“วิทยา” นั่งหัวโต๊ะประชุมความพร้อมบริการไตวาย/เอดส์ มาตรฐานเดียว 3 กองทุน เริ่ม 1 ตุลาคม ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ เน้นรักษาต่อเนื่อง แม้จะเปลี่ยนสิทธิการรักษาก็ตาม ระบุ บูรณาการสมบูรณ์แบบภายใน 2 ปี
วันนี้ (18 ก.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้แทนจาก 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงแรงงาน กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ในวันนี้ เป็นการวางมาตรการความพร้อมบูรณาการจัดระบบบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่อยู่ภายใต้สิทธิ์ 3 กองทุน ซึ่งมีทั้งหมด 264,052 คน ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายทุกสิทธิ์เข้าถึงการบำบัดรักษาด้วยมาตรฐานเดียวกัน และได้รับการรักษาแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง แม้จะเปลี่ยนสิทธิการรักษาก็ตาม ซึ่งขณะนี้ 3 กองทุนยังมีข้อปฏิบัติแตกต่างกันอยู่บ้างบางประการ แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการ โดยจะเร่งดำเนินการให้เป็นรูปแบบเดียวกันสมบูรณ์แบบภายใน 2 ปีนี้
นายวิทยา กล่าวต่อว่า การรักษาจะมี 4 ระบบบริการทั้ง 2 โรค โดยบริการโรคเอดส์ ประกอบด้วย 1.การรักษาด้วยยาต้านไวรัสและยาอื่นๆ 2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามการรักษา 3.บริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดแบบสมัครใจ และ 4.การป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ สำหรับบริการโรคไตวาย ประกอบด้วย 1.การล้างไตทางช่องท้อง 2.การฟอกลือด 3.การให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง และ 4.การปลูกถ่ายไต โดยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เปลี่ยนสิทธิการรักษาจะได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการรักษาแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต่องสำรองค่าใช้จ่าย และได้รับความสะดวก หากจำเป็นต้องเปลี่ยนไปรับการรักษาที่หน่วยบริการคู่สัญญาของกองทุนที่ย้ายเข้าไปใหม่
กรณีที่มีการเปลี่ยนสิทธิการรักษาผู้ป่วยทั้ง 2 โรค ได้วางแนวทางไว้ดังนี้ 1.เปลี่ยนจาก 30 บาทเป็นประกันสังคมผู้ป่วยจะทราบล่วงหน้า 90 วัน สามารถเลือกรพ.คู่สัญญาและเลือกรพ.ที่จะรักษาได้ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น รพ.เดียวกันก็ได้ 2.เปลี่ยนสิทธิประกันสังคมเป็น 30 บาท ผู้ป่วยจะทราบล่วงหน้า 180 วัน สามารถเลือก รพ.คู่สัญญาและเลือก รพ.ที่จะรักษาได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้อง รพ.เดียวกันก็ได้ 3.เปลี่ยนสิทธิจาก 30 บาท เป็นข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ให้รีบดำเนินการทันทีหลังบรรจุ และให้ติดต่อเลือก รพ.ของรัฐที่สะดวกเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า 4.เปลี่ยนจากสิทธิข้าราชการเป็น 30 บาท ให้รีบดำเนินการทันที หลังพ้นจากสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ และเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและเลือก รพ.ที่จะรักษาอาจเป็นคนละ รพ.ก็ได้ 5.เปลี่ยนสิทธิจากข้าราชการเป็นประกันสังคม ผู้ป่วยจะทราบล่วงหน้า 90 วัน เลือก รพ.คู่สัญญาและเลือก รพ.ที่จะรักษาได้ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น รพ.เดียวกันก็ได้ และ 6.เปลี่ยนสิทธิจากประกันสังคมเป็นข้าราชการ ผู้ปวยจะทราบล่วงหน้า 180 วัน ให้ติดต่อเลือก รพ.ของรัฐที่สะดวกเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ป่วยเปลี่ยนโรงพยาบาล ให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาเดิมสรุปประวัติการบริการให้ผู้ป่วยนำไปยื่นแก่โรงพยาบาลแห่งใหม่ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทั้ง 3 กองทุนจัดศูนย์บริการติดต่อสอบถามหรือคอลเซนเตอร์ ให้คำแนะนำปรึกษาผู้ป่วยทางหมายเลข 1330, 1506 และ 0 2270 6400 ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสมีทั้งสิ้น 225,272 คน ประกอบด้วยสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 148,357 คน สิทธิประกันสังคม 46,114 คน สิทธิข้าราชการ 12,059 คน และสิทธิอื่นๆ 18,742 คน ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 38,780 คน เป็นสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 20,077 คน สิทธิประกันสังคม 9,193 คน สิทธิข้าราชการ 8,810 คน