xs
xsm
sm
md
lg

ชงบอร์ดแพทยสภาแก้ ม.41 ครอบคลุม 3 กองทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมออำนาจ” เตรียมเสนอ 2 ทางเลือก บอร์ดแพทยสภา แก้มาตรา 41 ขยายครอบคลุม 3 กองทุน ด้านเครือข่ายผู้เสียหายฯ จวกเป็นไปไม่ได้ ควรเร่งผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯมากกว่า ลั่นหากเรื่องยังเงียบจะระดมพลบุก สธ.

ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เดินหน้ามติขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จากเดิมกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินไม่เกินเพดานสูงสุด 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท กรณีพิการจากเดิมจ่ายเงินสูงสุด 120,000 บาท เป็น 240,000 บาท กรณีบาดเจ็บต่อเนื่องจ่ายสูงสุดจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ แม้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงติง เพราะเกรงจะเป็นการเพิ่มภาระ ว่า แม้จะขยายวงเงินดังกล่าวให้สูงขึ้น แต่กรณีนี้จะได้เพียงผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น จึงเห็นว่า บอร์ด สปสช.ควรพิจารณาขยายให้ครบทั้ง 3 กองทุน ซึ่งที่ผ่านมา แม้มีการเสนอแต่ก็ยังล่าช้า เนื่องจากต้องส่งเรื่องไปยังคณะคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วม และการคุ้มครองสิทธิ บอร์ด สปสช.พิจารณา ทำให้ต้องผ่านหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตาม การขยายสิทธิดังกล่าวไปยังกองทุนอื่นๆ นั้น สามารถแก้ไขได้ตามมาตรา 41 และแก้ไขข้อบังคับของ สปสช.ว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยเปลี่ยนเป็นช่วยเหลือเป็นอันสิ้นสุด เมื่อรับเงินแล้วให้ยุติการฟ้องร้อง โดยเพิ่มเงินช่วยเหลือจาก 2 แสนบาท เป็น 2 ล้านบาท

เบื้องต้นการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีการพิจารณาอยู่ 2 ช่องทาง คือ 1.เสนอแก้กฎหมายผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 20 คน เป็นผู้เสนอแก้กฎหมาย และ 2.ล่ารายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ ซึ่งผมจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ว่า จะใช้ช่องทางไหนในการเดินหน้าแก้กฎหมายดังกล่าว” นายกแพทยสภา กล่าว

ด้าน นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า แพทยสภาควรหยุดเดินหน้าในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการแก้กฎหมายมาตรา 41 ไปครอบคลุมกฎหมายของกองทุนอื่นนั้นทำไม่ได้ การจะดื้อเดินหน้าจึงไม่มีประโยชน์ ควรมาช่วยกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... ดีกว่า เนื่องจากขณะนี้มีร่างกฎหมายทั้งของแพทย์ และผู้ป่วยอยู่แล้ว เหลือเพียงการปรับปรุงรวมกันเท่านั้น โดยอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการทำเรื่องนี้

ในส่วนของการจัดทำร่างหลักที่ สธ.อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เคยแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่กลับพบว่าไม่มีตัวแทนผู้ป่วย ซึ่งเครือข่ายได้ทำหนังสือทวงถามไป ได้คำตอบว่าจะเร่งปรับปรุงคณะกรรมการใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังเงียบ ดังนั้น ในสัปดาห์หน้าจะทำหนังสือทวงถามอีกครั้ง หากยังไม่มีความเคลื่อนไหว พวกเราจะรวมตัวเดินทางไปเรียกร้องที่กระทรวงสาธารณสุขต่อไป” นางปรียนันท์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น