xs
xsm
sm
md
lg

นานาสารธรรม : จริงหรือ บริจาคอวัยวะชาติหน้าพิการ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องการบริจาคอวัยวะนี้ ยังมีผู้คนอีกมากมายที่มีความเชื่อว่า หากบริจาคอวัยวะไปแล้ว เกิดชาติหน้าร่างกายจะไม่สมประกอบ หรือพิกลพิการไป เช่น บริจาคดวงตา ชาติหน้าเกิดมาจะตาบอด เป็นต้น

แต่จริงๆแล้ว การบริจาคอวัยวะไม่ได้เป็นอย่างที่เชื่อกัน ตรงกันข้าม กลับเป็นเรื่องที่ดีงาม เป็นบุญเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ เช่น การบริจาคดวงตา ชาติหน้าเกิดมาก็จะได้ดวงตาที่วิเศษสุด เป็นดวงตาทางปัญญา เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา กองบรรณาธิการ “ธรรมลีลา” จึงได้นำเนื้อหาการสนทนาระหว่างนายแพทย์วิศิษฐ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กับพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จากหนังสือเรื่อง “พระพุทธศาสนากับการบริจาคอวัยวะ” มาให้ศึกษากัน

บริจาคอวัยวะเป็นบุญสูงใหญ่

นพ.วิศิษฐ์ ฐิตวัฒน์ : มีข้อห้ามในศาสนาพุทธหรือไม่เกี่ยวกับเรื่อง “การบริจาคอวัยวะ”

พระพรหมคุณาภรณ์ : ตามปกติ ไม่มีข้อห้าม แมีแต่สนับสนุน เพราะการบริจาคอวัยวะเป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์และมีความสุข การบริจาคจึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น “ทศพิธราชธรรม” ก็ดี การบำเพ็ญ “บารมี” ของพระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็ดี ก็มีการบริจาคเป็นคุณธรรมข้อแรก

การบริจาคนี้ เป็นการให้เรียกว่า “ทาน” คือ การให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเรียกว่า “ทานบารมี” นั้น การบริจาคอวัยวะเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นความดีที่จำเป็นต้องทำเลยทีเดียว

เพราะการก้าวไปสู่โพธิญาณ ต้องมีความเข้มแข็งของจิตใจในการเสียสละเพื่อความดี ทั้งนี้ ทานที่เป็นบารมี แบ่งเป็น ๓ ขั้น เช่นเดียวกับบารมีอื่นๆ คือ

ทานบารมี ระดับสามัญ คือ การบริจาคทรัพย์สินเงินทองของนอกกาย ถึงจะมากมายแค่ไหนก็อยู่ในระดับนี้

ทานอุปบารมี คือ ทานบารมีระดับรองหรือจวนสูงสุด ได้แก่ ความเสียสละทำความดีถึงขั้นสามารถบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้

ทานปรมัตถบารมี คือทานบารมีขั้นสูงสุด ได้แก่ การบริจาคชีวิต เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือเพื่อรักษาธรรม

แน่นอนว่า การบริจาคอวัยวะนั้นเป็นคุณธรรมสำคัญ และเป็นบุญมากตามหลักพระพุทธศาสนา นอกจากเป็นบารมีขั้นทานอุปบารมีแล้ว ยังโยงไปหาหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “มหาบริจาค” คือ การบริจาคใหญ่ ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติอีก ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคราชสมบัติ บริจาคอวัยวะและนัยน์ตา บริจาคตัวเองหรือบริจาคชีวิต และบริจาคบุตรภรรยา

บริจาคบุตรและภรรยานั้น คนสมัยใหม่อาจจะมองในทางที่ไม่ค่อยดี แต่ต้องเข้าใจว่า การบริจาคบุตรภรรยานี้ไม่ใช่ไปมองในแง่ทอดทิ้งบุตรภรรยา แต่มองในแง่ที่สามารถสละความหวงแหนยึดถือทางจิตใจอย่างคนทั่วไป ที่เมื่อมีความยึดถือผูกพันด้วยความรัก ก็มักจะมีความเอนเอียงเป็นอย่างน้อย

ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้คือพระโพธิสัตว์นั้น จิตใจจะต้องตรงต่อธรรม สามารถรักษาความถูกต้อง โดยไม่เห็นแก่อะไรทั้งสิ้น จึงต้องสละความยึดถือแม้แต่ลูกเมียได้ แต่การจะสละบุตรภรรยาคือยอมให้เขาไปกับใครนั้น มีข้อแม้ว่า ต้องให้เขายินดีพอใจหรือเต็มใจด้วย ถ้าเขาไม่พอใจก็ไม่บริจาค ท่านมีเงื่อนไขไว้แล้ว

หันกลับมาเรื่องการบริจาคอวัยวะ เป็นอันว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้จำเป็นต้องบำเพ็ญมหาบริจาค ซึ่งมีการบริจาคอวัยวะ บริจาคนัยน์ตา บริจาคชีวิตรวมอยู่ด้วย

เพราะฉะนั้น จึงเป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่าไม่มีการห้าม นอกจากจะทำด้วยโมหะและโดยไม่มีเหตุผล ส่วนการทำอย่างมีเหตุผล คือมีจิตเมตตากรุณา ต้องการเสียสละให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นนี้ ท่านสนับสนุน

บริจาคอวัยวะคนตาย บุญได้แก่ใคร

นพ.วิศิษฐ์ ฐิตวัฒน์ : ถ้าถามว่า การบริจาคอวัยวะนั้นได้บุญหรือไม่ และใครเป็นคนได้ อย่างเช่นคนหนึ่งแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ แต่เสียชีวิตในภาวะที่ไม่สามารถบริจาคได้ กับอีกคนหนึ่งไม่ได้แสดงความจำนงบริจาค แต่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายแล้ว ญาติได้ตัดสินใจบริจาค ลักษณะนี้ไม่ทราบว่าใครจะเป็นคนได้บุญ หรือได้บุญมากน้อยอย่างไร

พระพรหมคุณาภรณ์ : ในแง่นี้ต้องแยกออกเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือ “เป็นบุญหรือไม่?” ซึ่งตอบได้เลยว่า เป็นบุญอยู่แล้ว ดังที่พระโพธิสัตว์ท่านบริจาค และเป็นบุญชั้นสูงถึงขั้นเรียกว่า “บารมี” เลยทีเดียว

แต่สำหรับคนทั่วไปจะมีความตั้งใจที่จะบรรลุโพธิญาณหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้มีความตั้งใจไม่ได้ตั้งปณิธานอย่างนี้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นบารมี แต่เป็นบุญซึ่งจัดว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เพราะเป็นบุญที่ทำได้ยาก ต้องมีความเสียสละจริงๆ เป็นอันว่าได้บุญแน่นอน เพราะเกิดจากเจตนาที่เสียสละให้ด้วยความกรุณาปรารถนาดีต่อผู้อื่นอันใหญ่หลวง

ส่วนที่ว่า “ใครจะเป็นผู้ได้บุญ?” นั้น ตอบง่ายๆว่า ใครเป็นผู้บริจาค คนนั้นก็ได้ เพราะมันอยู่ที่เจตนาของผู้นั้น ในกรณีที่เป็นคนที่ตายไปแล้ว และญาติบริจาค ก็เลยกลายเป็นว่า คนที่ตายไปแล้วไม่ได้รับ เพราะว่าไม่ได้เจตนา ในแง่นี้ต้องพูดอีกขั้นหนึ่ง คือญาติที่บริจาคนั้นต้องอุทิศกุศลไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ในทางธรรมถือว่า ถ้าบริจาคในขณะที่ตัวยังเป็นอยู่ก็จะเป็นบุญขั้นสูง

นพ.วิศิษฐ์ ฐิตวัฒน์ : คนที่ได้รับอวัยวะไปแลัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ เขาจะได้รับผลบุญนั้นหรือไม่ เพราะทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ไม่ได้บอกชื่อของคนที่บริจาคให้ ผู้ที่รับอวัยวะไป จะอธิษฐานอย่างไรดี

พระพรหมคุณาภรณ์ : แม้จะไม่ระบุชื่อผู้ที่เราอุทิศส่วนกุศลให้ เพียงแต่ตั้งใจว่า อุทิศให้แก่เจ้าของอวัยวะที่บริจาคให้เรา หรือที่เราได้รับบริจาคนี้ก็พอแล้ว

