xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จ่อตั้งอนุ กก.ข้อเสนอการคลังระยะยาวสิทธิบัตรทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด สปสช.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการร่วมระหว่างพัฒนาข้อเสนอการคลังสาธารณสุขระยะยาว หลังมติ ครม.ให้ สปสช.หารือกับ สศช.เรื่องความยั่งยืนการเงินการคลังสิทธิบัตรทอง เพื่อเตรียมรองรับการดูแลระยะยาวกลุ่มผู้สูงอายุ และการหาแหล่งเงินอื่น

วันนี้ (10 ก.พ.) ที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. โดยมีการพิจารณาเรื่อง “ข้อเสนอการดำเนินงานตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)” ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2556 เห็นชอบงบประมาณงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2557 โดยให้รับข้อเสนอของ สศช.ในประเด็นที่เสนอแนะว่า ควรมีการศึกษาและดำเนินการใช้แนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ป่วย โดยเฉพาะกรณีการให้บริการเฉพาะโรค ซึ่งแยกจากการให้บริการสุขภาพที่เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานตามเศรษฐานะของผู้ใช้บริการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการดูแลสุขภาพ และควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่ไม่เป็นการกีดกันการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย บอร์ด สปสช.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุม เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556 ได้ข้อสรุปให้ สปสช.ประสานข้อมูลและทำความเข้าใจกับ สศช. และ ครม.เรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นสิทธิของประชาชน ไม่ใช่การจัดบริการตามเศรษฐานะนั้น

นพ.วินัยกล่าวว่า สปสช.จึงได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกับ สศช.แล้ว 2 ครั้ง ผลสรุปจากการหารือคือ ในประเด็นการร่วมจ่ายตามเศรษฐานะนั้น สปสช.ได้ชี้แจงว่า สำนักงานกฤษฎีกาได้เคยตีความแล้วว่า ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากบริการนั้นเป็นความจำเป็นด้านสุขภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแบ่งแยกและกีดกันตามมาได้ แต่หากกำหนดให้มีการร่วมจ่ายเป็นการทั่วไป เช่น การร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้งในการใช้บริการ โดยยกเว้นผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่มีการกำหนดเฉพาะ สามารถทำได้ แต่การร่วมจ่ายรายโรคไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

“นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ได้กำหนดภายใต้หลักความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน และหากต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่มีผลต่อการเพิ่มงบประมาณก็จะดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อน เช่น สิทธิประโยชน์บริการทดแทนไต เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

นพ.วินัยกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะจากทาง สศช.ที่ สปสช.จะต้องวางแผนการพัฒนาให้เกิดขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบระยะยาวด้านสังคมและด้านการเงินการคลังใน 2 ประเด็น คือ 1. ระบบการเงินการคลังหลักประกันสุขภาพสำหรับการดูแลระยะยาวในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และ .การหาแหล่งเงินอื่นสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สปสช.จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อจัดทำแนวทางการบริหารจัดการการคลังด้านสาธารณสุขระยะยาว (Long-term Health Financing) ในรูปแบบของคณะอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการต่อไป หลังจากนั้นจึงได้นำข้อสรุปดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2556 ก็ได้มีมติให้เสนอผลการหารือกับ สศช. และการตั้งคณะทำงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทราบ

นพ.วินัยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้รับทราบสรุปผลการหารือกับ สศช.และเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการการคลังด้านสาธารณสุขระยะยาว (Long-term health financing) สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านการเงินการคลังเป็นที่ปรึกษา นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภาคประชาชน เป็นที่ปรึกษา มีรองเลขาธิการ สศช.เป็นประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เลขาธิการสปสช. อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน้าที่ พัฒนาข้อเสนอแนวทางในการสร้างความยั่งยืนของระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพระยะยาวสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยคำนึงถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและศักยภาพการคลังของภาครัฐ พัฒนาข้อเสนอความเป็นไปได้เกี่ยวกับการหาแหล่งเงินอื่นๆ หรือการรับภาระร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน ภายใต้ความเป็นธรรมด้านสุขภาพของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น