวัสดิการ เขาจะพูดเสมอว่า นี่ไม่ใช่ประกัน นี่คือสวัสดิการ ดังนั้นการไปลดสิทธิประโยชน์ของเขา คือการลิดรอนสวัสดิการของเขา ซึ่งโอเค เราก็ไม่ว่ากัน ว่า พ.ร.บ.ของสวัสดิการข้าราชการนี่เราอาจจะไปดึงให้ลงมาเหมือนกับ สปส.กับ 30 บาท มันคงยาก นอกจากจะเป็นการเฟดเอาต์ เฟดเอาต์ก็คือ คนที่ได้อยู่ก็ได้ไป แต่คนที่เข้าใหม่ต้องมีการยกเลิกนะ”
เรื่องนี้แว่วๆ มาว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ฝ่ายข้าราชการก็ไม่ยอม และฝ่ายการเมืองก็กำลังจะยอมให้ข้าราชการ ดังนั้นแผนการรวม 3 กองทุน ถ้าจะสะดุดก็สะดุดเพราะฝ่ายการเมืองอยู่ดี
“ตอนนี้ที่ทราบเขาพยายามไม่จ้างพนักงาน ที่เป็นข้าราชการ จะเป็นลูกจ้างประจำ ซึ่งจะให้หลุดออกจากระบบนี้ แต่ปรากฏว่าก็มีข้อเสนออีกแล้วว่าให้ลูกจ้างราชการนี่ไปได้สิทธิประโยชน์ให้เหมือนกับข้าราชการอีก มีการเสนอเข้ามาแล้ว ซึ่งก็กลายเป็นว่ากลับไปอยู่ในวงจรเดิม ว่าไปเอาคนที่เป็นลูกจ้างเข้าไปในระบบให้ได้สิทธิประโยชน์ เพราะตอนนี้เขาอยู่ภายใต้สิทธิประกันสังคม และเมื่อเขาเกษียณแล้วเขาก็ต้องไปอยู่ 30 บาท พวกลูกจ้างก็ต่อรองบอกไม่เอา จะเอาให้เหมือนกับระบบของราชการ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าฝ่ายการเมืองจะตัดสินใจอย่างไร”
ท้ายที่สุดแล้วจะต้องดูว่า มันขึ้นอยู่กับความต้องการในระดับการเมืองว่ากล้าที่จะผลักดันการรวม 3 กองทุนแค่ไหน โดยเฉพาะในฝ่ายข้าราชการ
ไม่เก็บเบี้ย-ลดแรงต้านประกันสังคม
ทั้งนี้ หากศึกษาโมเดลต่างประเทศว่าเขารวมกองทุนด้านสุขภาพอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดแรงต้าน ก็มีวิธีคือ รัฐบาลก็ต้องไปรับภาระตรงนั้นแทนเขา หรือไม่เก็บเบี้ยประกัน
“เหมือนประเทศอังกฤษแต่ก่อนมันก็มีหลายกองทุน และบางกองทุนก็จ่ายเยอะจ่ายน้อย สุดท้ายแล้วรัฐบาลบอกว่า สุขภาพคือฟรีสำหรับทุกคน ทุกคนก็ยอมเข้ามาในระบบ เพราะเขาเคยจ่ายอยู่เดิม แล้วมาบอกว่าไม่ต้องจ่ายแล้วได้สิทธิประโยชน์เท่ากันหมด และรัฐบาลก็จ่ายให้หมด”
ที่จริงรัฐบาลไม่ได้เสียอะไร เพราะสามารถไปเก็บคืนที่ภาษีรายได้แทน คือสามารถเก็บภาษีรายได้มาเป็นส่วนการดูแลสุขภาพได้ เช่น สมมติว่ามีการเก็บภาษีรายได้เท่าไร ก็เสนอว่า 2% จากภาษีรายได้ที่เก็บมาจะนำไปเป็นงบประมาณในส่วนดูแลสุขภาพ
“คุณไม่มีรายได้ คุณเป็นคนจน คุณก็ไม่เสีย ดิฉันก็เสียอยู่ดี เพียงแต่ดิฉันไม่ได้เสียไปกับกองทุนประกันสังคม แต่เสียให้กับรัฐบาลเลย รัฐบาลก็จ่ายมาเป็นประกันสุขภาพ มันก็หักเงินนั่นแหละ เพียงแต่ไม่ได้เรียกเป็นกองฉันกองเธอ ฉันจ่ายเธอไม่จ่าย เธอมีรายได้เธอก็จ่าย ฐานรายได้มันก็จะใหญ่”