บริจาคอวัยวะแล้ว เกิดใหม่ร่างกายยิ่งดี

นพ.วิศิษฐ์ ฐิตวัฒน์ : ปัญหาที่เราเจอ ในการทำการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ คือบางคนก็ยังมีความเชื่อว่า ถ้าให้อวัยวะเขาไปแล้วในชาตินี้ เกิดมาชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ

พระพรหมคุณาภรณ์ : อันนี้ไม่จริงเลย มีแง่พิจารณา ๒ อย่างด้วยกัน
๑. ในแง่หลักฐานทางคัมภีร์แสดงว่า พระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบริจาคนัยน์ตา ก็เป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้สมันตจักษุ คือเป็นพระเนตรหรือดวงตาที่เป็นพิเศษสุดของพระพุทธเจ้า ซึ่งเราแปลว่า ดวงตาซึ่งมองเห็นโดยรอบ ไม่ใช่ดวงตาที่เป็นวัตถุอย่างเดียว แต่หมายถึงดวงตาทางปัญญาด้วย ในแง่พระคัมภีร์ก็สนับสนุนชัดเจนว่า ชาติหน้ามีแต่ผลดี

๒. ในแง่เหตุผลที่เข้าใจกันว่า บริจาคอวัยวะไปแล้ว เกิดมาอวัยวะจะบกพร่อง เหตุผลที่ถูกต้อง ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องมองว่า ชีวิตที่เกิดมานี้ จิตใจเป็นส่วนสำคัญในการปรุงแต่งสร้างสรรค์ อย่างเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเรามีเมตตาคิดดีปรารถนาดีต่อผู้อื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส ต่อไปหน้าตาเราก็ถูกปรุงแต่งให้แจ่มใสเบิกบาน

ในทางกลับกัน ถ้าเราคิดร้ายต่อผู้อื่น มักโกรธ อยากจะทำร้ายรังแกเขาอยู่เรื่อย หน้าตาก็จะบึ้งตึง เครียด หรือถึงกับดูโหดเหี้ยม นี้เป็นผลมาจากสภาพที่เคยชินในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในชาติปัจจุบันนี้เอง

ทีนี้ชีวิตที่จะเกิดต่อไป ก็จะต้องอาศัยจิตที่มีความสามารถในการปรุงแต่ง ขอให้คิดง่ายๆว่า คนที่บริจาคอวัยวะให้คนอื่น ก็คือปรารถนาดีต่อเขา อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ หายเจ็บป่วย อยากให้เขาเป็นสุข

จิตอย่างนี้ในตอนคิดก็เป็นจิตที่ดี คือจิตใจยินดีเบิกบาน คิดถึงความสุขความดีงามความเจริญ จิตก็จะสะสมความโน้มเอียงและพัฒนาความสามารถในด้านนี้ ถ้าคิดบ่อยๆ จิตก็จะยิ่งมีความสามารถและมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะปรุงแต่งให้ดี และคุณสมบัตินี้ก็จะฝังอยู่เป็นสมรรถภาพของจิต

เพราะฉะนั้น ในการบริจาค เราจึงต้องทำจิตให้ผ่องใส ให้ประกอบด้วยคุณธรรม มีเมตตา ปรารถนาดี และอันนี้แหละที่จะทำให้เราได้บุญมาก

ตรงกันข้ามกับคนที่คิดร้ายอยู่เสมอ คิดแต่จะโกรธ คิดแต่จะรังแกสัตว์ อยากจะร้ายคนโน้นคนนี้ คนที่คิดทำร้ายเขานั้น จิตจะคิดจะนึกถึงการบุบสลาย ความเจ็บปวด อาการมีเลือดไหล สภาพแตกหัก แหว่งวิ่น บกพร่อง ขาดหาย และการสูญเสียที่ร้ายๆ ไม่ดีทั้งนั้น

และเมื่อคิดอยู่เสมอ จิตก็มีความโน้มเอียงที่จะคิดในแง่นี้ และก็จะพัฒนาความสามารถที่จะคิดไปในทางที่ไม่ดี ในการทำลาย ในการแตกสลาย คิดถึงชีวิต คิดถึงคนเมื่อไร ก็จะมองเห็นแต่รูปร่างไม่ดี บุบสลาย แขนขาด ขาขาด เจ็บปวดทรมาน นานเข้าบ่อยเข้า คนอย่างนี้ก็จะหมดความสามารถในการปรุงแต่งในทางที่ดี

