xs
xsm
sm
md
lg

“อปสข.” กลไกตัวท็อปพัฒนาระบบ “บัตรทอง” จากพื้นที่สู่ส่วนกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การทำงานแบบท็อปดาวน์ หรือจากบนลงล่าง หรือจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาคเพียงอย่างเดียวไม่อาจสามารถแก้ปัญหาได้ได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ การทำงานด้านสุขภาพก็เช่นกัน การตั้งนโยบายจากส่วนกลางแล้วบังคับให้ทั่วทุกภูมิภาคปฏิบัติตามเหมือนกันหมด คงไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ได้

การกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นบริหารจัดการแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ของตัวเองย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญและเห็นผลได้มากกว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) ขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 13 เขต ดูแลประชากรราว 5 ล้านคน

การดำเนินงานของ อปสข.นั้น นายอมรทัต นิรัตศยกุล ประธาน อปสข. เขต 1 เชียงใหม่ อธิบายว่า อปสข. เป็นการทำงานร่วมกันของทุกๆ ภาคส่วนภายในพื้นที่ ทั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สถานบริการ รวมไปถึงตัวแทนประชาชน ซึ่งจะมีการประชุมกันแทบทุกเดือน เพื่อติดตามแก้ปัญหาสุขภาพภายในพื้นที่ ซึ่งการที่คณะกรรมการมาจากคนในพื้นที่ย่อมทำให้ทราบปัญหาดีว่า ภายในพื้นที่ของตนมีปัญหาอะไร อย่างไร เช่น บางพื้นที่มีปัญหาเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคไข้เลือดออก ฯลฯ ก็จะมีการตั้งโครงการเสนอเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมี อปสข. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติงบประมาณดำเนินการ ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเช่นนี้ย่อมทำให้การแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นตรงจุด

นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพภายในพื้นที่แล้ว แน่นอนว่าการเป็นเจ้าของพื้นที่จะช่วยให้ทราบว่า ในพื้นที่ของตนนั้นยังประสบปัญหาประชาชนยังคงเข้าไม่ถึงบริการหรือไม่ รวมไประบบหลักประกันสุขภาพหรือสิทธิบัตรทองยังมีปัญหาเรื่องใดอีกบ้าง

เรียกว่าเป็นการสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ขึ้นไปสู่ผู้บริหารใหญ่ในส่วนกลางคือบอร์ด สปสช. โดยผ่านการประชุม อปสข. สัญจร 4 ภาค ซึ่งเพิ่งจัดไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเริ่มประชุมครั้งแรกที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็ช่วยให้ทราบว่า ภาคใต้ยังคงมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขน้อยกว่าภาคอื่น เช่น โรคค่าใช้จ่ายสูง ตาต้อกระจก เป็นต้น

นายอมรทัต กล่าวว่า การประชุม อปสข. ที่ผ่านมา ช่วยให้ส่วนกลางได้รับรู้ปัญหาภายในพื้นที่ว่ายังมีการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขในเรื่องใด และจะต้องมีการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในพื้นที่อย่างไรบ้าง อย่างเขตของตนจะมีปัญหาคือเรื่องความเชื่อของชนเผ่าต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาล เช่น ไม่ให้เอาสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการรักษาเรื่องตาต้อกระจก ตรงนี้ อปสข. ก็พยายามแก้ไข โดยสนับสนุนงบประมาณให้ภาคประชาชนเข้าไปช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

ขณะที่อีกพื้นที่อย่าง อปสข. เขต 9 นครราชสีมา ซึ่งมีดูแลครอบคลุม 4 จังหวัดคือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “นครชัยบุรินทร์” นั้น ตามลักษณะภูมิประเทศของแต่ละจังหวัดพบว่ามีพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้การดำเนินการก็มีปัญหาในลักษณะเฉพาะของพื้นที่เช่นกัน ซึ่ง นพ.สุนทร ไทยสมัคร ประธาน อปสข. เขต 9 นครราชสีมา ระบุว่า ด้วยแต่ละจังหวัดมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้มีปัญหาในเรื่องการส่งตัวผู้ป่วยในบางโรคที่ต้องแข่งกับเวลา เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 3 ชั่วโมง จึงจะสามารถช่วยลดการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตในผู้ป่วยได้ แม้แต่ละจังหวัดจะมีการดำเนินการสร้างเครือข่ายในการดำเนินการก็ตาม แต่พบว่ายังคงลดการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้ไม่มากเท่าที่ควร

การแก้ปัญหาคงต้องแบ่งโซนการส่งตัวผู้ป่วยให้ดี เพราะขณะนี้ส่วนใหญ่มักจะส่งตัวไปโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางชั่วโมงกว่าๆ และบางครั้งเมื่อไปถึงแล้วก็พบผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลทำให้ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลอื่นอีก จึงต้องส่งเสริมพัฒนาระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ให้สามารถดำเนินการให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ นอกจากนี้ อาจต้องพัฒนาให้ รพช. สามารถดำเนินการล้างไต ฟอกเลือด ได้ด้วย

นพ.สุนทร กล่าวอีกว่า แต่ปัญหาในการพัฒนา รพช. คืองบค่าเสื่อมที่จะเป็นงบเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ การก่อสร้าง ยังคงไม่เพียงพอที่จะนำมาเพิ่มขีดความสามารถของ รพช. เพราะเครื่องมือต่างๆ หรือเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ก็มีราคาแพง

เห็นได้ว่าแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป การประชุม อปสข.สัญจรที่ผ่านมาจึงช่วยให้ส่วนกลางได้เห็นภาพรวมของแต่ละเขตมีปัญหาอย่างไรบ้าง และมีการจัดการแก้ปัญหาเช่นไร ซึ่งบางพื้นที่อาจประสบปัญหาใกล้เคียงกันก็สามารถนำแนวทางแก้ปัญหาของเขตหนึ่งไปพัฒนาแก้ปัญหาในอีกเขตหนึ่งได้ แต่จุดมุ่งหวังที่เหมือนกันก็คือ การเพิ่มการเข้าถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนภายในพื้นที่ให้มากขึ้นนั่นเอง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น