ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหลายยุคหลายสมัย สำหรับความสมจริงของ "ละครไทย" ตั้งแต่นางเอก เธอจะสวยไปไหน? หน้าเต็มขนตาเด้งแม้เวลาเข้านอน หรือความสมจริงที่ผิดจุดอย่าง "กอด-จูบ-ลูบ-ไซ้" แต่ที่ถูกติงหนักเลยก็คือ ฉากการแพทย์ที่ไม่สมจริง แถมยังผิดหลักการแพทย์ ล่าสุดโดนสวดไป 2 เรื่อง ทั้ง "นางทาส" ที่ถูกจับผิดในฉากคลอดลูก และ "พิรุณพร่ำรัก" กับฉากที่ให้ความรู้ผิดๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยกินสารพิษ...
"นางทาส" เวอร์ชันถูกจับผิด
โดนวิจารณ์แรงตั้งแต่ตอนแรกที่ออกอากาศ สำหรับละครพีเรียดรีเมก "นางทาส" โดยค่ายทีวีซีน ของ "ปิ่น ณัฏฐนันท์" ที่ดึงพระเอกผิวเข้ม "ป๋อ ณัฐวุฒิ" มาประกบนางเอกทั้ง 4 คือ วุ้นเส้น วิริฒิพา, หยาดทิพย์ ราชปาล, โยเกิร์ต รวีวรรณ และ แยม มทิรา โดยคนที่โดนจัดหนักที่สุด คงหนีไม่พ้น "แยม" ที่รับบทเป็น "อีเย็น" ตั้งแต่ไม่สวยพอ แถมยังพูดไม่ชัด จนเจ้าตัวกำลังใจหด และขอโอกาสพัฒนาตัวเอง
เช่นเดียวกับวุ้นเส้น วิริฒิพา ภักดีประสงค์ในบท "หญิงแย้ม" ที่ถูกวิจารณ์ว่าเล่นแข็งทื่อจนน้ำตาซึมหลังถูกสับเละถึงบทบาทที่ได้รับ ด้าน ผู้กำกับ และผู้จัดให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อบันเทิงฉบับหนึ่ง โดยเขาน้อมรับในทุกคำติชม และอยากให้ผู้ชมเปิดใจดู เพราะทีมงาน และนักแสดงตั้งใจเล่นกันทุกคน ก่อนจะเผยด้วยว่า ไม่เสียกำลังใจในการทำงาน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ให้โอกาสได้นำเสนอ
อย่างไรก็ดี นอกจากประเด็นความเหมาะสมของตัวละคร รวมไปถึงเสื้อผ้า หน้าผมแล้ว อีกเรื่องที่ผู้กำกับ และผู้จัดละครหลายคนมักจะถูกติติงก็คือ ความสมจริงใน "ละคร" โดยเฉพาะความสมจริงทางการแพทย์ที่หลายๆ เรื่องมักถูกจับผิดกันชุดใหญ่ เพราะทำให้ผู้ชมคนดูสับสน และรู้สึกเหมือนกำลังโดนดูถูกสติปัญญาจนบางคนรับไม่ได้
ไม่แปลกที่จะมีชาวละคร หรือผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ออกมาตั้งกระทู้บ่นถึงความไม่สมจริงหลายๆ อย่างในละครไทย เพื่อหวังว่าคนทำละครจะได้ยิน และนำกลับไปปรับปรุงในเรื่องต่อๆ ไป ล่าสุดกับฉากการคลอดลูกในละคร "นางทาส" ที่มีการตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป โดยตั้งข้อสังเกตถึงการอยู่ไฟหลังคลอดของตัวละครว่าไม่สมจริง
"นี่คือการคลอดลูก ไม่ใช่มีดบาดนิ้ว ไม่มีการพักฟื้นเลยหรืออย่างไร ซึ่งคนโบราณไม่ให้คนเพิ่งคลอดออกจากบ้าน ให้นอนกระดานไฟ อบตัว เพื่อให้มดลูกเข้าอู่" ขณะที่สมาชิกรายอื่น หลังจากได้เห็นข้อความดังกล่าว ก็เข้ามาแสดงความเห็นในเชิงอธิบายว่า เย็น กับคุณหญิงแย้มอยู่เรือนเดียวกัน เดินไปหากันก็แค่นิดเดียว รวมถึงคุณหญิงแย้มเองก็ต้องรีบคุยเรื่องขอลูกเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากไม่อยากให้ใครรู้
นอกจากนั้น ยังอธิบายด้วยว่า การคลอดธรรมชาตินั้น หลังคลอด 2 ชั่วโมงก็เดินได้ หรือการคลอดที่โรงพยาบาล หลังคลอด 2 ชั่วโมงก็จะถูกกระตุ้นให้ลุกเดินเข้าห้องน้ำ ให้ปัสสาวะออกมา เพราะการปล่อยให้กระเพาะปัสสาวะตึงจะลดการบีบตัวของมดลูก ทำให้ตกเลือดได้
