สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
สิ่งที่น่าอนาถใจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาในสังคมไทยคือข้าราชการถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมกับกระบวนการทางการเมือง กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่พ้นจากวังวนนี้ แต่ที่น่าสังเวชยิ่งกว่าคือเคยเป็นกระทรวงที่หัวก้าวหน้าที่สุด กล้าที่สุดที่จะปฏิรูปตัวเองและปฏิรูปสังคม ที่สุดแล้วความลุแก่อำนาจ การได้กำกับควบคุมประชาชนเป็นสิ่งที่หอมหวานกว่า เมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นในสังคมไทยกระทรวงสาธารณสุขโดยหัวหน้ากระทรวง หมอในกระทรวง มีส่วนร่วมในกระบวนการก่อเกิดระบบนี้การยอมเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นเทพเจ้าผู้ใจดีมีอำนาจในการรักษาชีวิตมาเป็นผู้ให้บริการทำหน้าที่บริการประชาชนผู้เจ็บป่วยที่เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนพึงได้รับ รัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบจัดระบบให้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด คุ้มค่าที่สุดให้กับประชาชน ดังกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่บริการประชาชน
สิ่งที่ปลัดกระทรวงปัจจุบันและผู้บริหารบางส่วนร่วมกับกลุ่มหมอออกมาแถลงข่าวฟาดหัวฟาดหางว่าตนเองถูกท้วงติงจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าปล่อยให้ลูกน้องสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ใช้เงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เหมาะสมไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เลยออกมาขู่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะไม่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลในสังกัด ให้บริการประชาชนอีกต่อไปหากไม่ยุติการโอนเงินไปให้ สสจ. แล้วโอนเงินตรงไปให้กระทรวงจัดการเองแทน คือมันคนละเรื่องกันเลย ตนเองถูกตรวจสอบก็ควรจะต้องพิจารณาจัดการแก้ไขตามข้อท้วงติงจาก สตง. และต้องปรึกษาหารือกับ สปสช. ว่าจะร่วมกันรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร จะทำให้รัดกุมขึ้นอย่างไร จะไม่เกิดการคอร์รัปชันได้อย่างไร ไม่ใช่มาเอาประชาชนเป็นตัวประกันว่าจะไม่ให้บริการเพราะไม่พอใจระบบหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นของประชาชนไม่ใช่ของหมอคนใดคนหนึ่ง
ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดระบบหนึ่งในสังคมไทยและในอารยประเทศที่รัฐทำหน้าที่จัดการบริหารภาษีของประชาชนพลเมืองทั้งมวลอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักการความเป็นธรรม ความเสมอภาค รัฐทำหน้าที่รับประกันว่าประชาชนทุกคนเมื่อต้องได้รับการบริการด้านสุขภาพ การดูแลรักษา การฟื้นฟูเยียวยาสุขภาพ ต้องได้รับบริการนั้นทันทีอย่างเหมาะสมทุกคนด้วยมาตรฐานคุณภาพเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นคนจนคนรวยเมื่อไปรับบริการไม่ต้องถูกเรียกเก็บเงิน ไม่ต้องถูกปฏิเสธการรักษา ไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือในฐานะผู้ป่วยอนาถาอีกต่อไป นี่เป็นการบริหารของรัฐที่ยึดมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมอจึงไม่ใช่เทพเจ้าแต่เป็นผู้ให้บริการประชาชนด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและมีหัวใจอาสาสาธารณะ ซึ่งการสั่งสอนวิชาชีพหมอก็ควรปรับตัวให้เข้ากับจิตตารมณ์นี้เช่นกัน
เพื่อให้การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพในแง่การบริหารจึงจำเป็นต้องแยกผู้มีส่วนได้เสียออกจากกัน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความชำนาญในการเป็นผู้ดูแลรักษาจึงควรเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุดของประเทศ (Health Provider) ไม่ควรต้องทำหน้าที่ในการบริหารงบประมาณซึ่งเป็นงบค่าใช้จ่ายที่ประชาชนเป็นเจ้าของ (ภาษี) ประชาชนควรเป็นผู้บริหารงบประมาณนั้นเอง โดยมีหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่นี้ ปัจจุบันคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งบริหารโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเป็นกรรมการทั้งจากประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากหน่วยงานรัฐอื่นๆร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และจากผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข คือ รัฐมนตรี และปลัดกระทรวง คณะกรรมการทำหน้าที่กำหนดนโยบายให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างดีที่สุดมีคุณภาพและคุ้มค่างบประมาณที่ใช้ในแต่ละปี กำหนดชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาซึ่งก็คือกำหนดงบประมาณในแต่ละปี กระตุ้นให้ระบบการรักษามีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิประชาชนให้ได้รับหลักประกันว่าจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ได้รับการส่งต่อตามขั้นตอนอย่างเหมาะสมการออกแบบระบบแยกผู้ให้บริการออกจากผู้บริหารงบเพื่อจัดหาบริการให้ประชาชนออกจากกันเพื่อให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด โปร่งใส ตรวจสอบได้
แต่ปัญหาคือ กระทรวงสาธารณสุขยังเล่นบทบาททับซ้อนกันอยู่ คืออยากเป็นทั้งผู้ให้บริการ ผู้กำกับนโยบาย ผู้บริหารงบ และอื่นๆนั่นคือขอทำตัวเหมือนกับ 10 ปีที่แล้วที่ยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ ความเป็นกระทรวงที่ก้าวหน้า มีการปฏิรูปตนเอง เลือนหายไป ขณะที่ปากก็ป่าวร้องว่าต้องปฏิรูปประเทศ (ดูจากเปิดกระทรวงต้อนรับ กลุ่มเรียกร้องการปฏิรูปที่เดินสายไปหา) แต่การกระทำกลับถอยหลังเข้าคลอง หากมีรัฐบาลใหม่เราจะไว้ใจได้อย่างไรหากปลัดกระทรวง หรือหมอในกระทรวงที่ฟาดหัวฟาดหางที่อาจได้เป็นใหญ่ขั้นรัฐมนตรี ระบบหลักประกันสุขภาพต้องการผู้บริหารที่หัวก้าวหน้ามากกว่าเป็นนักอนุรักษนิยม
ยุคการปฏิรูปคือการที่ประชาชนเป็นพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียงเท่าทียมกันและควรได้รับการบริการบนหลักการสิทธิ และโปร่งใส กระทรวงสาธารณสุขควรทำตัวหดเล็กลง ทำหน้าที่ด้านวิชาการกำกับทิศทางการดูแลรักษาให้ทันสมัยก้าวหน้า ขณะที่โรงพยาบาลควรมีอิสระปฏิรูปถ่ายโอนเป็นองค์กรมหาชนที่ประชาชนเข้าไปถือหุ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบดูแล ให้บริการสอดคล้องสอดรับกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในพื้นที่นั้นๆ หรือเขตสุขภาพนั้นๆ
แต่เฉพาะหน้านี้ หากกระทรวงไม่ยอมให้บริการ มีการสั่งการให้โรงพยาบาลไม่รับเงินจาก สปสช.โดยตรง ประชาชนเป็นตัวประกันเพราะเจ็บป่วยต้องไปรักษาแต่จะถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราต้องเตรียมตัวฟ้องศาลปกครองกันแล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ปฏิบัติหน้าที่ หวังว่าศาลปกครองจะรับฟ้องและคุ้มครองชั่วคราวโดยพลัน