เบื้องหลัง สปสช.เปิดศึกเดินหน้ารวบ 3 กองทุน “30 บาท-ประกันสังคม-สวัสดิการข้าราชการ” หวังคุมงบประมาณสุขภาพทั้งระบบ ขณะเดียวกันสนองนโยบาย “ทักษิณ-เพื่อไทย” ก๊อก 2 ต่อยอด “30 บาทรักษาทุกโรค” โกยคะแนนนิยมล้วนๆ เหตุช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้คนไทยทั้งประเทศ ส่วนอีกฝ่าย “แพทย์โรงพยาบาลรัฐ-ข้าราชการ สธ.” เข้าทางเจ๊หน่อย ดันตัวแทน 4 คนเข้าบอร์ด สปสช.คานอำนาจ หวั่น สปสช.คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ! หมอชนบท VS หมอ รพ.รัฐซัดกันนัว-ผลประโยชน์กว่า 2.3 แสนล้านบาทนี้จะตกในมือใคร?
เมื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในแง่ผลสะท้อนกลับด้วยคะแนนเสียงทางการเมืองที่ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี พ.ศ. 2544
11 ปีผ่านมา ยังไม่มีนโยบายใดมาโค่นแชมป์นี้ได้ จากรัฐบาลอื่นๆ ทั้งรัฐบาลทหารของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ผ่านมาที่ทำได้แค่ไม่เก็บเงิน 30 บาท ใช้แค่บัตรทอง เพื่อให้คนลืมภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคของไทยรักไทย
แม้กระทั่งเจ้าของนโยบายอย่างพรรคเพื่อไทยเอง วันนี้ก็ยังไม่มีนโยบาย STEP 2 ประกาศออกมาตูมใหญ่ได้ ทั้งๆ ที่คาดหวังอย่างมากว่านโยบายต่อยอดจาก 30 บาทรักษาทุกโรค จะเป็นนโยบายเด็ดเตรียมไว้โกยคะแนนเสียงเลือกตั้งรอบใหม่
ว่ากันว่าเหตุที่อำนาจฝ่ายการเมืองยังล้วงลึก ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะอำนาจการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าไปอยู่ในมือ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ใหญ่ขึ้นทุกวัน ขณะที่ สธ.หรือกระทรวงสาธารณสุขเองถูกลดบทบาทลง
แถมที่ปวดหัวกว่าคือวันนี้ ระหว่าง สปสช.ไม่เพียงแค่ปัญหาลึกๆระหว่าง สปสช.กับกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังประกอบไปด้วยปัญหาระหว่างฝ่ายแพทย์ชนบท ฝ่ายแพทย์โรงพยาบาลรัฐ ฝ่ายข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายการเมือง ที่กำลังชกกันชุลมุนวุ่นไปหมด!
และดูเหมือนฝ่ายการเมืองกำลังแก้เกมนี้อย่างหนัก เพื่อเป้าหมาย step 2 คือต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยด้านสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นให้ได้ เพราะฝ่ายการเมืองมองว่าอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์ หรืออะไรที่ “โดน” ฝ่ายการเมืองก็จะได้ประโยชน์กลับมาในเรื่องคะแนนเสียง หรือความนิยม
เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค”
ดังนั้นวันนี้ ฝ่ายการเมืองโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงสั่งตรงมาถึง วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เดินเครื่องนโยบาย step 2 ของเพื่อไทย โดยใช้ สปสช.เป็นเครื่องมือในการจัดการระบบสุขภาพทั้งหมด
ขณะเดียวกันให้ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายนี้เพื่อคนไทยทุกคนจะมีหลักประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้โครงสร้างที่หน่วยงานต่างๆ และการเมืองได้ล้วนๆ
หมอทะเลาะกับหมอ “สปสช.VS สธ.”