สำหรับการอยู่ไฟนั้น "หมอวี-กวี ทัศนศร" อายุ 53 ปี หมอนวดแผนไทย และหมอพื้นบ้านที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ได้เคยให้ความรู้ว่า เป็นกระบวนการดูแลหญิงหลังคลอด เพื่อให้ร่างกายฟื้นจากความเหนื่อยอ่อนให้กลับคืนสภาพปกติได้เร็วที่สุด โดยใช้ความร้อนเข้าช่วย ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นบริเวณหลัง และขา ที่เกิดจากการกดทับขณะตั้งครรภ์ คลายตัว ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัวในภายหลังได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ทำให้อาการหนาวสะท้าน ที่เกิดจากการเสียเลือด และน้ำหลังคลอด มีอาการดีขึ้น ช่วยปรับสมดุลร่างกายในตัวคุณแม่ให้เข้าที่ และที่สำคัญ ช่วยให้มดลูกที่ขยายตัว หดตัว หรือเข้าอู่ได้เร็ว พร้อมกับช่วยให้ปากมดลูกปิดได้ดี ป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูกหลังคลอด ทำให้น้ำคาวปลาแห้งเร็ว ลดการไหลย้อนกลับ จนนำไปสู่ภาวะเป็นพิษได้
"การอยู่ไฟสมัยก่อน มี 2 แบบคือ ไฟข้าง (ก่อไฟอยู่ข้างตัวบริเวณท้อง) และไฟแคร่ (คุณแม่นอนบนไม้กระดาน ส่วนเตาไฟอยู่ใต้แคร่ มีแผ่นสังกะสีรองทับอีกที เหมือนการนอนปิ้งบนไฟดี ๆ นี่เอง) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้แบบแรกมากกว่า โดยจะมีสามี หรือญาติ คอยดูเรื่องฟืนไฟให้ เพราะคุณแม่จะต้องอยู่ในเรือนไฟ 7-15 วัน หลังจากคลอด และห้ามออกจากเรือนไฟเด็ดขาด เพราะจะทำให้ตัวคุณแม่ปรับอุณหภูมิของร่างกายไม่ทัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วย และไม่สบายได้" หมอวีกล่าว
ปัจจุบัน การอยู่ไฟยังคงมีให้เห็นอยู่ และยังคงใช้รูปศัพท์เดิม คือการอยู่ไฟ แต่วิธีการได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะการแพทย์สมัยใหม่ได้เข้ามาแทนที่ ซึ่งครั้งหนึ่งทีมข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับแพทย์แผนไทยประยุกต์ กลุ่มงานวิชาการ แพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย พบว่า ช่วงหลังได้มีการส่งเสริมการอยู่ไฟด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์กันมากขึ้น เช่น การนวดประคบ การเข้ากระโจม อาบน้ำอุ่น หรือการทับหม้อเกลือ
นอกจากนั้น ในหลายโรงพยาบาลได้มีการส่งเสริม และดูแลคุณแม่หลังคลอดในงานแพทย์แผนไทย อีกทั้งยังมีศูนย์สุขภาพต่างๆ เช่น สปาสุขภาพ คลินิกแพทย์แผนไทย ที่จะเปิดบริการดูแลหลังคลอดด้วย โดยส่วนใหญ่จะจัดเป็นระยะตั้งแต่ 3-10 วัน เน้นในเรื่องความสวยความงามเป็นหลัก ซึ่งไม่เหมือนสมัยโบราณ เช่น ลดไขมันหน้าท้อง ทำให้ผิวพรรณผ่องใส อย่างไรก็ดี การเลือกใช้บริการแต่ละอย่างนั้น ต้องพิจารณาถึงความปลอดภัย และชำนาญการของผู้ให้บริการด้วย และที่สำคัญการใช้บริการในแต่ละคอร์ส มีราคาที่สูงพอสมควร
ใกล้หมดศรัทธา..ละครไทย
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าละครไทยไม่ดีไปเสียทั้งหมด เพราะที่ผลิตออกมา หลายเรื่องนำเสนอออกมาได้ดี และน่าชื่นชมถึงความใส่ใจในรายละเอียดพร้อมๆ กับให้ความรู้อย่างถูกต้อง แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า ละครไทยหลายๆ เรื่องยังติดหล่มความไม่สมจริง โดยเฉพาะประเด็นความสมจริงทางการแพทย์ แถมยังผิดหลักการแพทย์จนไม่น่าให้อภัย
ยกตัวอย่าง การช่วยฟื้นคืนชีพ หรือการทำ CPR, รายละเอียดของโรคบางอย่าง, การรักษา รวมไปถึงคำพูดที่ตัวละครแพทย์นำมาใช้ ซึ่งมักจะปรากฏความผิดพลาดออกสู่สายตาคนดูอยู่บ่อยๆ จนนำมาซึ่งความเชื่อผิดๆ หรือเป็นตัวอย่างแบบงงๆ แม้จะมีกรณีศึกษามาหลายเรื่องแล้วก็ตาม
