xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดสธ.กางเอกสารยันชัด ไม่เคยเสนอร่วมจ่ายค่ารักษา คาดถูกโยงการเมืองภายใน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด สธ. กางเอกสารวาระการประชุมร่วม คสช. ยันไร้ข้อเสนอร่วมจ่าย 30-50% สิทธิบัตรทอง ด้าน“หมอธวัชชัย" ยืดอกรับเสนอความเห็นร่วมจ่าย ด้าน ศิริราช เห็นด้วยร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลระบบหลักประกันฯ ชี้ชัดทำโรงพยาบาลขาดทุนปีละ 400 ล้าน ที่โรงพยาบาลอยู่ได้เพราะเงินบริจาค

วานนี้ (15 ก.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. แถลงข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยนำเอกสารข้อเสนอการดำเนินงานตามนโยบายด้านสาธารณสุข ต่อ คสช. มาเป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าไม่เคยมีการเสนอให้มีการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแต่อย่างใด โดย นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ข้อเสนอนโยบายที่ สธ. เสนอต่อ คสช. แบ่งเป็นมาตรการ 3 ระยะ 11 เรื่อง คือ 1. มาตรการระยะเร่งด่วน มี 4 เรื่อง คือ การพัฒนาระบบบริการที่ดีเพื่อประชาชน เช่น ไม่ให้มีการคอร์รัปชันเรื่องเวลาในการตรวจคนไข้ เรื่องปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับจังหวัดและ กอ.รมน. เรื่องขวัญและกำลังใจของบุคลากรในเรื่องตำแหน่งและค่าตอบแทน และกลไกอภิบาลระบบ ซึ่งประชาคมสาธารณสุขก็ได้นำเรื่องนี้มาประชุมเพื่อปกป้องระบบจากการทุจริตคอร์รัปชัน 2. มาตรการระยะกลาง มี 5 เรื่อง คือ ปฏิรูปเขตบริการสุขภาพ ปฏิรูปการเงินการคลังลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ ข้อมูลระบบสุขภาพ กฎหมายที่ต้องเร่งดำเนินการ และกลไกสร้างความเป็นเอกภาพของนโยบาย และ 3. มาตรการระยะยาวมี 2 เรื่อง คือ การจัดบริการแบบเขตสุขภาพ และแผนกำลังคน

“สำหรับเรื่องการปฏิรูประบบการเงินการคลังนั้น ก็จะเน้นในการบริหารการเงินการคลังสุขภาพแห่งชาติควรไปในทิศทางเดียวกัน เพิ่มความเสมอภาคของทุกองทุนสุขภาพ โดยบริหารงานร่วมกันภายใต้เขตบริการสุขภาพ มีการกำหนดสิทธิประโยชน์กลาง และพัฒนาฐานข้อมูลกลาง จะเห็นได้ว่าทั้ง 11 เรื่อง ไม่มีการพูดหรือเสนอเรื่องการร่วมจ่าย (Co-Payment) จาก สธ.แต่อย่างใด สิ่งที่ผมชี้แจงคือความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันที่ 31 พ.ค. ซึ่ง คสช. ได้มาตรวจเยี่ยม สธ. ซึ่งความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ แต่ที่น่าสังเกตคือ มีกระบวนการที่พยายามทำให้เป็นเกมการเมืองหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีนักการเมือง แต่กลับมีการเล่นเกมการเมือง ขณะที่ สธ. กำลังเดินหน้าเรื่องการจัดบริการที่ดี การบริหารจัดการที่โปร่งใส ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้งโยกย้าย เป็นต้น” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ถ้าตนจะนำเสนอเรื่องการร่วมจ่าย ตนจะนำเสนอเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นเสนอ ส่วนเอกสารข้อสรุปที่เผยแพร่ออกไปนั้น เป็นการสรุปของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะมีการส่งเวียนไปให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดรับทราบ ว่าเป็นไปตามที่ประชุมกันหรือไม่ และจะรับรองตามนั้นหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการลงชื่อรับรองแต่อย่างใด โดยท้ายสุดเอกสารนี้จะส่งไปยังฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ลงนามรับรองข้อสรุปการประชุม ทั้งนี้ ยืนยันว่า การใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพยังคงเหมือนเดิม ประชาชนยังไม่ต้องมีการร่วมจ่ายหรือการเก็บเงินเหมือนที่ลือกันสังคมออนไลน์แต่อย่างใด ส่วนผู้ปฏิบัติงานตนอยากจะสื่อสารว่า ขอให้ทำงานต่อไปและอย่าใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ในฐานะตัวแทนประชาคม สธ. กล่าวว่า การที่ออกมาพูดเรื่องนี้เป็นการโจมตีปลัด สธ. ชัดเจน และเป็นเกมการเมือง เพราะปลัด สธ. ไม่ได้เป็นผู้เสนอ

