xs
xsm
sm
md
lg

เตือนออกเจ เลี่ยงกิน “เนื้อวัว-เนื้อหมู” ทันที เสี่ยงท้องอืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตือนออกเจแล้วอย่ารีบกินอาหารหนักย่อยยาก เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ควรกินผัก ปลาก่อน เพื่อปรับสภาพระบบการย่อยอาหาร แนะยึดหลักตามโภชนาการ ผัก 2 ส่วน เนื้อ 1 ส่วน และข้าว 1 ส่วน ไม่กินอาหารรสจัด หรือกินไข่ขาวเพื่อให้ได้โปรตีนทุกวัน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงกินเจติดต่อกันส่งผลให้ร่างกายมีการปรับระบบการย่อยอาหารจากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักแทน เมื่อออกเจแล้วกลับมากินอาหารประเภทหนักๆ ตามปกติ ร่างกายก็ต้องปรับระบบการย่อยอาหารกลับมา หากบริโภคอาหารที่ย่อยยากช่วงแรก เช่น เนื้อวัว และเนื้อหมู อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด จุก เสียด แน่นท้อง อาหารย่อยไม่ได้ ผู้บริโภคควรการปรับสภาพร่างกายด้วยการกินอาหารย่อยง่ายประเภทเนื้อปลา ผักและผลไม้ ซึ่งหลังจากปรับสภาพได้ก็สามารถกลับมากินอาหารตามปกติได้

ทางที่ดีควรกินอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัย หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด โดยให้ยึดหลักกินถูกส่วน 2:1:1 ด้วยการแบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน โดย 2 ส่วนหรือครึ่งหนึ่งของจานเป็นผักหลากหลายชนิด อีก 1 ส่วนของจานเป็นกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลืองหรือเต้าหู้ และอีก 1 ส่วนของจานที่เหลือเป็นกลุ่มข้าวแป้ง โดยเน้นกินผักให้มาก เพราะผักให้พลังงานน้อยและอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพในการป้องกันโรค และเพิ่มภูมิต้านทานโรค ขับถ่ายสะดวก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังออกเจผู้บริโภคสามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วยกินไข่อย่างน้อยวันละฟอง เพราะไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และปรุงประกอบเป็นอาหาร ได้ง่าย เหมาะสมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งนอกจากไข่จะให้สารอาหารประเภทโปรตีนที่สมบูรณ์แล้ว ไข่ยังมีสารอาหารประเภทไขมัน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินบี 12 วิตามินเอ วิตามินดี และเลซิติน ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายด้วย

กรมอนามัยกำหนดให้เด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปให้กินไข่แดง และตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไปจนถึงเด็กวัยก่อนเรียน เด็กวัยเรียน และวัยรุ่น กินไข่ได้วันละฟอง ส่วนผู้ใหญ่ที่มีภาวะร่างกายปกติหรือกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีไม่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง สามารถกินไข่ได้สัปดาห์ละ 3-4 ฟอง และหากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคที่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลก็ควรกินไข่ทั้งฟองเพียงสัปดาห์ละฟอง แต่สามารถกินเฉพาะไข่ขาวได้ทุกวันหรือตามคำแนะนำของแพทย์” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า การกินไข่อย่างฉลาดที่ไม่เป็นการเพิ่มสารอาหารที่ก่อให้เกิดโรคทางโภชนาการนั้น ผู้บริโภคควรกินไข่ควบคู่กับอาหารที่หลากหลายในแต่ละมื้อ ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดไขมันส่วนเกินและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้เป็นปกติ


กำลังโหลดความคิดเห็น