xs
xsm
sm
md
lg

โรคไตวายรุมเร้าอีสานใต้ กว่า 3 พันราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อีสานใต้ 5 จังหวัด พบป่วยโรคไตวายเรื้อรังมากกว่า 3,000 คน ชี้ป่วยเบาหวานและความดันสูง เร่งเกิดปัญหา แนะลดกินหวานมันเค็ม เพิ่มออกกำลังกาย ระบุตรวจพบเป็นนิ่วอีก 3 หมื่นคน เร่งจัดบริการเพิ่มหน่วยไตรวม 51 แห่ง เพิ่มศูนย์รับบริจาคอวัยวะและผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ รพ.ศรีสะเกษ อีก 1 แห่ง

วันนี้ (12 มี.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมราชการที่ รพ.ศรีสะเกษ เพื่อติดตามความคืบหน้าเขตบริการสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ว่า ปัญหาสุขภาพประจำถิ่นนี้ พบประชาชนป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกันมาก ทั้ง 5 จังหวัดมี 3,000 กว่าคน ร้อยละ 30 ต้องใช้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ที่เหลือฟอกทางหน้าท้อง โดยมีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายรายใหม่เพิ่มปีละกว่า 100 ราย สาเหตุเกิดจากโรคเบาหวานเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือโรคความดันโลหิตสูง และไตอักเสบจากโรคนิ่ว ผู้เชี่ยวชาญโรคไตระบุว่า หากประชาชนป่วยทั้งโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน 2 โรคพร้อมกัน จะทำให้เกิดไตวายเร็วกว่า เนื่องจากทั้ง 2 โรคทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงไตเสื่อม

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ผลการสำรวจปี 2555 ทั่วประเทศพบประชาชนป่วยทั้งเบาหวานและความดันโลหิตสูง ประมาณ 6 แสนคน ดังนั้น จึงคาดว่า แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ป่วยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ คือ ลดกินเค็ม ลดกินหวาน และอาหารมัน รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ จากการตรวจคัดกรองนิ่วประชาชนในเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 1.3 ล้านคน พบไตทำงานผิดปกติเบื้องต้น จำนวน 30,000 คน คิดเป็นร้อยละ 2.5 มาจากการทำอาชีพที่เสียเหงื่อมาก เช่น ทำงานกลางแจ้ง ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ไตทำงานหนักขึ้น รวมทั้งการกินอาหารที่มีสารออกซาเลตมาก เช่น ผักติ้ว ผักกระโดน และจากพันธุกรรมที่มีภาวะสารแม็กนีเซียมในร่างกายต่ำมาก่อน จะต้องเร่งป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไตวายโดยเร็ว โดยใช้กลไกของรณรงค์ให้ความรู้ในหมู่บ้านชุมชน โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ อสม.

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.กล่าวว่า กระทรวง กำหนดให้เขตบริการสุขภาพทั้ง 12 แห่งตั้งศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคไตทุกเขต และให้โรงพยาบาลในเครือข่ายเดียวกันจัดบริการดูแลผู้ป่วยร่วมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่เป็นธรรม คิวรักษาเร็วขึ้น ในส่วนของเขตบริการฯที่ 10 ปีนี้ ได้เพิ่มหน่วยดูแลผู้ป่วยโรคไตทุกชนิดจำนวน 51 แห่ง ประกอบด้วย คลินิกไตให้การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อชะลอความเสื่อมของไต จากเดิมมีแล้ว 10 แห่ง เพิ่มปีนี้อีก 3 แห่ง ที่ รพ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี รพ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และ รพ.เลิงนกทา จ.ยโสธร รวมเป็น 13 แห่ง เพิ่มหน่วยล้างไตทางหน้าท้องจากเดิมมี 15 แห่ง ปีนี้เพิ่มอีก1 แห่ง ที่ รพ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี รวมเป็น 16 แห่ง เพิ่มศูนย์ไตเทียมจาก 18 แห่งเป็น 20 แห่ง ปีนี้เพิ่มที่ รพ.เดชอุดม และ รพ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้ สธ.ได้พัฒนาให้ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคไตประจำเขตบริการสุขภาพที่ 10 ขณะนี้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีรักษาโรคไตวายระยะสุดท้ายที่ให้ผลดีที่สุด เฉลี่ยเดือนละ 1 ราย ครอบคลุมผู้ป่วยที่รอคิวเปลี่ยนไตมากถึงร้อยละ 30 สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 2 เท่าตัว จนถึงบัดนี้ผ่าไปแล้ว 38 ราย นับว่ามากที่สุดในประเทศและอยู่ได้ตลอดชีวิต โดยในปีนี้ได้ขยายศูนย์รับบริจาคอวัยวะและผ่าตัดเปลี่ยนไตเพิ่มที่ รพ.ศรีสะเกษ อีก 1 แห่ง ซึ่งสามารถนำไปผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้รับบริจาค


กำลังโหลดความคิดเห็น