ทั้งนี้ยังพบว่าบางประเทศ อย่างฝรั่งเศส ไม่ได้เก็บเฉพาะจากรายได้ แต่เก็บจากภาษีทรัพย์สินด้วย
“เขาบอกเลยว่า ส่วนหนึ่งของรายได้จากการเก็บภาษีทรัพย์สินนี่เขาจะเอาไปอุดหนุน แล้วทำให้อัตราที่เขาเก็บจากรายได้ต่ำมากแค่ 0.75% ในขณะที่ประเทศอื่นเก็บกัน 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เพราะว่าเก็บจากรายได้อย่างเดียว แต่ฝรั่งเศสเขาบอกว่ามันมีคนรวยไม่ได้มีแต่รายได้ มีทรัพย์สิน ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องเอาภาษีจากทรัพย์สินมาโปะด้วย พอฐานภาษีมันกว้าง อัตราภาษีที่ต้องเก็บจากรายได้ก็ลดลง เขาก็มีวิธีการเก็บโดยไม่ต้องเก็บแบบที่เราเก็บกันอยู่”
ดังนั้นเรื่อง “เงิน” ในการบริหาร ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะมีทางเลือก และมีทางออกที่เป็นไปได้
ปัญหาสำคัญจึงมาตกอยู่กับกลุ่มต้านที่มีอิทธิพลสูงอย่างกลุ่มหมอโรงพยาบาลต่างๆ ที่ทุกวันนี้ได้ผลประโยชน์จากการจ่ายยาแพงให้กลุ่มข้าราชการ เพื่อทำกำไรโดยเฉพาะ
ตรงนี้รัฐบาลก็ดูแนวทางจากประเทศเกาหลีได้
“ประเทศเกาหลีก็เพิ่งรวมกันได้ แล้วใช้เวลา 20 กว่าปีกว่าจะรวม เพราะมีแรงต้านเยอะ แต่แรงต้านของเกาหลีไม่เหมือนไทย เพราะแรงต้านของเกาหลีนั้น ผู้ให้บริการ ซึ่งแพทย์ส่วนมากเป็นเอกชน แล้วโดยทั่วไปผู้ให้บริการจะไม่ชอบให้มีผู้คุมรายเดียว เพราะหมายความว่าอำนาจต่อรองเขาจะลดลง คล้ายๆ ว่าแพทย์แต่ก่อนเคยต่อรอง กองทุนเล็กก็ต่อรองได้เยอะ เดี๋ยวนี้กลายเป็นรัฐบาลคนเดียว คุณไม่มีอำนาจต่อรอง คุณหนีไม่พ้น อย่างไรคุณก็ต้องคุยกับเขา ดังนั้นรัฐบาลมักจะเข้ามากด อัตราค่าตอบแทนแพทย์ ค่าอะไรทุกอย่าง เข้ามากดๆๆ หมดเลย เพราะเขาถือว่าเขาเป็นซิงเกิลเพลเยอร์ ดังนั้นกลุ่มผู้ให้บริการในเกาหลีก็ต่อต้านกันมาก ไม่ต้องการให้ระบบนี้เข้ามา เพราะเขารู้ว่ารัฐบาลจะเริ่มมาคุมค่าตอบแทนของเขา แต่สุดท้ายแล้วก็มีการพบกันครึ่งทาง ก็คือเขาเพิ่มเงินเดือนแพทย์ให้ประมาณ 40% แล้วก็ไม่เอาระบบดีอาร์จีมาใช้”
ดร.เดือนเด่นกล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลของรัฐเสียส่วนมาก ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ก็เป็นโรงพยาบาลรัฐ จึงคิดว่าแรงต้านอาจจะไม่มากเท่าโรงพยาบาลเอกชนเหมือนประเทศเกาหลี
