ภาคประชาชนวอนปลัด สธ. หยุดจับผู้ป่วยเป็นตัวประกัน เลิกชวนทะเลาะ เห็นด้วยถ้าจะไม่ให้ สสจ. ทำหน้าที่เป็น สปสช. สาขาจังหวัด แต่ต้องมาคุยกันในบอร์ด ไม่ใช่ไปคุยกันสองต่อสองระหว่าง สธ. กับ สปสช. เพราะประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ไม่รู้เรื่องและไม่มีส่วนร่วมด้วย ด้านเครือข่ายผู้ป่วยไตหวั่น สธ. จี้ยกเลิกค่าตอบแทนล้างไตจ่ายตรงรายบุคคล กระทบผู้ป่วยไต เตรียหารือกำหนดจุดยืน
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์หลังจากที่นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ปรับระเบียบการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 และขู่ว่าหาก สปสช. ไม่ดำเนินการใดๆ กระทรวงสาธารณสุขจะปรับบทบาทในการเข้าร่วมบริการของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะไม่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำหน้าที่เป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพสาขาจังหวัดอีกต่อไป ว่าเห็นด้วยกับปลัด สธ. เป็นอย่างยิ่ง เพราะหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการแยกผู้ซื้อบริการ และผู้จัดบริการออกจากกันเพื่อไม่ไห้มีผลประโยชน์ทับซ้อน และการส่งเงินงบประมาณตรงไปยังหน่วยบริการเป็นหลักการสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว แต่การที่ปลัด สธ. จะไม่ให้หน่วยบริการทั้งหลายส่งรายงานเพื่อที่จะขอรับเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ และไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมกับ สปสช. ในทุกกรณี เป็นการดำเนินการที่จับเอาผู้ป่วยเป็นตัวประกัน หากปลัดต้องการเปลี่ยนแปลงระเบียบหรือกติกา ก็ควรนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ ซึ่งปลัด สธ.เป็นกรรมการและมีการประชุมทุกเดือนอยู่แล้ว การที่จะมาเจรจากับ สปสช. สองต่อสองเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อำนาจในการแก้ไขระเบียบหรือข้อบังคับเป็นของคณะกรรมการการยื่นคำขาดให้ สปสช. ดำเนินการจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะสำนักงานไม่มีอำนาจ
ด้านนายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้เวลาในการชวนทะเลาะมากกว่าทำงานในหน้าที่รับผิดชอบ เริ่มต้นปีแรกจับมือกับรัฐมนตรีทะเลาะกับโรงพยาบาลทั่วประเทศเรื่อง P4P จนฉาวโฉ่ไปทั่วประเทศ ปีนี้ก็เปลี่ยนขั้วมาทะเลาะกับรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ทะเลาะกับรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ส่งผลกระทบต่อบริการสาธารณสุข และล่าสุดทะเลาะกับ สปสช. โดยจับผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อแย่งชิงอำนาจในการบริหารงบประมาณ
“หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขคือการบำบัดทุกข์ และบำรุงสุขภาพของประชาชนไทยทั่วประเทศ อย่าเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ทุกวันนี้ประชาชนมีความทุกข์เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยมากพออยู่แล้ว อย่าได้ซ้ำเติมผู้ป่วยมากไปกว่านี้อีกเลย ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากจะต้องมีหลักการแล้ว จะต้องไม่เปลี่ยนจุดยืนอะไรง่ายๆ เป็นผู้ใหญ่ขนาดนี้แล้วควรจะต้องมีวุฒิภาวะพอสมควร” นายธนพลกล่าว
นายธนพล ได้กล่าวถึงกรณีที่ทาง สธ. ได้ยื่นข้อทักท้วงให้ สปสช. ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งการขอให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไต หรือค่าตอบแทนอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ที่ให้สำนักงาน สปสช. สาขาจังหวัดจ่ายตรงรายบุคคลเป็นหนึ่งในข้อทักท้วงด้วยว่า หากมีการยกเลิกจริง เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคไตแน่นอน ต้องยอมรับว่าในการจัดสรรงบประมาณของ สปสช. ที่จ่ายตามภาระงานไปยังบุคลากร ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรตไตจำนวนมากสามารถเข้าถึงบริการได้ ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วย แต่ยังทำให้ผู้ป่วยโรคไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะได้รับการดูแลและเข้าถึงการรักษา ดังนั้นหาก สปสช. มีการยกเลิกการจัดสรรงบประมาณนี้จริง จะทำให้ผู้ป่วยโรคไตเกิดปัญหา จึงไม่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขแทรกแซงการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้
“ขณะนี้ทางเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพอยู่ระหว่างการหารือเพื่อพูดคุยในประเด็นนี้ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ไม่เพียงแต่กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคตา รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการทันตกรรม ซึ่งไม่รู้ว่าตอนนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขคิดอะไรอยู่ จึงจะทำในเรื่องนี้ที่กระทบต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามทางเครือจ่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะมีการกำหนดท่าทีของเครือข่ายเพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ต่อไป” ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าว