xs
xsm
sm
md
lg

หมอชนบทจวก สธ.เต้นยกเลิกบัญชี 6 ไป สสจ. เหตุอยากปฏิรวบจัดสรรงบเอง เอื้อคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอชนบทจวก สธ.เต้นยกเลิกจัดสรรบัญชี 6 ไป สสจ. เพราะหวังปฏิรวบการจัดสรรงบไว้ที่เขตบริการสุขภาพ จี้ สปสช. โอนงบไปยังหน่วยบริการโดยตรงตาม กม. ด้านภาคประชาชนครวญจ่อยกเลิกค่าตอบแทนล้างไต และบริการอื่น ทำผู้ป่วยเสียประโยชน์ เพราะค่าตอบแทนช่วยเจ้าหน้าที่มีแรงจุงใจทำงานนอกเวลา ลดการรอคิวผู้ป่วย
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ (แฟ้มภาพ)
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกระเบียบจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานสาขา สปสช. ว่า หลักการจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถนำเงินไปยังหน่วยงานบริหารได้ ต้องจ่ายตรงไปยังหน่วยบริการเท่านั้น แต่ที่ผ่านมามีข้อท้วงติงว่า หากไม่มีงบประมาณไว้ที่ สสจ.เพื่อติดตามกำกับหน่วยบริการเลย จะทำให้ไม่ได้ผล จึงมีการจัดสรรงบบางส่วนไว้ที่ สสจ. เป็นบัญชี 6 ทั้งงบส่งเสริมและป้องกันโรค งบค่าเสื่อม ร้อยละ 20 แต่ถูกสำนักงานตรวงเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงติงว่ามีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น สธ. ควรกำชับ สสจ. ให้ใช้งบตามวัตถุประสงค์ และเห็นควรให้ สปสช. ส่งงบดังกล่าวตรงไปยังหน่วยบริการเลย

การออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปการจัดสรรงบและให้จัดสรรงบไปไว้ที่เขตแทน สะท้อนให้เห็นว่า สธ. เดินหน้าปฏิรูปเขตสุขภาพเพื่อดึงงบประมาณไปจัดการที่ส่วนกลางเอง เหมือนก่อนมีการจัดตั้ง สปสช. ซึ่งเกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหา เพราะจะเป็นช่องว่างให้เกิดการคอร์รัปชันเหมือนใน พยายามดึงอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเพื่อให้ สธ. เป็นใหญ่เหมือนเดิม เป็นการปฏิรวบ ไม่ใช่ปฏิรูประบบสุขภาพ ซึ่งจริงๆ ต้องกระจายหน่วยบริการไปให้ท้องถิ่น หรือออกนอกระบบ ยุบกรมให้เหลือแต่งานด้านวิชาการ จะช่วยลดการแทรกแซง เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้น สปสช.ควรที่จะโอนงบประมาณไปยังหน่วยบริการทั้งหมดแทน” นพ.อารักษ์กล่าวและว่า สำหรับที่ สธ. เตรียมยกเลิกให้ สสจ. เป็น ผอ.สปสช. สาขานั้น จริงๆ เป็นคนละคนกันก็ได้ หาก สธ. ไม่อยากให้ สสจ. เป็น โดย สปสช. ควรจัดหาคนทำหน้าที่ไปเลย และโอนงบไปยังหน่วยบริการโดยตรง ซึ่งการออกมาเคลื่อนไหวของ สธ. มองว่าเพราะอยากได้อำนาจจัดสรรงบประมาณกลับคืนเท่านั้น

นพ.อารักษ์กล่าวว่า ส่วนกรณี สธ. เสนอให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไต ฯลฯ ที่ สสจ.โอนตรงรายบุคคลนั้น มองว่าการรักษาพยาบาลควรมีการสร้างแรงจูงใจในการบริการให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะช่วงนอกเวลาราชการ ด้วยเหตุนี้ สปสช. จึงออกระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนนี้ออกมา ซึ่งที่ผ่านมาทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างโครงการผ่าต้อกระจก จากเดิมทำได้ปีละ 30,000 ราย แต่หลังจากดำเนินนโยบายสามารถผ่าตัดเพิ่มเป็นแสนราย ช่วยลดภาวะตาบอดของประชาชนลงได้

