xs
xsm
sm
md
lg

กินไข่ดิบเสี่ยงรับเชื้อ ไข่ขาวไม่สุกทำย่อยยาก ขวางดูดซึมอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยเตือนเลี่ยงกินไข่ดิบ เสี่ยงปบเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ อันตรายต่อสุขภาพ ชี้ไข่ขาวไม่สุกขวางการดูดซึมไบโอติน ย่อยยาก ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์จากไข่ไม่เต็มที่ แนะกินควบคู่อาหารอื่นให้ได้สารอาหารครบถ้วน เน้นใส่ผัก เลี่ยงหวาน มัน เค็ม

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด : Egg Board) กำหนดให้วันศุกร์ที่ 2 ของ ต.ค. ทุกปีเป็นวันไข่โลก เพื่อส่งเสริมการบริโภคไข่ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดี ราคาถูก หาได้ง่าย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยไข่ไก่ 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 7 กรัม มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน เป็นแหล่งของแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 วิตามินดี วิตามินอี โฟเลต เลซิธิน ลูทีน และซีแซนทีน แต่ไม่ควรกินไข่ดิบ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ทำให้ย่อยยากจึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ไข่เป็นอาหารบำรุงร่างกายสำหรับทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กทารกอายุ 6 เดือนเต็ม ให้กินไข่แดงต้มสุกในปริมาณครึ่งฟองผสมกับข้าวบด โดยในครั้งแรกให้ปริมาณน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้น ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 7 เดือน จนถึงวัยเรียนสามารถกินไข่ได้วันละ 1 ฟอง ส่วนผู้ใหญ่ที่มีภาวะโภชนาการปกติควรกินไข่ 3-5 ฟองต่อสัปดาห์ และหากเป็นกลุ่มที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาจกินได้สัปดาห์ละ 1-2 ฟอง หรือกินแต่ไข่ขาว หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งการป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับคอเลสเตอรอลสูงเกินไปไม่ได้เกิดจากการลดหรืองดกินไข่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการด้วยการลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มการกินผักและผลไม้รสไม่หวานจัด หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อช่วยควบคุมและป้องกันปริมาณไขมันเกินในเลือด

พ่อแม่ที่ต้องการให้เด็กกินไข่ทุกวันและไม่เบื่อ ควรใช้วิธีการประกอบอาหารที่ใส่ผักลงไปในไข่ จะเป็นการจูงใจให้เด็กกินผักอีกทางหนึ่งด้วย เช่น ไข่เจียวหรือไข่ตุ๋นใส่ผักสับละเอียด จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายแก่เด็ก สำหรับกลุ่มวัยอื่นควรปรุงประกอบในรูปแบบของ ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่ดาวน้ำ ไข่พะโล้ เพราะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย ซึ่งการปรุงอาหารควรใช้น้ำมันแต่น้อย หรืออาจกินเป็นสลัดไข่ต้ม ยำไข่ต้ม เพราะจะทำให้ได้สารจากไข่ และได้ไฟเบอร์และวิตามินซีจากผักและผลไม้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอน หรือไส้กรอก เพราะจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอนน้ำมันที่ใช้ทอด และเนยที่ทาขนมปัง สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันที่ไม่สามารถทานอาหารโปรตีนอื่นได้ แนะนำให้ให้กินไข่เป็นแหล่งของโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ ในผู้สูงอายุถ้ามีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการกินไข่แดง ทั้งนี้ ประชาชนควรกินไข่ควบคู่กับอาหารหลากหลายชนิดในแต่ละมื้อ โดยให้มีอาหารประเภท แป้ง ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยกากใยอาหารที่ได้รับจากการกินผักและผลไม้จะช่วยดูดซับไขมันบางส่วนที่อยู่ในอาหารออกจากร่างกาย ทำให้ไม่เกิดการสะสมที่อาจส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลด


รุ่นพี่เทคโนฯสวนนันขอขมาอธิการบดี กรณีหยดน้ำตาเทียนใส่รุ่นน้อง ขณะที่ผลสอบวินัยสั่งลงโทษไม่ร้ายแรง ตักเตือน 23 คน ภาคทัณฑ์ 10 คน ตัดคะแนนความประพฤติอีก 10 คน

ดูบน Instagram






กำลังโหลดความคิดเห็น