** "หมอธวัชชัย" ยืดอกรับเสนอร่วมจ่าย

นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ความจริงแล้วเรื่องนี้ตนเป็นผู้เสนอแนวทางในการร่วมจ่ายบัตรทองเอง ไม่ใช่ปลัด สธ.เป็นผู้เสนอ ซึ่งไม่คิดว่าการที่ตนเสนอความคิดเห็นในวันนั้นจะกลายเป็นประเด็นที่นำมาสู่ปัญหาได้ แต่ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีการเสนอให้มีการร่วมจ่าย 30-50% แต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการให้ผู้บริหารรับทราบปัญหาในระบบหลักประกันฯ เพื่อนำมาซึ่งการแก้ไขซึ่งการร่วมจ่าย เพราะตนก็เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมาก่อน จึงรับทราบปัญหานี้ดี เมื่อได้มาเป็นผู้บริหารจึงอยากให้มีการแก้ไขปัญหานี้

"ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนพยายามเสนอความคิดเห็นเรื่องการร่วมจ่าย เพื่อแก้ปัญหางบประมาณด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด แต่เมื่อมีการพูดถึงเรื่องนี้ก็มักจะข้ามผ่านเรื่องนี้ไป ทั้งที่จริงๆ แล้วเรามีการร่วมจ่ายมาตั้งแต่แรก แต่คนกลับเข้าใจผิดว่าการร่วมจ่ายไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งความจริงแล้วผู้ออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพก็มีการระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่าย ค่าบริการที่เกิดขึ้นแก่หน่วยบริการแต่ละครั้ง ช่วงเริ่มหลักประกันใหม่ๆ ก็มีการต่อรองให้ร่วมจ่ายกันอยู่ที่ 30 บาทต่อครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค ส่วนการฟอกไตอยู่ที่ 500 บาท เป็นต้น" นพ.ธวัชชัย กล่าว

นพ.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า การเสนอให้ร่วมจ่าย 30-50% ถือเป็นเรื่องเกินความเป็นจริง และไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริงที่มีการสรุปในที่ประชุม น่าจะเป็นเพียงตัวเลขที่อ้างอิงจากต่างประเทศมากกว่า เพราะเรื่องนี้ สปสช.ต้องเป็นผู้กำหนด ซึ่งการเก็บหรือไม่เก็บไม่ควรมองแต่เรื่องเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว ต้องคำนึงถึงผู้ให้บริการด้วย เพราะทุกวันนี้ทุกโรงพยาบาลก็ค่อนข้างตกระกำลำบาก ต้องดูแลตรงนี้ด้วย หากให้ฟรีทุกอย่างก็อาจเป็นประชานิยมได้ และระบบก็จะแบกรับไม่ไหว ซึ่งการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีข้อดีคือ 1.สร้างความเป็นธรรมในระบบ เพราะต้องยอมรับว่า 3 กองทุนสุขภาพมีความไม่เท่าเทียมกันสูง อย่างประกันสังคม และข้าราชการก็ต้องมีการร่วมจ่าย ถุงปัสสาวะ ท่อน้ำเกลือ ค่าห้องพิเศษ ก็ต้องจ่ายเองทั้งหมด แต่สิทธิบัตรทองได้รับบริการที่เป็นประโยชน์เต็มๆ โดยไม่ต้องเสียเงิน

2.จะช่วยให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนควรร่วมจ่ายในกลุ่มโรคที่ตัวเองเป็นผู้ก่อ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า คือควรมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้ผู้อื่นมาดูแล ซึ่งทุกวันนี้มีผู้ใช้สิทธิบัตรทองมารับบริการเพิ่มมากขึ้นจาก 1-2 ครั้งต่อคนต่อปี กลายเป็น 4-5 ครั้งต่อคนต่อปี รวมแล้วกว่า 200-250 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งภาครัฐต้องดูแลประชาชนหนักมาก ขณะที่โรงพยาบาลก็มีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างวิกฤต 3.เป็นการสร้างความมั่นคงระบบหลักประกันฯ เพราะที่ผ่านมาพบว่างบประมาณรายหัวเพิ่มขึ้นตลอด จากเดิมหัวละประมาณ 1,200 บาทต่อคน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 3,000 กว่าบาท รัฐต้องแบกรับภาระงบประมาณทั้งค่ายาค่าบุคลากร และ 4.สร้างความเป็นระบบในสังคม คือคนรวยคนจนไปใช้สิทธิส่วนของการรักษาฟรีเช่นกัน แต่คนที่มีฐานะก็ควรร่วมจ่ายบ้าง ซึ่งปัจจุบันมีการออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการร่วมจ่ายให้เป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งนอกเหนือไปจาก 21 กลุ่มที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันฯ ว่าไม่ต้องร่วมจ่าย ทั้งนี้ การเสนอแนวทางดังกล่าว เป็นการเสนอเพื่อแก้ปัญหาโดยรวมของประเทศ ไม่กลัวที่จะพูดประเด็นดังกล่าว เพราะไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง และเชื่อว่าเป็นการพูดในเรื่องที่ถูกต้อง