“ถ้าเป็น รพ.รัฐอย่างเดียวก็จะบริหารได้ง่ายหน่อย ถ้าเกิดมีเอกชนเราก็ต้องมานั่งคิดดูว่า ถ้าเผื่อเขารับประกันสังคมเขาก็ต้องรับ 30 บาทแล้ว ตอนนี้ก็คือเอกชนจะต้องเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมดทั้งกอง ไม่ใช่อยู่เฉพาะประกันสังคม อันนี้เราก็ต้องคิดดูว่าเราจะเอาเอกชนเข้าหรือไม่”
รวม 3 กองทุน-DRG เดียว
อย่างไรก็ดี ดร.เดือนเด่นมองว่า การรวม 3 กองทุนเข้าไว้ด้วยกันจะมีประโยชน์มาก เพราะนอกจากเรื่องสิทธิประโยชน์ และเบี้ยประกันที่ต่างกันแล้ว ยังมีเรื่องของการเบิกจ่ายที่สับสนกันอยู่มาก
“สมมติดิฉันเป็นภรรยาของผู้ที่ทำงานรัฐวิสาหกิจ เขาก็มีกองทุนของเขา ดิฉันก็มีสิทธิ์ได้ของเขา แต่ดิฉันก็เป็นประกันสังคม ดูแล้วจะเบิกทางไหน มันยุ่งกันไปหมด กว่าจะได้เงินครบก็เหนื่อย เพราะว่ามันมีหลายระบบมันก็เลยยุ่งกัน เพราะต้องเบิกอันนี้ก่อนแล้วค่อยไปเบิกอันนี้ แทนที่จะเป็นระบบเดียวก็ตัดออกไปเลย เบิกทีเดียวก้อนเดียว เดี๋ยวก็ไปเถียงกันอีก กองทุนฉันกองทุนเธอ ใครรับฉันไม่รับ รู้สึกจะมีปัญหากันเยอะมาก ยาเบิกได้ เบิกไม่ได้ เป็นต้น”
ที่สำคัญขณะนี้ ประกันสังคม และ 30 บาทยังมีปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์ในการใช้ยาด้วย ขณะที่ข้าราชการดูเหมือนเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่งเพราะหมอมักจะจ่ายยาแพงๆ ให้
“ดิฉันคิดว่าในภาพรวมนี่ การมีหลายกองทุนก็โอเค เพียงแต่มันจะต้องมีหน่วยงานกลาง ที่มาบริหารให้มันเป็นระบบเดียวกัน ไม่ให้มีการเขย่งกัน อย่างตอนนี้ที่สำคัญก็คือว่า มันไม่ควรจะเป็นในลักษณะที่ว่าผู้ป่วยเดินเข้าไปใน รพ.แล้ว รพ.จะต้องดูก่อนว่าท่านมาจากไหน แล้วตัดสินใจว่าเขาจะรักษาท่านอย่างไร มันเป็นคนที่มีชนชั้นไม่เท่ากันแล้ว ทำไมต้องถามว่าคุณมาจาก 30 บาท หรือคุณมาจาก สปส. ถ้าเผื่อเป็นข้าราชการมาเลย เตียงพิเศษ มันไม่ใช่ เราเป็นคนด้วยกัน”
ดังนั้นตามหลักการแล้ว ผู้ที่กำหนดต้นทุน เช่น อัตราการเบิกจ่าย จึงควรจะเป็นเจ้าเดียวกัน
“คุณจะมีหลายกองทุนก็ช่าง แต่ดีอาร์จีสำหรับโรคไต เดินเข้ามา เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการอะไรอย่างนี้ มันถึงจะถูกต้อง เพราะมันโรคเดียวกัน ดังนั้น ตอนนี้ทั้ง 3 กองทุนก็ยังไม่คุยกัน ทุกคนแย่งที่จะทำดีอาร์จีของตัวเอง แล้วก็ไม่ยอมกันว่าเอาข้อมูลมาพูลกันให้หมดทั้ง 3 กองทุน แล้วหาต้นทุนที่แท้จริง กลายเป็นว่ากองเธอกองฉัน มันก็เลยยิ่งรวมกันยากใหญ่เลย เพราะว่าทุกคนก็ไปทำต้นทุนของตัวเอง”