“เรื่องปัญหาการจัดการระบบสุขภาพตอนนี้ พูดได้เลยว่าเป็นเรื่องของหมอที่ขัดแย้งกับหมอ และเกี่ยวกับผลประโยชน์ก้อนใหญ่” แหล่งข่าวในวงการสาธารณสุขกล่าว
พร้อมเปิดเผยว่า สปสช.กลายเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากขึ้นๆ เพราะเป็นฝ่ายดูแลเงินก้อนใหญ่มาก ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของ สปสช.ก็ทำให้ฝ่ายข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขถูกลดอำนาจลง
“ปัญหาคือ สปสช.ก็คิดการใหญ่ และคิดการใหญ่มานานแล้ว” แหล่งข่าววงการสาธารณสุขกล่าว
แหล่งข่าววงการสาธารณสุข เปิดเผยว่า สปสช.มีแผนการใหญ่คือดูแลสุขภาพทั้งระบบมาตั้งแต่ สปสช.ถูกตั้งขึ้น โดยแนวความคิดทั้งหมดนั้นสืบทอดมาจากไอเดียหรือความคิดของกลุ่มหมอชนบทในสายของ นพ.ประเวศ วะสี ที่เป็นเรื่องของ UC หรือ Universal Coverage หรือการรักษาพยาบาลแบบครอบคลุมและทั่วถึงทุกคนตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
แนวคิดนี้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เคาะซื้อในแทบจะทันที และแปลงเป็นนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” นโยบายประชานิยมยุคแรกที่ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี พ.ศ. 2544
ดังนั้น สปสช.จึงถูกตั้งขึ้น โดยมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นตัวหนุน โดยมีหน้าที่สำคัญในการบริหารเงินด้านสุขภาพของประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มประกันสังคม ส่งให้กับโรงพยาบาลรัฐที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขทั้งหลาย
ยกแรก เมื่อ สปสช.ดูแลเงินทั้งหมด แต่กระทรวงสาธารณสุขดูแลโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลรัฐจะได้เงินมาได้นั้นก็ต้องผ่านทาง สปสช. อำนาจของกระทรวงสาธารณสุขจากที่เคยยิ่งใหญ่ดูแลทั้งเงินทั้งโรงพยาบาลก็ถูกลดทอนบทบาทลงอย่างมาก
ที่น่าสนใจคือ เนื้อใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับปี พ.ศ. 2545 ยังมีแผนระยะยาวที่จะทำให้ สปสช.ใหญ่มากขึ้นไปอีก เพราะในอนาคต สปสช.จะมีอำนาจดูแลเงินเพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพของคนไทยทั้งหมด
แนวคิดการรวม 3 กองทุน คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไว้ให้ สปสช.บริหารจึงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นี้แล้ว
ตั้งแต่มาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12
โดยมาตรา 5 ระบุไว้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดย พ.ร.บ.นี้
มาตรา 5 นี้คือแนวคิดเต็มๆ ของหลัก Universal Coverage
ส่วนมาตรา 9 เป็นเรื่องของขอบเขตของสิทธิรับบริหารสาธารณสุขของบุคคล 4 กลุ่มที่ต่อไปจะต้องใช้สิทธิดังกล่าวใน พ.ร.บ.นี้ ได้แก่ (1) ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ, (2) พนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, (3) พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ และบิดามารดาคู่สมรส บุตร หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลโดยอาศัยสิทธิของบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3)
ทั้งนี้เมื่อ พ.ร.บ.ตามวรรค 3 ใช้บังคับแล้ว ให้รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่กรณี ดำเนินการจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับกองทุนฯ
“ชัดเจนอยู่แล้วว่า เงินส่วนการรักษาพยาบาลของข้าราชการจะต้องมีการโอนให้กองทุนฯ”
เมื่อไปดูมาตรา 10 ก็จะคล้ายกับมาตรา 9 แต่เป็นกลุ่มของผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ที่สำนักงานประกันสังคมจะต้องส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนฯ
ขณะที่มาตรา 11 เป็นกรณีของลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน จากกองทุนเงินทดแทน และมาตรา 12 เป็นกรณีของผู้ประสบภัยจากรถตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรัฐ ที่ สปสช.มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเข้ากองทุนสุขภาพถ้วนหน้าได้ด้วย
“แผนที่จะให้ สปสช.ดูแลด้านสุขภาพทั้งหมดมีมานานแล้ว แต่ตอนที่มีการเสนอร่างกฎหมายนี้ก็ไม่มีใครคัดค้าน มีแค่กลุ่มแพทย์กลุ่มเดียวที่คัดค้านแต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น สปสช.จึงมีอำนาจทุกอย่างอยู่ในมืออยู่แล้ว เพียงแต่จะหาวิธีไหนที่จะทำให้ สปสช.ไปดูแลกองทุนสุขภาพอื่นๆ ได้ตาม พ.ร.บ.นี้โดยไม่ถูกต่อต้าน”
ดังนั้น จากการสังเกตการณ์การขับเคลื่อนของ สปสช.ในช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นได้ชัดว่ามีการพยายามเดินหน้าเรื่องนี้อย่างมาก
เสนอยุบกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ
เริ่มตั้งแต่ การให้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นแพทย์สายตรงกลุ่มแพทย์ชนบท เดินหน้าในเรื่องของกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือ พ.ร.บ.ประกันภัยบุคคลที่ 3 ว่าเป็นกองทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพในการจ่ายค่าชดเชย
“มีแต่เม็ดเงินเข้า ทุกคนเห็นตอนเม็ดเงินเข้า แต่ตอนเม็ดเงินออกไม่มีใครเห็น ดังนั้น กองทุนผู้ประสบภัยจากรถจึงเหมือนแดนสนธยา และเชื่อว่ามีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอยู่ด้วย”
ดังนั้น นพ.อำพล จึงเสนอว่า กองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถควรยุบทิ้ง แล้วนำเงินไปรวมกับ 3 กองทุนที่จะมีแนวคิดว่าจะมีการนำมารวมกัน และเสนอให้รัฐบาลแก้กฎหมาย เพื่อยุบกองทุนนี้เป็นอันดับแรก และนำเงินไปรวมไว้ที่ สปสช.