หลายคนคงจะจำได้ดีกับการนำเสนอภาพของผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" ในละคร "เพื่อนรักเพื่อนริษยา" ทางช่อง 3 จนทำให้เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เข้ายื่นหนังสือถึงผู้บริหารบริษัท บ้านละคอน จำกัด ในฐานะผู้ผลิต รวมถึงผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 พร้อมระบุว่า ในละครได้มีการนำเสนอฉากของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่สร้างความเข้าใจผิดในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ อย่างร้ายแรง
"โรคเอดส์แบ่งเป็น 'ผู้ติดเชื้อเอชไอวี' กับ 'ผู้ป่วยเอดส์' ซึ่งแตกต่างกันที่ ผู้ติดเชื้อฯ คือ ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายแล้วและยังไม่มีอาการป่วยใดๆ ในขณะที่ ผู้ป่วยเอดส์ คือ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส อันเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งโรคฉวยโอกาสทุกโรคสามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส เมื่อได้รับการรักษา และหายป่วยแล้วก็จะกลับมาเป็น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตามเดิม ซึ่งไม่มีโรคฉวยโอกาสที่ทำให้มีลักษณะเหมือนที่ละครได้สื่อสารออกไป
อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อรู้ตัวว่ามีเชื้อฯ ไม่จำเป็นจะต้องป่วยเอดส์ เพราะปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งครอบคลุมอยู่ในสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพ ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ทุกคน ได้รับยาไวรัสฯ ทันที และเริ่มยาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ถูกทำลาย
ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง เรียนได้ ทำงานได้ ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป และดูไม่ออกจากรูปลักษณ์ภายนอก โดยเมื่อผู้ติดเชื้อฯ เข้าสู่การรักษาดังเช่นตัวละครในเรื่องเพื่อนรักเพื่อนริษยาแล้ว ผู้ติดเชื้อฯ คนดังกล่าวก็จะไม่ได้มีสภาพป่วยโทรม และต้องเสียชีวิตในที่สุด" เป็นส่วนหนึ่งในข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคดังกล่าว
ส่วนอีกเรื่องที่ถูกสวดยับไม่แพ้กันก็คือ "สองหัวใจนี้เพื่อเธอ" ของค่ายโซนิกซ์ บูม 2013 โดยเฉพาะฉากทางการแพทย์ในละครที่ไม่สมจริง และมีข้อมูลผิดๆ จนกลายเป็นประเด็นดรามา ตั้งแต่ฉากรถกู้ภัยเปิดไซเรนมาส่งนางเอกสัมภาษณ์งานในสำนักงานแห่งหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นคำถามตามมาว่า กู้ภัยจะเปิดไซเรนตอนไหนก็ได้แบบนั้นหรือ หากละครนำเสนอฉากแบบนี้ ต่อไปใครจะอยากหลีกทางให้เมื่อเจอไซเรนรถฉุกเฉิน
นอกจากนั้น "ฉากให้เลือดพระเอก" ที่โรงพยาบาลโดยการต่อสายเลือดจากนางเอกถึงพระเอกที่อยู่เตียงข้างๆ กัน ก็เป็นฉากที่โดนวิจารณ์สุดๆ เพราะไม่ถูกวิธี และในชีวิตจริงวิธีนี้ก็ทำไม่ได้ โดยเรื่องนี้ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์เจ้าของเพจ "หมอแล็บแพนด้า" ได้เคยโพสต์ข้อความให้ความรู้ว่า การให้เลือดแบบสายตรงไม่สามารถทำได้ มีแค่ในสมัยโบราณที่เขาลองผิดลองถูกกันมา
สิ่งที่ถูกก็คือ ก่อนการให้เลือดจะต้องให้นักเทคนิคการแพทย์นำเลือดมาทดสอบเสียก่อน ทดสอบว่ามันเข้ากันได้หรือไม่ โดยทางการแพทย์จะมีวิธีทดสอบก่อนการให้เลือดว่า 'Cross matching' หรือเรียกยากๆ ว่า 'การทดสอบความเข้ากันได้ของโลหิต' พูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือ การนำเลือดของผู้บริจาคมาทดลองผสมกับของผู้ป่วยว่ามันเข้ากันได้ไหม แล้วจึงนำถุงเลือดไปให้ผู้ป่วย"
ละครวิก 3 พลาดซ้ำซาก!
