เครือข่ายงดเหล้าและผู้หญิง ร้อง ก.คมนาคม สังคายนารถไฟ เพิ่มความปลอดภัย หนุนมาตรการห้ามขายห้ามดื่มเหล้าบนรถไฟ - ในสถานี ปิดช่องขี้เมาสร้างปัญหา ก่ออาชญากรรม
วันนี้ (9 ก.ค.) ที่กระทรวงคมนาคม เมื่อเวลา 10.30 น. ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) พร้อมด้วยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูประบบความปลอดภัยบนรถไฟ ป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญให้เกิดการข่มขืน คุกคามทางเพศ ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ และอาชญากรรมบนรถไฟ และขอให้เร่งผลักดันให้เกิดกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ และสถานีรถไฟโดยด่วน
ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า จากกรณีน้องแก้ม ด.ญ.วัย 13 ปี ถูกฆ่าข่มขืนบนรถไฟ โดยผู้ก่อเหตุสารภาพว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนก่อเหตุ สะท้อนถึงความเสี่ยง และไม่ปลอดภัยต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้โดยสารบนรถไฟ แม้ที่ผ่านมาจะมีการออกประกาศขอความร่วมมือ แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องสังคายนาออกกฏหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะจากการที่เครือข่ายฯ สำรวจความคิดเห็นของผู้โดยสารรถไฟในพื้นที่สถานีหัวลำโพง สามเสน บางเขน บางซื่อ หลักสี่ ธนบุรี ลาดกระบัง หัวหมาก ระหว่างวันที่ 3 - 10 ธ.ค. 2556 จำนวน 1,160 ตัวอย่าง พบว่า 85.95% เห็นว่าการขายและดื่มสุราบนรถไฟเป็นปัญหาใหญ่ และส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร ทั้งเสียงดังรบกวนสร้างความรำคาญ การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ การลวนลาม คุกคามทางเพศ และลักขโมย โดย 93.53% เห็นด้วยหากมีการออกกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มสุราบนรถไฟ เพราะจะช่วยให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดย 86.03% เห็นด้วยหากกฎหมายจะครอบคลุมบริเวณสถานีรถไฟด้วย
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องต่อกระทรวงคมนาคม ดังนี้ 1. ขอให้ตรวจสอบปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารรถไฟลดลง โดยเฉพาะที่เป็นความเสี่ยงสูงต่อผู้โดยสาร และควรเร่งปฏิรูปกลไก ระบบการให้บริการ และความปลอดภัยบนรถไฟ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ส่วนผู้ที่มีความผิดต้องถูกลงโทษ 2. ขอให้ผลักดันมาตรการห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ รวมถึงสถานีรถไฟและตู้เสบียง ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และ 3. ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้ ขอให้ตำรวจรถไฟเข้มงวดมิให้มีผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และในตู้เสบียงให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น” ผอ.สคล. กล่าว
น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ของมูลนิธิฯ ปี 2556 พบว่า ข่าวการกระทำความรุนแรงทางเพศมีมากถึง 169 ข่าว มีผู้ถูกกระทำ 223 ราย เสียชีวิต 29 ราย สำหรับข่าวที่ครองแชมป์ยังเป็นคดีข่มขืน และปัจจัยกระตุ้นอับดับหนึ่ง 37.70% เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24.50% มีปัญหาการควบคุมยับยั้งอารมณ์ทางเพศ 20.80% ต้องการชิงทรัพย์ ซึ่งยังน่าห่วงและเป็นปัญหาสังคมอย่างรุนแรงหากไม่มีการแก้ไขจากภาครัฐ
ด้าน นางสร้อยทิพย์ กล่าวภายหลังรับข้อเรียกร้อง ว่า จะนำเรื่องนี้ไปดำเนินการต่อ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงได้มีคำสั่งว่าห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ และบริเวณสถานีรถไฟ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกระทรวงฯ ได้ร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องแสดงความเสียใจที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่