การต่อสู้ของ สปสช.ก้าวนี้ น่าสนใจ และเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลยอมทำตาม เพราะกลยุทธ์ในการยุบกองทุนผู้ประสบภัยจากรถถูกทำให้ชอบธรรมเมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายประกันสังคม “ฉุกเฉินรักษาได้ทุกโรงพยาบาล” นอกจากจากทำให้กลุ่มประกันสังคมเห็นดีเห็นงามที่จะมารวมกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้น หลังจากที่ สปสช.พยายามจูงใจด้วยการบอกว่า ประกันสังคมถ้ามารวมกับ 30 บาท ลูกจ้างก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้ประกันสังคมเหมือนกับประชาชนที่มารักษา 30 บาทที่เสียแค่ 30 บาท แต่ได้รับการรักษาพยาบาลไม่ต่างกันมากนัก การที่ “ฉุกเฉินรักษาได้ทุกโรงพยาบาล” ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 ยังเป็นนโยบายจูงใจคนประกันสังคมให้เชื่อมั่นในการบริหารงานของ สปสช.มากขึ้นด้วย
“สปสช.ไม่ได้ทำเรื่องเดียว แต่ละเรื่องที่เขาทำ จะเน้นย้ำประเด็นที่เซนซิทีฟกับสังคมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว ตรงนี้เพื่อดึงดูดใจคนประกันสังคม และกลุ่มข้าราชการให้ไว้ใจการบริหารงานของ สปสช.มากขึ้น”
โดยอีก 2 เรื่องที่ สปสช.ทำ โดยเป็นมติ สปสช.ออกมา และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขานรับและจะเริ่มใช้จริงในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 นี้คือการขยายสิทธิให้ทั้ง 3 กองทุนดูแลผู้ป่วยเอดส์ และไต อย่างเท่าเทียมด้วย เรียกได้ว่า สปสช.กำลังทำในสิ่งที่เรียกว่า Act as a Hero
“ที่บอกว่าเป็นเรื่องเซนซิทีฟในวงการสาธารณสุขคือ ทั้งเรื่องเอดส์และไตเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นในสังคมไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIVจากสามี กรณีฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลเอกชนหมอไม่รับรักษา หรือแม้กระทั่งกรณีผู้ป่วยไตวาย ที่มีคนพูดกันมากว่า ใครเป็นโรคนี้มีแต่ล่มจม แทบจะต้องขายสมบัติมารักษาตัวอย่างนี้เป็นต้น”
เมื่อ สปสช.หันมาทำ 3 เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง “โดน” คนกลุ่มใหญ่ให้หันมามองบทบาท สปสช.มากขึ้น เรียกว่า ซื้อใจภาคประชาชน
ขณะเดียวกันนอกจากซื้อใจภาคประชาชนแล้ว สปสช.ที่มีแผนการดูแลสุขภาพของ สปสช.ทั้งระบบนั้นจึงขาดแค่เงิน เพราะเงินงบประมาณที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลคนทั้ง 3 ระบบ
ดึงงบสุขภาพ “อปท.” 9 พันล้านดูแลเอง
ก้าวต่อไป สปสช.จึงต้องการดูแล อปท.หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นสเต็ปต่อจากดูแลกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ และเงินก้อนนี้ก้อนใหญ่มาก
เรื่องนี้ วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นคนเดินหน้าเรื่องนี้เอง โดยมีนโยบายพิเศษที่เห็นได้ประจักษ์ตา ก็คือ กรณีฉุกเฉินรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่เริ่มมาตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 นั้น เป็นสิทธิที่ครอบคลุมแค่ 3 กองทุนคือ สวัสดิการข้าราชการ, ประกันสังคม และ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ยังไม่ครอบคลุมข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว จำนวน 80,000 คน เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกฎหมายและระเบียบเฉพาะ รวมทั้งการเบิกจ่ายค่ารักษาแยกส่วนแต่ละองค์กรภายใต้กระทรวงมหาดไทยที่แตกต่างจาก 3 กองทุน
ดังนั้นจึงอยากให้ อปท.มีสิทธิรับการบริการสาธารณสุขตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยขณะนี้ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำแนวทางแล้ว และตั้งเป้าให้ อปท.มารวมกองทุน 30 บาทภายในเดือนตุลาคม 2556 เป็นอย่างช้า
หมายความว่าอะไร?
