xs
xsm
sm
md
lg

คณะแพทย์ฯ ม.อ.เปิดเกมรุกแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) ภาพเหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุเผาโรงเรียน 6 แห่งใน จ.ปัตตานี  เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะแพทย์ฯ ม.อ. เปิดเสวนาพัฒนาบุคลากรสร้างความเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ย้ำต้องสร้างความเข้าใจให้สามารถอยู่ได้ท่ามกลางความขัดแย้ง เผยปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การให้การศึกษา ชี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพจน-โง่-เจ็บ เหน็บรัฐไทยใช้ความรู้เก่าเข้าสู่สงครามใหม่ แนะผลักดันสาธารณสุขเชิงป้องกัน

ที่ห้องประชุมตึกบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ได้มีการประชุมสัมมนาโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่ออนาคตของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รุ่นที่ 2 จำนวน 50 คน เพื่อเตรียมความพร้อม มีวิสัยทัศน์ มีภาวะผู้นำ มีทัศนคติในการทำงานเชิงรุก มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการบริหารจัดการในยุคใหม่ พร้อมที่จะขับเคลื่อนผลงานที่เป็นเลิศสู่สังคม ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง

ซึ่งในการประชุมสัมมนา เพื่อทำเวิร์กชอปในครั้งนี้ มีการเชิญวิทยากรที่มีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาให้ความรู้ ความเข้าใจ คือ พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยการ อดีตเลขาธิการ สมช. ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต. และนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ ในหัวข้อ “คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.กับบทบาท และงานความมั่นคงของประเทศ”

โดย พล.ท.สุรพล ได้ให้มุมมองถึงปัญหาความไม่มั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในด้านของศาสนาอิสลามตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงการสู้รบระหว่าง “ซุนหนี่” กับ “ชีอะห์” ในตะวันออกกลาง และความมั่นคงของดินแดนกับความมั่นคงของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองของผู้บริหารประเทศ และความต้องการของผู้เห็นต่าง ที่ยังต้องการให้พื้นที่ 3 จังหวัดเป็นการปกครองแบบการปกครองตนเอง

ในขณะที่ ผศ.ปิยะ ได้พูดถึงปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหา โดยเน้นให้ทำเรื่องเล็กให้หายไป และทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก การสร้างความเข้าใจให้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความขัดแย้ง การใช้ความเสมอภาคในการสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนทั้งพุทธ และมุสลิม และกล่าวว่า ณ วันนี้สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพัฒนาการที่ดีขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สังเกตได้ชัดเจน เช่น เมื่อมีการเผาโรงเรียนที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ประชาชนต่างรวมตัวกันจัดงานเลี้ยงน้ำชา ได้เงินมา 170,000 บาท เพื่อสมทบทุนในการสร้างโรงเรียนให้แก่บุตรหลานให้ได้รับการศึกษา

ส่วน นายไชยยงค์ ได้เสนอมุมมองว่า ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้คงอยู่กับเรื่อง โง่, จน และเจ็บ นั่นคือปัญหาของการศึกษา ปัญหาของคุณภาพชีวิต และปัญหาของสุขภาพ หรือ สาธารณสุขที่ผ่านมา การแก้ปัญหาในทุกด่านทั้งในเรื่องความมั่นคงของดินแดน ความมั่นคงของมนุษย์ที่ไม่ได้ผล เพราะรัฐไทย ใช้ความรู้เก่า ความเข้าใจเก่าๆ ไปสู้กับสงครามใหม่ ที่เกิดขึ้นจากผู้เห็นต่างที่เป็นคนรุ่นใหม่ และเห็นด้วยต่อการที่คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ในการแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ เพราะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขคือ จุดแข็งที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทั้งในพื้นที่ และประชาชน หรือทรัพยากรมนุษย์

โดยจะสังเกตเห็นว่า ในรอบ 10 ปีของสงครามประชาชนในรูปแบบใหม่ บุคลากรสาธารณสุขตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์น้อยมาก ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะผู้เห็นต่างรู้ดีว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการพึ่งพา และให้ความเชื่อถือต่อบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข การทำร้ายบุคลากรเหล่านี้คือ การทำลายมวลชน ซึ่งเป็นการทำลายงานทางการเมืองของผู้เห็นต่าง ในขณะที่ ครู และโรงเรียน ซึ่งเป็นจุดแข็งที่กลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้เห็นต่างเห็นว่า การจัดการเรียนการสอนไม่สอดคล้องต่อสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องการ และหวาดระแวงว่า การจัดการศึกษาของรัฐไทยจะเป็นการสร้างเยาวชนให้มีความเข็มแข็ง รวมทั้งการเผาโรงเรียน การทำร้ายครู ไม่ได้เกิดจากเรื่องความมั่นคงทั้งหมด แต่เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องความขัดแย้งของผู้บริหารกับชุมชน

วันนี้ สถานการณ์ด้านสาธารณสุขของคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก แพทย์ พยาบาล และบุคลากรยังขาดแคลน แพทย์ส่วนหนึ่งไม่ต้องการอยู่ในพื้นที่ ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดูแลสุขภาพ การเป็นอยู่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่เข้าใจหลักโภชนาการ สิ่งที่คณะแพทย์ของ ม.อ.ดำเนินการหลายโครงการเป็นเรื่องที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาความมั่นคงทั้งสิ้น แต่ขอให้มีการไปต่อยอดกับโครงการอื่นๆ ที่หน่วยงานอื่นๆ กำลังทำอยู่ เพื่อความรวดเร็วของการเข้าถึงปัญหา และประชาชนต้องไปดูการทำงานของ รพ.ประจำอำเภอ ที่ประชาชนให้การยอมรับ เช่น รพ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ที่ผู้บริหารใช้หลักคิดทำ โรงพยาบาลให้เป็นโรงเรียน หรืออีกหลาย รพ.ที่ให้หลักการศาสนามาใช้กับคนไข้ จนเป็นที่ชื่นชม และพอใจของผู้ป่วย

การคัดสรรนักศึกษา และบุคลากรที่เข้าสู่ขบวนการต่างๆ ขอให้มองถึงผู้ที่มีความเสียสละ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนมุสลิมเพียงอย่างเดียว เพราะมีเป็นจำนวนมากที่คนมุสลิมในพื้นที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ดี หรือเสียสละในการทำหน้าที่ รวมถึงการเข้าไปดูแลคนไข้ที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิต อย่าเน้นที่หญิงหม้ายเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีเด็กกำพร้า ผู้พิการ และผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอีกจำนวนหนึ่ง ที่การดูแลของรัฐยังไม่ครอบคลุม ซึ่งขอให้คณะแพทยศาสตร์ของ ม.อ.ดำเนินการให้ครอบคลุมคนกลุ่มนี้ และสุดท้าย นายไชยยงค์ ยังเห็นว่า วิธีการที่ดีที่สุด ไม่ใช่การหางบประมาณมาสร้างตึก สร้างอาคาร เพื่อเพิ่มเตียงผู้ป่วย ผลิตแพทย์ และพยาบาล เพื่อให้เพียงพอต่อผู้ที่มารับการบริการ แต่วิธีการที่ดีที่สุด คือ การลดจำนวนผู้คนที่จะมาโรงพยาบาล ด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในการรักษาสุขภาพ ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยตนเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น