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ยืนยันว่าขณะนี้ประชาชนใช้บริการได้ตามปกติ ตามกติกาเดิม

** แพทย์ชนบท จวก ปลัด สธ.

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ชมรมฯไม่เห็นด้วยกับแนวทางการร่วมจ่าย ซึ่งการร่วมจ่ายแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ตามสิทธิประโยชน์ต้องไม่มีการร่วมจ่ายในกรณีใดๆทั้งสิ้น ในฐานะที่รัฐบาลจัดงบประมาณให้บัตรทองเป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ส่วนการรักษานอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ ก็ไม่ขัดข้องว่าเป็นเรื่องที่ยังไงก็ต้องจ่าย เช่น ผู้ป่วยปวดหัวแต่ต้องการให้เอ็กซเรย์หรือซีทีสแกน โดยแพทย์วิเคราะห์ว่าไม่มีข้อบ่งชี้ เป็นต้น ส่วนเรื่องการขอรับบริการพร่ำเพรือเชื่อว่ามีเปอร์เซ็นต์อยู่จำนวนน้อยจนไม่ควรมีการนำมาพูดถึงมาตรการลงโทษ สำหรับกรณีเอกสารสรุปการประชุมกับ คสช.ว่าเห็นด้วยกับระบบร่วมจ่ายนั้น แม้ นพ.ณรงค์ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนเสนอ แต่ผู้ที่เสนอก็อยู่ในประชาคมสาธารณสุข เหตุใดจึงไม่มีใครคัดค้าน

** ศิริราชเห็นด้วยร่วมจ่าย

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นโครงการที่ดีและทำมานาน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการเงินการคลังของโรงพยาบาลไม่น้อยเช่นกัน เพราะรัฐบาลมีงบประมาณจำกัดในส่วนของค่ารักษาพยาบาล แต่โรงพยาบาลกลับต้องให้การรักษาอย่างเต็มที่และดีที่สุดกับผู้ป่วย ขณะที่โครงสร้างประชากรขณะนี้เปลี่ยนแปลงเหมือนกันทั่วโลก อย่างคนไทยอายุเฉลี่ยของผู้สูงอายุจากอายุ 60 ปี เพิ่มเป็น 73 ปี หมายถึงโรคแทรกซ้อนที่จะเพิ่มขึ้น การใช้ยาเพิ่มขึ้น ขณะที่งบประมาณจำกัดและถูกควบคุม ซึ่งไม่สอดคล้องกันตามหลักธรรมชาติ หลักประกันสุขภาพฯ มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ ให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม แต่ใน 48 ล้านคน ความจริงแล้วครึ่งหนึ่งเป็นคนที่มีความสามารถจ่ายเงินได้ ดังนั้น การร่วมจ่ายจึงเป็นการช่วยรัฐบาลและโรงพยาบาลให้อยู่ได้

“การให้บริการในส่วนหลักประกันสุขภาพฯ ทำให้ รพ.ศิริราช ขาดทุนปีละ 400 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค และได้เงินบำรุงโรงพยาบาลมาเติมทำให้สามารถอยู่ได้ แต่โรงพยาบาลอื่น หากไม่มีเงินบำรุงจะทำอย่างไร ทั้งนี้ แนวทางการร่วมจ่าย ที่ไม่สามารถทำได้ทุกวันนี้ เพราะเป็นเรื่องประชานิยม ทุกคนได้ฟรีจนมองว่า แค่ 30 บาท ก็จ่ายไม่ได้ แต่จำเป็นต้องเข้าใจว่า ถ้ายากไร้ อย่างไรรัฐก็ต้องดูแล แต่เรากำลังพูดถึงคนที่มีศักยภาพสามารถจ่ายได้ ก็ต้องช่วยเหลือ โดยต้องกลับมาดูหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ เพราะมีแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อยู่แล้ว” ศ.นพ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น