หมายความว่า ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวจำนวน 8 แสนคน ตรงนี้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดสรรให้แห่งละไม่เกินร้อยละ 40% และ อปท.ออกให้อีก 60% ซึ่ง สปสช.จะเข้ามาดูแลระบบการรักษาพยาบาลให้ แต่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องนำเงินในส่วนนี้ซึ่งตกอยู่ประมาณ 12,000 บาทต่อหัว โอนให้ สปสช.ด้วย ซึ่งจะมีเม็ดเงินประมาณ 9,000 ล้านบาทเข้าไปในการบริหารงานเพิ่มของ สปสช.
“ถามว่าดีไหม ก็ต้องตอบว่าดี เพราะตอนนี้ระบบที่มีค่ารักษาพยาบาลต่อหัวมากที่สุดคือกลุ่มข้าราชการ ส่วนกลุ่มที่มีงบประมาณลงไปในเรื่องการรักษาพยาบาลที่รัฐคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้เลยอีกกลุ่มหนึ่งคือ อปท.นี่แหละ เพราะมีเพียง 40% ที่เป็นงบจากส่วนกลาง และอีก 60% เป็นงบที่กระจายไปให้ท้องถิ่นจัดการกันเอง”
ปัญหาคือ ระบบการทำงานของ อปท.ทุกวันนี้ นอกจากจะรับเอาเครือญาติเข้ามาทำงานกันเป็นรุ่นต่อรุ่นแล้ว ยังพบว่า เครือญาติส่วนหนึ่งที่นิยมให้เป็นเจ้าหน้าที่ของ อปท.มีปัญหาเรื่องโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เงินรักษาจำนวนมาก
“อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ นะ อย่างไตวายนี่ สมัยก่อนถึงกับมีคนที่เป็นโรคไตวายจ้างข้าราชการผู้หญิงโสดในจำนวนถึง 500,000 บาทเพื่อแต่งงานไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลโรคไตวายของสวัสดิการข้าราชการมาแล้ว แต่สมัยนี้สังคมไทยที่นิยมช่วยเหลือกันก็เอาเครือญาติที่เป็นโรคไต เบาหวาน และความดันเข้ามาเป็นพนักงานเพื่อให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจำนวนมาก แต่ไม่มีระบบเข้าไปตรวจสอบเลย งบประมาณด้านสุขภาพของรัฐบาลก็เลยบานปลายมากขึ้นทุกปี”
กองทุนข้าราชการ-ปมขัดแย้งใหญ่
แหล่งข่าววงการสาธารณสุขมองว่า การรุกคืบเอากองทุนผู้ประสบภัยจากรถ และกองทุนสุขภาพของ อปท.มาดูแลเองของ สปสช.นั้น น่าจะไม่ยากนัก แต่ที่ยากคือกองทุนประกันสังคม และยากที่สุดคือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ
โดยกองทุนประกันสังคมนั้น ตามที่สังเกตจะเห็นได้ว่าหากผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินเองเพื่อรักษาพยาบาลแต่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม แต่มีผู้ต่อต้านคือกลุ่มผู้ได้ประโยชน์จากเงินกองทุนประกันสังคม คือ โรงพยาบาลเอกชน และคณะกรรมการด้านแรงงาน เป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ สปสช.ได้ใช้วิธีทางกฎหมายโดยให้ทางกฤษฎีกาตีความตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ โดยสมาชิกในกองทุนประกันสังคมขณะนี้มีประมาณ 9.7 ล้านคน มีการใช้งบดูแลสุขภาพในปี พ.ศ. 2554 ประมาณ 24,476.28 ล้านบาท
ขณะที่งานหินจริงๆ อยู่ที่กองทุนสวัสดิการข้าราชการ!