เมื่อถามถึง สธ. ขอให้ สปสช. ลดภาระการคีย์ข้อมูลผู้รับบริการ นพ.อารักษ์กล่าวว่า การของบประมาณเหมาจ่ายรายหัว หาก สปสช. ไม่นำข้อมูลเหล่านี้ไปเสนองบขาขึ้นกับสำนักงบประมาณ แต่ขอแบบลอยๆ ไม่มีข้อมูลเลย จะเสนอของบประมาณได้หรือไม่ และสำนักงบประมาณจะพิจารณาอย่างไร เพราะการพิจารณาต้องดูข้อมูลทั้งจำนวนประชากรและภาวะโรคเป็นตัวตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก่อนมี สปสช. ทาง สธ. เองก็ต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการนำเสนอของบเช่นกัน

ด้าน น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การให้ สสจ. เป็น ผอ.สปสช. เขต เป็นการตั้งตั้งแต่ปีแรกที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันฯ ในการบริหารงบประมาณ เพื่อไม่ต้องสิ้นเปลืองจัดตั้งสำนักงานใหม่ ซึ่งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อ สตง.ตรวจพบการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้องในบางจังหวัด หน่วยงานกลาง ทั้ง สธ. และ สปสช. และสำนักงานสาขาควรมีการแก้ไข ไม่ใช่ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจ และประกาศไม่ให้ สสจ. เป็น สปสช. เขต พร้อมยุติกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการร่วมกัน ถือว่าเป็นการทำที่ไม่เหมาะสม และเป็นการนำผู้ป่วยเป็นตัวประกัน ล่าสุด สสจ. ลำพูน ลำปาง ได้ยกเลิกความร่วมมือการเปิดรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันฯ ปี 2557 แล้ว ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ภาคประชาชนไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนจะร่วมกับ สปสช.เขตเดินหน้าจัดรับฟังความเห็นต่อ

น.ส.สุรีรัตน์กล่าวว่า ส่วนที่ สธ. เสนอให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไต ฯลฯ คนเสียประโยชน์คือผู้ป่วยโรคไต เชื่อว่าหากมีการยกเลิกจริงจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษาแน่นอน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องล้างไตผ่านเครื่องที่ต้องมีพยาบาลดูแล ซึ่งการจัดสรรเงินค่าตอบแทนรูปแบบนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน แก้ปัญหาการขาดบุคลากรดูแลผู้ป่วย เพราะเครื่องฟอกไตพร้อมทำงาน 24 ชั่วโมง แต่ก่อนหน้านี้เปิดบริการเพียงแค่ 8 ชั่วโมง ล้างไตให้ผู้ป่วยได้แค่ 2 รายต่อเครื่อง การเปิดบริการผู้ป่วยนอกเวลาโดยให้ค่าตอบแทนบุคลากรเพิ่มเติม ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงบริการรักษามากขึ้น แต่หากโอนงบค่าตอบแทนนี้ไปยังหน่วยบริการหรือ สธ. ดำเนินการแทน อาจทำให้ผู้ป่วยประสบปัญหาการเข้าถึงบริการเช่นเดิม

การจ่ายค่าตอบแทนนี้ ต้องเข้าใจว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะหน่วยงานในสังกัด สธ. เท่านั้น ยังมีหน่วยบริการภาคเอกชนและท้องถิ่น การยกเลิกต้องคำนึงถึงหน่วยบริการอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดสรรค่าตอบแทนรายบุคคล ยอมรับว่าเป็นการทำงานที่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง แต่ผลที่ได้คือทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ไม่เฉพาะผู้ป่วยโรคไตเท่านั้น แต่รวมถึงโครงการจัดการรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรคด้วย ช่วยลดการรอคิว แต่โครงการเหล่านี้ควรเป็นโครงการเฉพาะกิจ ไม่ควรทำไปตลอด หากระบบการรักษาเริ่มเข้าที่ก็ควรที่จะปล่อยให้เป็นกระบวนการปกติ” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวและว่า ส่วนตัวมองว่าการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นเพียงท่าทีของปลัด สธ. และหมอบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์จากการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการบริหารงบประมาณเท่านั้น และมองว่าเป็นเรื่องการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น