ดังนั้นจึงคิดว่า การให้มีหน่วยงานที่ 3 เข้ามาเป็นหน่วยงานกลางที่จะดูแล เป็นเรื่องเหมาะสม
“ต้องมีหน่วยงานกลางที่มาบังคับ เอาข้อมูลต้นทุนทั้งหมดเข้ามาแล้วก็คิดดีอาร์จีให้มันเหมือนกัน อย่างน้อยเป็นระบบฮาโมไนเซชัน ในระดับแรก อยากเป็น 3 กองทุนก็ไม่ว่า แต่ดีอาร์จีให้เหมือนกัน”
คือในความพร้อม สปสช.วันนี้พร้อมที่สุดที่จะดูแลระบบสุขภาพทั้งหมด แต่ก็ยอมรับว่าแรงต้านจาก 2 กองทุนจะมีมาก หน่วยงานกลางจึงเหมาะสมที่สุดแล้ว โดยมองว่ากระทรวงสาธารณสุขเหมาะสมที่สุด เพราะนอกจากจะต้องดูแลงบประมาณแล้ว ยังต้องมีผู้รับผิดชอบในการใช้งบประมาณนั้นๆ ด้วย เมื่อมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการใช้เงิน การใช้เงินก็จะมีการระวังมากขึ้น ไม่ใช่ขาดทุนและของบกลางไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครตรวจสอบอย่างทุกวันนี้
“สมมติทุกอย่างมันอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ต้องรับผิดชอบ ถ้าเผื่อข้าราชการใช้เงินเยอะเกินไป กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องรับผิดชอบ ตอนนี้ถามว่าใครรับผิดชอบ มีเงินเป็น 6 หมื่น 7 หมื่น 8 หมื่น 9 หมื่นล้าน ใครจะรับผิดชอบ เพราะกรมบัญชีกลางยังบอกว่า ฉันไม่รับผิดชอบ ฉันมีหน้าที่เขียนเช็ค สธ.บอกฉันไม่เกี่ยว เรื่องนี้มันกระทรวงการคลัง อะไรแบบนี้ สรุปแล้วตอนนี้มันอยู่ในรูปแบบที่ว่า ไม่รู้ใครรับผิดชอบ”
ที่ผ่านมารัฐบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการตั้งงบกลางฯ แล้วงบกลางฯ ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรับผิดชอบ ไม่มีเจ้าภาพ
“มันเป็นหลักสากล เขาอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกันทุกประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่อยู่ภายใต้มากกว่า 1 กระทรวง มีแต่ประเทศไทย”
รัฐบาลสามารถทำได้โดยคำนวณว่าถ้าจะยกเลิก สปส.ตอนนี้ เงินที่จะหายไปจากรัฐบาลจะหายไปเท่าไร แล้วไปเพิ่มเป็นภาษี
“การที่เราบริหารจัดการภาษีให้ดี มันจะทำให้รัฐบาลบริหารการคลังของระบบสุขภาพโดยการรับผิดชอบมากขึ้น เพราะตอนนี้จ่ายไปมากก็ไปกู้มา ไปคว้ามา ไม่ค่อยรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นต่างประเทศเขาบอกเลยนะ ว่าถ้าจาก 8 หมื่นเป็น 9 หมื่นล้าน ภาษีมันต้องขึ้นแล้ว จาก 2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2.05 อะไรอย่างนี้ คนที่มีแต่จะแบมือขอ ขอเพิ่มๆๆ ก็ต้องคิดแล้วว่า เวลาขอเพิ่มมันมีภาระนะ นี่ระบบของประเทศไทยคือรู้สึกว่าทุกอย่างมันฟรีไปหมด รัฐบาลให้เพิ่มไปหมด โดยที่คนไม่มีความรู้สึกว่าแล้วตัวเองหรือผู้เสียภาษีต้องรับผิดชอบอะไร”