และกองทุนสวัสดิการข้าราชการนี้แหละที่เป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ และเป็นตัวทำให้เกิดการขัดแย้ง วิ่งเต้น และมีความพยายามเข้ามาคานอำนาจในบอร์ด สปสช.ชุดล่าสุด
ความขัดแย้งจริงๆ อยู่ตรงนี้!
“แรงต้านหลักมาจากแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐทั้งหลาย รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ด้วย”
สาเหตุหลักคือ สปสช.ไปเหยียบเท้า “เจ้าใหญ่” ให้ซะแล้ว
กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ปฏิเสธไม่ได้ และรู้กันดีในวงการแพทย์และนักวิชาการด้านสาธารณสุขกันมานานว่า เป็นเงินก้อนใหญ่ ที่ผ่านมาแพทย์มักจะสั่งยาราคาแพง ให้บริการอย่างดี และโรงพยาบาลจะได้กำไรจากส่วนนี้เป็นจำนวนมาก
อย่าแปลกใจที่ปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลจะใช้งบประมาณดูแลกองทุนสวัสดิการข้าราชการประมาณ 37,000 ล้านบาท และคุมไม่ได้จนกลายเป็น 61,844 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2554 และมี 2556 คาดว่าจะต้องใช้เงินมากถึง 66,000 ล้านบาท
รัฐบาลก็คุมไม่ได้ เอาไม่อยู่
เงินภาษีประชาชนจำนวนมากมาตกอยู่กับค่ารักษาพยาบาลของกลุ่มข้าราชการ ที่หมอถือเป็นรายได้สำคัญของโรงพยาบาลรัฐ
เมื่อ สปสช.ต้องการจะเอากองทุนสวัสดิการข้าราชการมาดูแลเอง “ศัตรูใหญ่สุด” คือแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐ ขณะที่ตั้งแต่เกิด สปสช.มา อำนาจของกระทรวงสาธารณสุขที่เริ่มลดน้อยลง ทั้งๆ ที่ข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขก็ปกครองกันแบบศักดินามาโดยตลอด กล่าวคือ หมอจากโรงพยาบาลรัฐก็จะมีการไต่เต้ามาเป็นรองอธิบดี อธิบดี รองปลัด ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข วันนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่มีใครอยากมีตำแหน่งใหญ่โต เพราะถูกลดบทบาทไปมาก
แพทย์จากโรงพยาบาลรัฐ เลยวิ่งเต้นจับมือกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข รวมกับฝ่ายการเมือง เพื่อทำอะไรก็ได้ให้ส่งคนเข้าไปอยู่ในบอร์ด สปสช.ที่เพิ่งมีการเลือกตั้งเลขาธิการใหม่เมื่อไม่นานมานี้
“การเมืองเขาก็ต้องคิดว่าจะเอายังไง ถ้ายังถือข้างหมอชนบทนโยบายก็เดินหน้าได้ แต่ถ้าถืออีกข้าง นโยบายต่อยอดจาก 30 บาทรักษาทุกโรคก็เป็นไปได้ยาก”
นายใหญ่สั่งเลือกกลุ่มหมอชนบท
ดังนั้น ศึกที่ดุเดือดที่สุดในรอบที่ผ่านมาคือ วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเลือกหรือผลักดันใครเป็นเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ระหว่าง นพ.วินัย สวัสดิวร ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มแพทย์ชนบท หรือ นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มแพทย์โรงพยาบาลศูนย์
สุดท้าย วิทยา เลือก นพ.วินัย เป็นเลขาธิการ สปสช.ต่อ ว่ากันว่า เป็นคำสั่งตรงจาก “นายใหญ่” ลงมาถึงวิทยา เพราะการเลือกข้างกลุ่มแพทย์ชนบทยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำนโยบายด้านสาธารณสุขต่อยอดจาก 30 บาทรักษาทุกโรค โดยทาง “นายใหญ่” ต้องการให้นโยบายรวม 3 กองทุน เพื่อดูแลระบบสุขภาพทั้งระบบ เป็นนโยบายเด็ดที่เป็นผลงานให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ท้ายที่สุด นพ.วินัย จึงได้กลับมานั่งเก้าอี้เลขาธิการ สปสช.
