xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เผยเยือนพม่า คุยประโยชน์สองชาติ ทราบบึ้มมาเลย์แล้ว ปัดกระทบคุยสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“ประยุทธ์” แจงเยือนพม่า ถก ร่วมมือความเข้มแข็งอาเซียน ประโยชน์สองชาติ ขอให้เป็นมิตรเพื่อนบ้าน จี้จดทะเบียนต่างด้าว อย่าอ้างไม่ทัน กันเกิดเหตุไม่ดีซ้ำ ขอให้ระบุผู้ต้องหาคดีดังเป็นต่างด้าว เหตุสัญชาติไม่ชัด เผยทราบแล้วบึ้มมาเลย์ พร้อมดูแล ญ.ไทยบาดเจ็บ ฝากสื่ออย่าเหมาก่อการร้าย รับระวังจชต.ยังไงก็มีเหตุ ปัดกระทบคุยสันติภาพ



วันนี้ (9 ต.ค.) ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ ได้ออกเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ในฐานะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค. โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วัตถุประสงค์การเดินทางไปครั้งจะหารือกับนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า โดยจะพูดถึงกรอบความร่วมมืออาเซียนในภาพรวม ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อให้มีความสามารถในการต่อรองค้าขายกับประชาคมอื่นๆ จากนั้นจะมีการพูดคุยทวิภาคี ความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง อาทิ พลังงาน เรื่องแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในประเทศไทยจะมีการประสานอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งย้ำไปยังผู้ประกอบการให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้เรียบร้อยเพราะใกล้กำหนดเวลาที่ขยายให้แล้ว อย่าอ้างว่าเวลาไม่ทันไม่ได้ เราให้เวลามามากพอสมควรแล้วเพราะขั้นตอนต่อไปเราต้องพิสูจน์สัญชาติ เพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีซ้ำซ้อนขึ้นอีก สำหรับเรื่องคดีความที่ยังเป็นที่สนใจนั้น เราจะต้องทำให้เรื่องลดระดับลง จึงอยากให้ระบุว่าผู้กระทำผิดเป็นแรงงานต่างด้าว เพราะขณะนี้ประเทศพม่าเองก็กำลังพิสูจน์สัญชาติอยู่เช่นกันซึ่งพบว่าบางสัญชาติยังมีปัญหาเช่นกัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น เราต้องให้เกียรติกับประเทศนั้นๆ การหารือจะไม่ไปพูดถึงประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายเพียงฝ่ายเดียวแต่จะต้องพูดคุยกันถึงผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศอย่างเท่าเทียมกัน คนไทยต้องเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมาตนเคยพบปะกับผู้นำของพม่ามาตลอดตั้งแต่สมัยเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งใช้ช่องทางการทหารทุกเหล่าทัพหารือร่วมกันมาตลอด แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีเหตุขัดข้องบางประการก็ตาม เวลานี้เรามีรัฐบาล และพม่าก็มีรัฐบาลเช่นกัน เราจึงต้องส่งเสริมร่วมกันในความเป็นประชาธิปไตยในประเทศพม่าด้วย ส่วนด้านความมั่นคงเราจะทำอย่างไรให้ได้รับความร่วมมือตามแนวชายแดนให้มากขึ้น ทำอย่างไรให้เส้นเขตแดนที่ติดต่อกันสามารถได้รับความร่วมมือมากที่สุด และต้องดูแลประชาชนทั้งสองประเทศตามแนวชายแดนต้องไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก เกิดความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดูแลสวัสดิภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงเหตุระเบิดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียในช่วงบ่าย วันเดียวกันนี้ (9ต.ค.)ว่า ตนได้รับรายงานแล้ว และได้เรียนกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ซึ่งรัฐบาลได้แสดงความห่วงใยต่อรัฐบาลมาเลเซีย ส่วนหญิงไทยที่ได้รับบาดเจ็บนั้น เราจะติดตามดูแลต่อไป ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้พร้อมจะเกิดได้ทุกที่ เราต้องให้กำลังใจกัน เพราะเป็นปัญหาด้านความมั่นคง เราต้องมีประชาธิปไตยที่ดูแลคนทุกฝ่ายได้ ไม่ทะเลาะขัดแย้งกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุมาจากการก่อการร้ายใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่าเรียกว่าก่อการร้าย เรียกว่าการใช้ยุทธวิธีความรุนแรง ใช้อาวุธสงคราม การที่จะไประบุว่าก่อการร้าย บางครั้งจะไปเข้ากับเงื่อนไขของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ได้ จึงต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนก่อน ในฐานะที่เราไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง มันอาจจะเป็นการชักนำให้คนเหล่านี้เข้ามาในประเทศเรา อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ลักษณะนี้ ในประเทศไทยก็มี อย่างเช่น สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บางครั้งไม่ใช่เรื่องของผู้เห็นต่างอย่างเดียว แต่มีการทำทุจริตผิดกฎหมายด้วย ทำให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น ทั้งหมดต้องพิสูจน์ทราบก่อน จึงอยากฝากสื่อมวลชนไว้ด้วย

