สธ. เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลชุมชน เป็นเครือข่ายรองรับผู้ป่วยโรคหัวใจใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ให้ยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลันได้ ขณะที่ การสวนหัวใจ ให้โรงพยาบาลระดับจังหวัดเป็นตัวหลัก ระบุที่ผ่านมาโรงพยาบาลหาดใหญ่และตรัง เพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลันได้ร้อยละ 70 ส่วนผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจ ระยะเวลารอผ่าตัดลดลงเหลือ 2 -12 เดือน
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลหาดใหญ่ รับฟังแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) และแผนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ตรัง พัทลุง ยะลา สตูล โดยปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของพื้นที่คือ การป่วยและตายและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก ไข้เลือดออก ฟันผุ การบาดเจ็บและตายจากสถานการณ์ความไม่สงบ โรคเรื้อน การดูแลผู้เดินทางไปแสวงบุญ สาธารณสุขชายแดน การจัดบริการในพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่เกาะ พื้นที่มีความไม่สงบ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากการรับฟังแผนการพัฒนาและแผนการจัดบริการของพื้นที่ พบว่า เขตสุขภาพที่ 12 มีความพร้อมในการจัดบริการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน โดยมีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม และภาคเอกชน ซึ่งการจัดบริการมีความเฉพาะพิเศษจากพื้นที่อื่น เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดน และมีปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ต้องศึกษาข้อมูลและเติมเต็มศักยภาพในการจัดบริการด้านสุขภาพ สำหรับในการจัดบริการผู้ป่วยโรคหัวใจ ในเขตสุขภาพที่ 12 เดิมในปี 2544 มีผู้ป่วยรอผ่าตัดมากกว่า 2,000 ราย รอนานประมาณ 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์แห่งเดียวที่ผ่าตัดได้ ในการแก้ปัญหาระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ส่งผู้ป่วยไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชน ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีแผนพัฒนาระบบบริการ ซึ่งโรคหัวใจเป็น 1 ใน 10 โรคสำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนาในระยะแรก ดังนั้นเขตตรวจราชการที่ 12 ขึ้น จึงได้ทำแผนดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจเป็น “เครือข่ายโรคหัวใจเขต 12” โดยในผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลัน มีนโยบายให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง สามารถให้ละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic agent) ผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลัน ภายใต้ระบบการให้คำปรึกษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนส่งรักษาต่อ
ส่วนโรงพยาบาลระดับจังหวัด ได้เพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วย เช่น การสวนหัวใจ ที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษคือเครื่องช่วยสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization Laboratory) ขณะนี้ทำได้ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลตรัง โดยโรงพยาบาลหาดใหญ่เปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว 746 ราย ระยะเวลารอคอย 4 - 5 เดือน ส่วนโรงพยาบาลตรัง เปิดให้บริการเดือนพฤษภาคม 2557 ให้บริการไปแล้ว 23 ราย ระยะเวลารอคอย ประมาณ 2 เดือน และในปี 2558 จะเพิ่มศักยภาพให้โรงพยาบาลยะลาเปิดบริการได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเครื่องมือ นอกจากนี้ ได้จัดให้มีช่องทางด่วน (fast tract) ในการรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชน ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจเข้าถึงบริการรับยาละลายลิ่มเลือดและเปิดหลอดเลือดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 โดยตั้งเป้าอัตราการตายด้วยโรคหัวใจเฉียบพลันลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10
สำหรับการผ่าตัดเปิดหัวใจ ขณะนี้ผู้ป่วยได้รับบริการเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าตัว ทำผ่าตัดได้ใน 3 โรงพยาบาล คือ หาดใหญ่ ตรัง และ ยะลา โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เฉลี่ยผ่าตัดได้ปีละมากกว่า 300 ราย ซึ่งการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการผ่าตัดหัวใจได้มีจัดระบบการส่งต่อโดยกระจายผู้ป่วย ให้รักษาใกล้บ้าน รอไม่นาน โดยให้โรงพยาบาลตรังรับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดสตูล และ พัทลุง โรงพยาบาลหาดใหญ่ รับจากจังหวัดสงขลาและปัตตานี ส่วนโรงพยาบาลสงขลานครินทร์รับจากจังหวัดสงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่