“นพ.วินัยเอง ไม่ได้เป็นสายแพทย์ชนบทโดยตรง แต่ขึ้นมาเพราะเป็นสวนกุหลาบคอนเนกชันกับกลุ่มหมอชนบท ฝ่ายการเมืองเดิมสั่งอะไรในบอร์ดไม่ค่อยได้ เพราะว่ามีแค่ 1 เสียงของรัฐมนตรีว่าการฯ ในขณะที่การเลือกตั้งเลขาฯ สปสช.ที่ผ่านมา นพ.วินัย โดนต่อต้านมากจากกลุ่มหมอโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งบีบให้ นพ.วินัยต้องยอมฝ่ายการเมืองบางส่วน เพื่อให้ทางสายหมอชนบทยังได้นั่งตำแหน่งสำคัญนี้ ทำให้ฝ่ายการเมืองถือโอกาสส่งคนของตัวเองเข้าไปจำนวนมากในคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ รวมถึงบอร์ด สปสช.บางส่วน”
เมื่อการเมืองเลือกข้างหมอชนบท ทำให้คณะผู้บริหาร สปสช.ยังเป็นสายกลุ่มแพทย์ชนบท ทั้ง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ กลุ่มแพทย์ชนบท เป็นรองเลขาธิการ, นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ เป็นสวนกุหลาบคอนเนกชันกับ นพ.วินัย และ ภญ.เนตรนภิส สุขนวนิต ผู้ช่วยเลขาธิการที่มาจากแพทย์ชนบทเช่นกัน มีเพียง นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับผู้บริหารท่านอื่นๆ
“ภญ.เนตรนภิสนี้เป็นคนที่เด็ดขาดมาก ดูแลทั้งด้านไอที และด้านแพกเกจยาต่างๆ เป็นคนที่แพทย์จากโรงพยาบาลรัฐต่างๆ ไม่ชอบมากที่สุด เพราะมองว่าออกกฎเกณฑ์บีบโรงพยาบาลรัฐอย่างมาก”
นอกจากนี้ที่ผ่านมา สปสช.ยังออกกฎระเบียบที่ทำให้กลุ่มแพทย์โรงพยาบาลรัฐไม่พอใจอย่างมาก 2 ประการสำคัญคือ
1. เดิมแพทย์จะสั่งยาให้ข้าราชการอะไรก็ได้ แต่ สปสช.กำหนดว่าแพทย์ต้องจ่ายตาม DRG หรือเหมาจ่ายรายโรค หรือตามความรุนแรงของโรค โดย สปสช.จะกำหนดว่าโรคแต่ละโรคมีความรุนแรงกี่หน่วย และ สปสช.จะจ่ายให้โรงพยาบาลต่างๆ เป็นจำนวนต่อหน่วยนั้นๆ แทนค่าใช้จ่ายที่ไม่เคยมีการควบคุม ซึ่งต่อไปนี้แพทย์จะจ่ายยาแพงเพื่อทำกำไรไม่ได้อีกต่อไป ถ้าแพทย์คนไหนสั่งแต่ยาแพงก็จะถูกผู้อำนวยการโรงพยาบาลเรียกมาคุยถึงเหตุผล แต่ถ้าหลุดไป กรมบัญชีกลางก็จะต้องลงมาดูว่าแพทย์ใช้ยาตัวใดไม่เหมาะสม ซึ่งหากพบว่ามีการใช้ยาไม่เหมาะสมก็จะมีการขอเรียกเงินคืนจากแพทย์ที่รักษามาแล้ว
2. ต่อไปเรื่องการลงทุนต่างๆ จะต้องทำผ่าน สปสช. ทั้งนี้อย่าลืมว่าเมื่อเงินค่ารักษาพยาบาลไปอยู่กับ สปสช.หมด ซึ่งแต่เดิมใครจะจัดซื้อจัดจ้างอะไรต้องผ่านกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในกำกับกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งต่อไป สปสช.จะดึงเรื่องนี้มาดูแลแทน ทำให้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขไม่พอใจอย่างมาก
“เมื่อ 30 บาทเป็นของพรรคเพื่อไทย พอยุคประชาธิปัตย์มา ข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขจึงวิ่งหาพรรคประชาธิปัตย์ จับมือเป็นพวกเดียวกัน ก็เลยมีการทำโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อเอางบประมาณมาเป็นงบก่อสร้างของกระทรวงสาธารณสุข”
สายเจ๊หน่อยวิ่งเข้าแทรก “สปสช.”
อย่างไรก็ดี เมื่อมองแล้วว่า โรงพยาบาลรัฐจะเสียผลประโยชน์ และต้องทำงานที่ถูกควบคุมอย่างหนัก และแม้นายใหญ่จะยังเลือกข้างกลุ่มแพทย์ชนบทไปแล้ว แต่ความพยายามของกลุ่มเสียผลประโยชน์ยังไม่หยุด โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข แพทย์โรงพยาบาลรัฐ โดยวิ่งเข้าหาอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนหนึ่งเพื่อเข้าไปคานอำนาจในบอร์ด สปสช.
