ปลัด สธ. แอ่นอก ลั่นพูดความจริงต่อสังคม พร้อมกางเอกสารวาระการประชุมร่วม คสช. ชัดเจน ยันไร้ข้อเสนอร่วมจ่าย 30-50% สิทธิบัตรทอง ระบุเป็นเพียงข้อเสนอความคิดเห็นช่วงอภิปราย หลังหารือ คสช. แล้ว ตั้งข้อสังเกตมีคนกำลังเล่นการเมือง ทั้งที่เป็นช่วงไร้นักการเมือง ด้านประชาคม สธ. จวกคนให้ข้อมูลพูดโกหก ต้องการโจมตีหลัด สธ. ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีภาคประชาสังคมนำเอกสารข้อสรุปการประชุมข้อเสนอนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาสัย รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาเปิดเผย โดยระบุว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เป็นผู้เสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ 30-50% ซึ่ง คสช. ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ทำให้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มเอ็นจีโอคือ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพ ออกมาคัดค้านประเด็นดังกล่าว ซึ่งต่อมาปลัด สธ. ได้ยืนยันว่าไม่มีข้อเสนอนี้ในที่ประชุม ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมและเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องคือ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่าจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้เสนอเรื่องดังกล่าว แต่ทางกลุ่มภาคประชาสังคมก็ยืนยันให้ปลัด สธ.ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ พร้อมขอให้ พล.ร.อ.ณรงค์ นำเอกสารตัวจริงมาเผยแพร่ หากไม่มีเรื่องการร่วมจ่ายจริงจะยอมหยุดวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าว
วันนี้ (15 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยนำเอกสารข้อเสนอการดำเนินงานตามนโยบายด้านสาธารณสุข ต่อ คสช. มาเป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าไม่เคยมีการเสนอให้มีการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแต่อย่างใด โดย นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ข้อเสนอนโยบายที่ สธ. เสนอต่อ คสช. แบ่งเป็นมาตรการ 3 ระยะ 11 เรื่อง คือ 1. มาตรการระยะเร่งด่วน มี 4 เรื่อง คือ การพัฒนาระบบบริการที่ดีเพื่อประชาชน เช่น ไม่ให้มีการคอร์รัปชันเรื่องเวลาในการตรวจคนไข้ เรื่องปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับจังหวัดและ กอ.รมน. เรื่องขวัญและกำลังใจของบุคลากรในเรื่องตำแหน่งและค่าตอบแทน และกลไกอภิบาลระบบ ซึ่งประชาคมสาธารณสุขก็ได้นำเรื่องนี้มาประชุมเพื่อปกป้องระบบจากการทุจริตคอร์รัปชัน 2. มาตรการระยะกลาง มี 5 เรื่อง คือ ปฏิรูปเขตบริการสุขภาพ ปฏิรูปการเงินการคลังลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ ข้อมูลระบบสุขภาพ กฎหมายที่ต้องเร่งดำเนินการ และกลไกสร้างความเป็นเอภาพของนโยบาย และ 3. มาตรการระยะยาวมี 2 เรื่อง คือ การจัดบริการแบบเขตสุขภาพ และแผนกำลังคน
“สำหรับเรื่องการปฏิรูประบบการเงินการคลังนั้น ก็จะเน้นในการบริหารการเงินการคลังสุขภาพแห่งชาติควรไปในทิศทางเดียวกัน เพิ่มความเสมอภาคของทุกองทุนสุขภาพ โดยบริหารงานร่วมกันภายใต้เขตบริการสุขภาพ มีการกำหนดสิทธิประโยชน์กลาง และพัฒนาฐานข้อมูลกลาง จะเห็นได้ว่าทั้ง 11 เรื่อง ไม่มีการพูดหรือเสนอเรื่องการร่วมจ่าย (Co-Payment) จาก สธ.แต่อย่างใด สิ่งที่ผมชี้แจงคือความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันที่ 31 พ.ค. ซึ่ง คสช. ได้มาตรวจเยี่ยม สธ. ซึ่งความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ แต่ที่น่าสังเกตคือ มีกระบวนการที่พยายามทำให้เป็นเกมการเมืองหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีนักการเมือง แต่กลับมีการเล่นเกมการเมือง ขณะที่ สธ. กำลังเดินหน้าเรื่องการจัดบริการที่ดี การบริหารจัดการที่โปร่งใส ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้งโยกย้าย เป็นต้น” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ถ้าตนจะนำเสนอเรื่องการร่วมจ่าย ตนจะนำเสนอเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นเสนอ ส่วนเอกสารข้อสรุปที่เผยแพร่ออกไปนั้น เป็นการสรุปของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะมีการส่งเวียนไปให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดรับทราบ ว่าเป็นไปตามที่ประชุมกันหรือไม่ และจะรับรองตามนั้นหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการลงชื่อรับรองแต่อย่างใด โดยท้ายสุดเอกสารนี้จะส่งไปยังฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ลงนามรับรองข้อสรุปการประชุม ทั้งนี้ ยืนยันว่า การใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพยังคงเหมือนเดิม ประชาชนยังไม่ต้องมีการร่วมจ่ายหรือการเก็บเงินเหมือนที่ลือกันสังคมออนไลน์แต่อย่างใด ส่วนผู้ปฏิบัติงานตนอยากจะสื่อสารว่า ขอให้ทำงานต่อไปและอย่าใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการเข้าพบเพื่อรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นทาง คสช. หรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในกระทรวง แต่ทั้งหมดก็จะมีการรายงานต่อ คสช. แน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเชิญผู้ที่ออกมาให้ข่าวมาชี้แจงทำความเข้าใจหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีภาคประชาชนมีความเป็นห่วง เรื่องการยุบกองทุนย่อยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ไม่ได้ยุบหรือเข้าไปยุ่งแต่อย่างใด แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพราะในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบล และกองทุนสุขภาพอื่นๆ อีกมาก เมื่อมีงบประมาณแต่หากไม่มีการจัดการและตั้งเป้าการทำงานให้ชัดเจน ก็จะเป็นการใช้งบที่ไม่เกิดประโยชน์
ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ในฐานะตัวแทนประชาคม สธ. กล่าวว่า การที่ออกมาพูดเรื่องนี้เป็นการโจมตีปลัด สธ. ชัดเจน และเป็นเกมการเมือง เพราคนพูดรู้ดีว่าการเอาเรื่องการร่วมจ่ายออกมาพูด ประชาชนจะต้องรู้สึกเดือดร้อน แต่การออกมาพูดเป็นการพูดแบบบิดเบือน เพราะปลัด สธ. ไม่ได้เป็นผู้เสนอ ซึ่งการพูดเรื่องการร่วมจ่ายเป็นเพียงการเสนอช่วงที่การเสนอนโยบายเสร็จสิ้นแล้ว เป็นการให้ความเห็นเท่านั้น แต่กลับหยิบเอาจุดนี้มาเล่น จึงอยากฝากถามคนที่กำลังเล่นเกมการเมืองนี้รู้จักบาปหรือไม่ เพราะถือเป็นการโกหกในวันเข้าพรรษา ซึ่งถือว่าเป็นวันพระใหญ่
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่