ไม่เช่นนั้นจะไม่มีแรงกดดัน
“ในต่างประเทศเขาจะคิดออกมาเลยว่า ถ้าเผื่อเก็บ 2 เปอร์เซ็นต์ฉันมีเงินอยู่แค่นี้นะ แต่เธอใช้มากกว่านี้มันต้องเก็บมากขึ้นนะ ภาษีของคุณก็จะกลายเป็น 2.05% ทุกคนต้องรับผิดชอบ ประกาศให้รู้เลย ว่าถ้าคุณใช้มาก คุณก็ต้องเสียภาษีมาก จะได้มีแรงกดดัน ไม่งั้นไม่มีกดดันเลย จ่ายไปเรื่อยๆ อย่างกองทุนข้าราชการอีกไม่นานขึ้นไปอยู่ที่แสนล้านบาทแน่นอน”
เชื่อต้นทุนลด 30% ชาติประหยัด 6 หมื่นล้าน
เจ้าภาพยังสำคัญต่อการบริหารต้นทุนด้วย
“อย่างเกาหลีใต้นี่ในรายงานของเราก็ไปทบทวนว่าเกาหลีใต้บอกว่า หลังจากรวมหลายกองทุนเป็นกองทุนเดียว ประหยัดต้นทุนไปได้ 20-30% เขาบอกที่ประหยัดได้มากที่สุดก็คือเรื่องของอำนาจในการต่อรอง”
กล่าวคือหากมีหน่วยงานกลาง หรือให้ สปสช.ในการดูแลเป็นหน่วยงานเดียว อำนาจต่อรองเกี่ยวกับเรื่องยาก็จะมีมาก อย่างทุกวันนี้ที่มีระบบดูแลสุขภาพกระจัดกระจาย โดยเฉพาะข้าราชการท้องถิ่นที่อำนาจการต่อรองน้อย ยิ่งเสียเปรียบบริษัทยา
“รัฐบาลต้องคุมหมด แล้วเจรจากับเจ้าเดียว ถึงแม้หลายกองทุน สธ.ก็เป็นคนซื้อคนเดียว ดังนั้นอำนาจต่อรองจะสูงมาก แล้วจะบีบบริษัทยาได้เยอะ เพราะว่าต้นทุนยาของข้าราชการทุกวันนี้สูงถึง 80% ซึ่งสูงมาก”
เมื่อรัฐบาลบริหารเรื่องราคายาได้แล้ว ก็มาทำในส่วนของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของทั้ง 3 กองทุนซึ่งทุกวันนี้มีจำนวนภาระค่าใช้จ่ายที่ยังซับซ้อนอยู่มาก
ถ้ารัฐบาลทำสำเร็จจะทำให้ประหยัดเงินค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพได้มากถึง 30%
เมื่องบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมดมีประมาณ 2.3 แสนล้านบาท หากสามารถประหยัดเงินได้ 30% ก็เท่ากับ 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย
“เรารู้ว่าฝ่ายการเมืองต้องการคะแนนเสียง แต่ถ้าคะแนนเสียงทำให้ระบบการดูแลสุขภาพประชาชนดีขึ้นด้วย ก็เห็นด้วยว่าควรจะมีการบริหารจัดการให้ดีขึ้น”
ดังนั้นจึงคิดว่าการรวม 3 กองทุนเข้ามาอยู่ในการบริหารภายใต้หน่วยงานเดียวกันเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด แทนที่จะรวม 3 กองทุนแล้วให้ สปสช.ดูแลเพราะจะเกิดแรงต้านอย่างมาก
ไม่เช่นนั้นงบประมาณแผ่นดินในส่วนของการดูแลสุขภาพก็จะเพิ่มไม่หยุด เป็นภาระก้อนใหญ่ที่แก้ปัญหาไม่ได้สักที!