xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : กรมอนามัยแนะกินไข่ โปรตีนเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้ประชาชนกินไข่ แต่ต้องกินไข่ในปริมาณที่เหมาะสมตามแต่ละวัย ร่วมกับอาหารประเภทอื่นๆ ที่หลากหลายครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อ ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยในการเผาผลาญไขมัน และเสริมคุณค่าสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการ

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการสนับสนุนให้ประชาชนกินไข่ ว่าไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่า หาได้ง่าย และเหมาะสมสำหรับทุกเพศทุกวัย ซึ่งนอกจากไข่จะให้สารอาหารประเภทโปรตีนที่สมบูรณ์แล้ว ยังมีไขมัน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินบี 12 วิตามินเอ วิตามินดี และเลซิตินที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายด้วย

การปรุงอาหารประเภทไข่สามารถทำได้ง่ายและหลากหลายสารพัดเมนู โดยเด็กอายุตั้งแต่ 7 เดือนเต็มขึ้นไปจนถึงวัยเรียนกินไข่ได้วันละ 1 ฟอง ส่วนผู้ใหญ่ที่มีภาวะโภชนาการปกติควรกินไข่ 3-5 ฟองต่อสัปดาห์ และหากเป็นกลุ่มที่มีโคเลสเตอรอลสูง อาจกินได้สัปดาห์ละ 1-2 ฟอง หรือกินแต่ไข่ขาว หรือตามคำแนะนำของแพทย์

ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรกินไข่ควบคู่กับอาหารที่หลากหลายในแต่ละมื้อ โดยให้มีอาหารประเภทแป้ง ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ครบทั้ง 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผักและผลไม้สด จะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและไขมันส่วนเกินให้เป็นปกติ

ซึ่งกากใยอาหารที่ได้รับจากการกินผักและผลไม้ จะช่วยดูดซับสารที่ช่วยทำให้ไขมันมีขนาดเล็กลงบางส่วนที่อยู่ในทางเดินอาหารออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำไขมันไปใช้ได้ ทำให้ลดการส่งผลที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือดตามมาได้

นอกจากนี้ ในกรณีที่พ่อแม่ต้องการให้เด็กได้กินไข่ทุกวันและไม่เบื่อนั้น ควรใช้วิธีการปรุงอาหารที่มีการใส่ผักลงไปในไข่ เพื่อเป็นการจูงใจให้เด็กกินผักได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่น ไข่เจียวหรือไข่ตุ๋นใส่ผักสับละเอียด ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายให้กับเด็ก

ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ควรเลี่ยงการกินไข่ดิบ เพราะถ้าไข่ไม่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ทำให้ย่อยยากจึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่

การบริโภคไข่ควรบริโภคในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ จะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย และในการปรุงอาหารควรใช้น้ำมันที่ไม่อิ่มตัว อาจกินเป็นสลัดไข่ ยำไข่ เพราะจะทำให้ได้สารจากไข่ และได้ไฟเบอร์และวิตามินซีจากผัก และผลไม้

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอนหรือไส้กรอก เพราะจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอนน้ำมันที่ใช้ทอด และเนยที่ทาขนมปัง

สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันซึ่งไม่สามารถทานอาหารโปรตีนอื่นได้ ขอแนะนำให้ให้กินไข่เป็นแหล่งของโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ และในคนสูงอายุหากมีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง ในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการกินไข่แดง

“ทั้งนี้ ความเชื่อที่ว่าไข่มีโคเลสเตอรอลสูง ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น โรคหัวใจนั้น การหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายมีโคเลสเตอรอลสูงไม่ได้อยู่ที่การลดหรืองดกินไข่ แต่ผู้บริโภคต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดไขมันส่วนเกินและควบคุมระดับโคเลสเตอรอลให้เป็นปกติ

อีกทั้งควรมีการตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อควบคุมและป้องกันปริมาณส่วนเกินของไขมันในเลือดได้อย่างทันท่วงที

และที่สำคัญยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่ระบุว่าไข่ คือสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น การกินไข่ร่วมกับอาหารชนิดอื่นอย่างเหมาะสม จะช่วยเสริมคุณค่าสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น