คนที่ทำร้ายคนอื่น ชอบรังแกข่มเหงคนอื่น หรือคิดร้ายอยู่เสมอ เมื่อไปเกิดใหม่ก็จะมีปัญหาเรื่องความบกพร่องของอวัยวะ มักเจ็บป่วยประสบอันตรายอะไรต่างๆ เพราะว่าจิตสะสมความโน้มเอียงและพัฒนาความสามารถในทางที่ไม่ดีจนฝังลึก เรียกว่าลงร่องอย่างนั้น แล้วมันจะปรุงแต่งชีวิตร่างกายของตัวให้เป็นไปในทางนั้น หรือได้อย่างนั้น แค่นั้น

ในทางตรงข้าม จิตที่พัฒนาความสามารถในทางที่ดี เช่น เมื่อบริจาคอวัยวะ เราคิดถึงคนอื่นในทางที่ดีมีกรุณาธรรม การที่เราบริจาคอวัยวะให้เขานั้น ก็คือจะทำให้เขามีร่างกายมีอวัยวะสมบูรณ์ขึ้น พ้นจากความบกพร่อง ให้เขาหน้าตาผ่องใส ให้เขามีชีวิตอยู่กับครอบครัวญาติมิตรของเขาอย่างมีความสุข

ความคิดอย่างนี้ ยิ่งจิตเราคิดบ่อยก็ยิ่งดี เมื่อเราคิดหรือนึกถึงบ่อยๆ จิตของเราก็จะมีความโน้มเอียง พร้อมทั้งพัฒนาความสามารถที่จะปรุงแต่งให้ดี

พอไปเกิดใหม่จิตจะปรุงแต่งอะไรก่อนล่ะ จิตก็ต้องปรุงแต่งชีวิตของตัวเองนั่นแหละ เมื่อจิตสะสมมามีความโน้มเอียง และมีความสามารถในทางที่ดีอย่างนั้น มีแต่ภาพของร่างกายและอวัยวะที่สวยงามสมบูรณ์ซึ่งได้สะสมไว้ มันก็จะปรุงแต่งชีวิตร่างกายรูปร่างหน้าตาให้ดี ให้งาม ให้สมบูรณ์ อันนี้ก็เป็นเหตุผลในเรื่องของกรรม คือหลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมตามธรรมชาตินั่นเอง

ในเรื่องของกรรมนั้น “เจตนา” เป็นตัวการสำคัญในการปรุงแต่ง และจุดแรกเมื่อคนเกิดคือเริ่มชีวิตขึ้น ก็เป็นธรรมดาว่า จะต้องปรุงแต่งชีวิตของตนนั้นเอง มันไม่ปรุงแต่งที่ไหนอื่น มันก็ใช้ความสามารถนั้นปรุงแต่งชีวิตของตนเองก่อนอื่น มันมีความโน้มเอียงและความสามารถอย่างไร ก็ปรุงแต่งอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น จึงแน่นอนว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องการบริจาคอวัยวะ ไม่มีปัญหาข้อขัดข้องทางพระพุทธศาสนาและเหตุผลตามกฎธรรมชาติ แต่มีเหตุผลในทางสนับสนุน

บริจาคอวัยวะได้ที่ไหนบ้าง

บริจาคดวงตา

ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย 1871อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร(เจริญ สุวฑฒโน) ชั้น 7 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 0-2252-8131-9, 0-2252-8181-9, ต่อศูนย์ดวงตา ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ 0-2256-4039, 0-2256-4040, 08-1902-5938 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.eyebankthai.com

บริจาคอวัยวะอื่นๆ

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โทร. 1666 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมหรือพิมพ์แบบฟอร์มบริจาคอวัยวะได้ที่เว็บไซต์ www.organdonate.in.th

อวัยวะที่รับบริจาคได้แก่ ตับ ไต หัวใจ ลิ้นหัวใจ ปอด

ทั้งนี้ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้ขยายกิจกรรมโดยจัดตั้งคลังเนื้อเยื่อ เพื่อจัดทำกระดูก ผิวหนัง เพิ่มเติมจากลิ้นหัวใจ โดยจะเปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยทั่วประเทศได้ในปี 2557

ข้อกำหนดในการบริจาคอวัยวะ

- ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
- เสียชีวิตจากภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่างๆ
- ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
- ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
- อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี
- ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย กองบรรณาธิการ)






กำลังโหลดความคิดเห็น