"ผมคิดว่าวันนี้ถ้าประเทศชาติจะเดินไปข้างหน้าได้ ต้องไม่มีอคติกับใคร เราต้องช่วยกัน ว่าทำอย่างไรปัญหาภายในประเทศเราถึงจะลดลงไป ทำให้ชื่อเสียงประเทศดีขึ้น ปัญหาในบ้านเราอย่าทำให้ออกไปข้างนอกมากนัก สื่อต่างชาติเขาตามดูอยู่ อาจส่งผลต่อการค้าการท่องเที่ยว" นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศมาเลเซียถือว่าน่าเป็นห่วงที่จะส่งผลต่อสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเขาจะเปิดเผยตัวเมื่อไหร่ เราเองก็ร่วมมือกับมาเลเซียมาตลอด อะไรที่เป็นปัญหาระหว่าง 2 ประเทศต้องพูดคุยกัน กับผู้ที่ความเห็นต่างในหลายๆ ประเทศ ที่เป็นประชาธิปไตย การที่จะเราจะจำกัดสิทธิ หรือการเข้าตรวจค้นนั้นเป็นไปได้อย่างลำบาก เพราะว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าในประเทศที่เจริญแล้วคงไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามเราก็เฝ้าระวังสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่แล้ว แต่เหตุก็ต้องเกิดขึ้นสักวัน ต้องดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป อย่าบอกว่าเราไม่ระวัง ระวังอย่างไรมันก็เกิด เมื่อยังมีคนคิดจะก่อเหตุอยู่ จะให้เฝ้าระวังทุกวินาทีก็คงไม่ได้ ซึ่งมี 2 วิธีคือป้องกันและป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุ จะดีกว่าเกิดเหตุแล้วไปสอบสวนแก้ไขทีหลัง ฉะนั้นเราทำทุกอย่างในเรื่องของการป้องกันป้องปราม ส่วนการสืบสวนก็ว่ากันด้วยหลักฐาน เราจะไปวิเคราะห์คดีกันเองว่าใช่หรือไม่ ก็ไปเสียหายกับประเทศ

เมื่อถามว่า เหตุระเบิดที่มาเลเซียจะส่งผลกับการพูดคุยสันติสุขหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยว เป็นคนละเรื่องกัน การพูดคุยสันติสุขนั้นเป็นปัญหาของประเทศเรา และมาเลเซียก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งจะเห็นว่าการพูดคุยสันติสุขนั้น คู่ขัดแย้งคือคนไทยด้วยกัน โดยมาเลเซียไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ภายใน เพียงแต่เป็นการแสวงหาความร่วมมือซึ่งกันและกัน และมาเลเซียอยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเราเตรียมคณะในการพูดคุยไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ต้องรอให้ตนพูดคุยกับ นาจิบ ราซะก์ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียถึงความพร้อมระหว่างรัฐบาล เพื่อให้ความสมบูรณ์ในทุกมิติ โดยคณะพูดคุยนั้นจะแยกเป็นในแต่ละกลุ่มปัญหา

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยระหว่างกันกับมาเลเซียมาโดยตลอดแต่ไม่ได้เปิดเผย ทั้งในนามครม.และกองทัพโดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้าที่ได้มีการพูดคุยในทางลับกำลังทำเรื่องดังกล่าวอยู่ เพื่อไม่ให้บานปลายและเป็นผลให้ผู้ก่อความไม่สงบกลับมา แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มั่นใจ ถ้าเราดึงคนเหล่านี้มาได้มากขึ้น บุคคลในระดับแกนนำจะลดลง สำหรับหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขขณะนี้กำลังเตรียมการอยู่ ทั้งฝ่ายกองทัพและพลเรือน ฝ่ายทหารคือ พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก ส่วนฝ่ายพลเรือนนั้นกำลังคิดอยู่ ทั้งนี้การแก้ปัญหาระหว่างไทยกับมาเลเซีย เป็นไปคนละแบบ ถ้าเป็นความมั่นคงของไทยต้องเป็น กอ.รมน. ใช้ทหารเป็นหลัก แต่ทางมาเลเซียจะให้ทหารดูแลพื้นที่ชายแดน แต่ในประเทศจะเป็นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทั้งหมดต้องคุยรายละเอียดกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น