และเข้าไปได้แล้ว 4 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เคยมีความใกล้ชิดคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ายังมีอิทธิพลในหมู่ข้าราชการอย่างมาก
ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นภรรยาของ นพ.อรุณ เผ่าสวัสดิ์ ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีในสมัยคุณหญิงสุดารัตน์เป็น รมว.สาธารณสุข, นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุขในสมัยคุณหญิงสุดารัตน์เป็น รมว.สธ., น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ ก็เป็นสายคุณหญิงสุดารัตน์ ส่วน นพ.พินิจ หิรัญโชติ แม้จะไม่เคยมีประวัติเป็นเด็กสายคุณหญิงสุดารัตน์ แต่ถูกมองว่าเข้ามาเป็นบอร์ด สปสช.ในกลุ่มนี้เช่นกัน
“ที่ต้องจับตาคือ ตั้งแต่คณะกรรมการชุดนี้เข้ามาบริหาร ไม่มีมติเรื่องใหม่ๆ ออกมาเลย คือแม้จะมีแค่ 4-5 เสียงใน สปสช.แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มนี้มาเพื่อคัดค้าน และปกป้องผลประโยชน์ให้กลุ่มแพทย์โรงพยาบาลรัฐเป็นสำคัญ”
อย่างไรก็ดี เมื่อบอร์ด สปสช.มีสัดส่วนกลุ่มข้าราชการที่ร่วมมือกับแพทย์โรงพยาบาลรัฐเข้ามาคานอำนาจมากขึ้น รวมกับแผนการรวม 3 กองทุนยังเป็นแผนใหญ่ของ สปสช.
ความขัดแย้งใน สปสช.จึงคาดได้ไม่ยากว่า จะมีการต่อสู้กันภายในบอร์ดมากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น
จุดอ่อนแพทย์ชนบท-ไม่พ้นผลประโยชน์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในส่วนของ สปสช.ที่นำโดยสายแพทย์ชนบทเองก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อน!
แหล่งข่าวอดีตข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ซ่อนอยู่ คือกลุ่มแพทย์ชนบทใน สปสช.นั้น ที่ผ่านมาได้กำหนดให้มีเงินส่วนหนึ่งเพื่อจูงใจแพทย์ในชนบท เรียกว่าค่าตอบแทนให้แพทย์ชนบทซึ่งเกิดขึ้นในยุค นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.คนแรก เป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท แต่ตอนหลังเพิ่มให้เป็น 10,000 บาท ถ้าไม่มีการเปิดคลินิกรักษาโรค ทำให้แพทย์จบใหม่มีรายได้รวมเงินเดือน ค่าโอทีและค่าตอบแทนพิเศษนี้รวมกันเดือนละ 4-5 หมื่นบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้ เมื่อให้กลุ่มแพทย์ชนบทแล้ว ก็ยังมีกลุ่มทันตแพทย์ กลุ่มเภสัชกร ที่ไม่ยอม และเรียกร้องให้มีค่าตอบแทนในลักษณะเดียวกัน ทำให้มีการกำหนดให้เป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 5,000 บาทขึ้นมา และท้ายที่สุดกลุ่มพยาบาลก็ขอเงินในส่วนค่าตอบแทนนี้เช่นกัน
ทำให้ สปสช.มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จำนวนมหาศาล และมีการเรียกร้องขอเพิ่มขึ้นทุกปี จุดนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน!
“สมมติโรงพยาบาลได้เงินมา 100 บาท โรงพยาบาลต้องนำไปใช้ 3 ส่วนคือ ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงค่ายา วิธีการที่โรงพยาบาลต่างๆ ทำคือ หักค่าตอบแทนไว้ก่อนเลย เนื่องจากเป็นเงินก้อนใหญ่ จึงมักจะถูกหักไปเกือบหรือมากกว่า 50% ของเงินที่ได้มา ที่เหลือจึงนำเงินไปซื้อยา ซึ่งเมื่อซื้อยาไม่ได้ บัญชีของโรงพยาบาลต่างๆ ก็ติดลบ เมื่อติดลบและไม่มีใครตรวจสอบ ดังนั้นก็ทำเรื่องของงบกลางมาโปะเงินในส่วนนี้ทุกปี”
นอกจากนี้ที่ผ่านมา สปสช.ก็ถูก สตง.เข้าไปตรวจสอบเพราะเนื่องจากเลขาธิการมีพฤติกรรมขึ้นเงินเดือนตนเอง และบอร์ดยังมีการนำเงินในส่วนขององค์การเภสัชกรรมไปเที่ยวต่างประเทศ
จุดนี้ สปสช.ก็ต้องตอบคำถาม!