กระนั้น แม้จะมีกรณีศึกษาให้เห็นมาแล้วหลายเรื่อง แต่ละครจากวิก 3 ก็ยังคงพลาดเรื่องการศึกษาหาข้อมูล ล่าสุดกับ "พิรุณพร่ำรัก" กับฉากหนึ่งในละครที่อาจสร้างความรู้ผิดๆ ให้กับคนดูได้ ซึ่งเป็นฉากที่นีล่า (อริศรา โรเซ็นดาห์ล) กินยาชนิดหนึ่งในปริมาณมากเพื่อประชดหมอเดนนิส (วฤษฎิ์ ศิริสันธนะ) ทำให้เดนนิสสั่งพนักงานให้นำไข่สด เกลือ และโซดา มาผสมกันแล้วกรอกปากนีล่าเพื่อช่วยเหลือ
ทำให้เพจดังด้านความรู้ทางการแพทย์อย่าง "ใกล้มิตรชิดหมอ" ทนไม่ได้กับข้อมูลผิดๆ ที่ละครเรื่องนี้นำเสนอ จึงโพสต์ระบุว่า เป็นความรู้ที่ผิด และอันตรายมาก โดยการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกินสารพิษที่ถูกต้องคือ ไม่ควรนำอาหาร น้ำ ยา หรืออะไรก็ตาม ยัดใส่ปากคนที่หมดสติ และไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียนถ้าไม่รู้สึกตัว เพราะผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวจะมีโอกาสสูงมากที่จะสำลักสิ่งที่อยู่ในปาก ซึ่งอาจจะไม่ลงไปสู่กระเพาะ แต่จะลงไปในปอดแทน
นอกจากนี้ หากไม่รู้ว่าผู้ป่วยกินยาพิษอะไรลงไป ไม่ควรทำให้อาเจียน เพราะสารบางอย่างมีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างรุนแรง และจะกัดอวัยวะตอนที่สารนั้นไหลผ่าน ถ้าไปกระตุ้นให้อาเจียนจะทำให้สารผ่านขึ้นมากัดอีกรอบหนึ่ง รวมถึงการให้กินไข่ดิบ หรือล้วงคอให้อาเจียน อาจทำได้ในกรณีที่คนไข้รู้ตัวดี และสิ่งที่กินไปไม่ได้เป็นสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน อย่างไรก็ดี หากไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไร ควรโทร. 1669 แล้วรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
แม้บางคนจะบอกว่า "แค่ละคร ไม่ต้องสมจริงมากนักก็ได้" แต่อีกหลายคนก็ฝากด้วยความเป็นห่วงไปถึงผู้กำกับ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ถึงการค้นคว้า หาข้อมูล และใส่ใจในรายละเอียดให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะฉากทางการแพทย์ เพราะคนดูอาจเอาไปใช้ผิดๆ จนอาจกลายเป็น "หายนะ" ในชีวิตจริงได้
ขอบคุณภาพจากคุณ Guga,เพจใกล้มิตรชิดหมอ และเพจหมอแล็บแพนด้า
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754