นอกจากนี้ ฝ่ายการเมืองเองก็ใช่ว่าจะเลือกข้างกลุ่มแพทย์ชนบททั้ง 100% เพราะฝ่ายการเมืองก็ยังอยากชี้นิ้วสั่ง สปสช.ให้ไปในทางที่ตนเองได้ประโยชน์ทางการเมืองด้วยเช่นกัน เพราะยิ่ง สปสช.มีอำนาจมากขึ้นเท่าไร และฝ่ายการเมืองส่งคนของตัวเองเข้าไปได้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้การแทรกแซงบอร์ดทำได้มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการหลายๆ ชุด มีรายชื่อของฝ่ายการเมืองเข้ามามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่ต้องจับตาคือ กองทุนดูแลสุขภาพหากรวม 3 กองทุนได้สำเร็จ และรวมเงินจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ และเงินค่ารักษาพยาบาลจาก อปท.เข้าไปด้วยแล้ว ก็จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลงบประมาณจำนวนมหาศาล
ว่ากันง่ายๆ กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้าวันนี้มีสมาชิก 48 ล้านคน มีงบประมาณ 2,755.60 บาทต่อหัว รวมงบประมาณ ประมาณ 132,268.8 ล้านบาท กองทุนประกันสังคม มีสมาชิก 9.4 ล้านคน มีค่ารักษาพยาบาลต่อหัว 2,500 บาทต่อหัว รวมค่าใช้จ่ายสุขภาพที่ต้องส่งให้ สปสช.ประมาณ 23,000 ล้านบาท ในส่วนข้าราชการท้องถิ่นและครอบครัว 80,000 คน สปสช.อยากให้กรมปกครองส่วนท้องถิ่นส่งให้ 9,000 ล้านบาท ส่วนสวัสดิการข้าราชการขณะนี้ มีข้าราชการในระบบ 5 ล้านคน ค่าใช้จ่ายรายหัวรายละ 14,000 บาทต่อคน ก้อนนี้อีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
รวมเงินงบประมาณก้อนต่างๆ ที่จะไปรวมอยู่กับ สปสช.ในอนาคต หากมีการรวมกองทุนต่างๆ เข้าไปสำเร็จ ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท ยังไม่รวมกองทุนผู้ประสบภัยจากรถอีกในระดับพันล้านบาท
เมื่อเงินมาก ผลประโยชน์มาก ความขัดแย้งภายในคงหยุดไม่ได้ง่ายๆ
อย่าลืมว่าทั้งวันนี้ แพทย์จากโรงพยาบาลรัฐเองก็มีแผล ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีแผล สปสช.เองก็มีแผล ส่วนการเมืองเองก็ต้องการผลประโยชน์ที่จับต้องได้ในรูปแบบคะแนนเสียง
ศึก “หมอ” ชน “หมอ” ครั้งนี้จึงน่าจะยืดเยื้อ...และอาจเป็นที่ต้องการของฝ่ายการเมืองในการบริหารและจัดการคนและเงินให้เป็นไปตามที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย
------------------------------------------------------
‘30 บาทรักษาทุกโรค’ เป็นนโยบายที่ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร มั่นใจว่าเขาสามารถยึดครองประชาชนคนไทยได้ทั้งประเทศ แต่เบื้องหลังต้องการให้นโยบายนี้บรรลุเป้าหมายสูงสุดตามที่ต้องการคือ ชี้นิ้วสั่งได้ ‘ทั้งคนและเงิน’
ขณะที่งบประมาณในระบบประกันสุขภาพมีสูงถึง 2.3 แสนล้านบาท
ดังนั้น ขบวนการต่อสู้แย่งชิง ‘อำนาจ-เงิน-บารมี’ กำลังเกิดขึ้นในประชาคมสีขาวอีกครั้งหนึ่งภายใต้การบงการและสั่งการของ ‘2 พี่น้องชินวัตร’
วันนี้ แพทย์รุ่นพี่ รุ่นน้อง!! ต่อสู้กันเพื่อใคร?
แล้วประชาชนคนไทยทุกคน ทั้งผู้ที่มีบัตร 30 บาท บัตรประกันสังคม บัตรข้าราชการ รวมๆ แล้ว60 กว่าล้านคน รวมไปถึงสารพัดบัตรสุขภาพ จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ และใครบ้างจะถูกลิดรอนสิทธิ์ที่เคยได้ในครั้งนี้
ทีม Special Scoop มีคำตอบและจะนำเสนอด้วยกัน 3 ตอนจบ