xs
xsm
sm
md
lg

จี้ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ลาออก พูดชุ่ย “ไอ้หื่น” ไม่ใช่พนักงานรถไฟโดยตรง ทวง สธ.ออก กม.ห้ามดื่มบนรถไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
องค์กรสตรี จี้ “ประภัสร์” ลาออกจากผู้ว่าการการรถไฟฯ หลังโยนบาปอ้าง “ไอ้หื่น” ฆ่าข่มขืนน้องแก้ม วัย 13 ปี ไม่ใช่พนักงานการรถไฟฯโดยตรง ด้าน “เครือข่ายงดเหล้า” ชี้ชัดดื่มของมึนเมาเป็นตัวกระตุ้นการก่อเหตุ จี้ สธ. ผลักดันกฎหมายห้ามขาย - ห้ามดื่มน้ำเมาบนรถไฟ รวมถึงตู้เสบียง เผยผลสำรวจชัดผู้โดยสารจวกดื่มบนรถไฟกระทบโดยตรง ทั้งอาชญากรรม ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ

วันนี้ (8 ก.ค.) นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล  ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงกรณีพนักงานรถไฟฆ่าข่มขืนน้องแก้ม ด.ญ. วัย 13 ปี โดยสารภาพว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนก่อเหตุ ว่า สถานการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และสะสมมานานจนกลายเป็นปัญหาใหญ่แทบทุกพื้นที่ เช่น บนรถไฟ ป้ายรถเมล์ รถโดยสารประจำทาง รถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะยังไม่ถูกพัฒนา อย่างกรณีนี้ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงสังคมรับไม่ได้ และครอบครัวคือผู้ที่บอบช้ำที่สุด จากการกระทำซึ่งมีการเตรียมการก่อนก่อเหตุ โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้โดยสารทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เกิดความระแวงห่วงเรื่องความปลอดภัยอย่างแน่นอน

ท่าทีล่าสุดของ นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่เป็นที่น่าพอใจ แม้จะชี้แจงว่าผู้ก่อเหตุจะไม่ใช่พนักงานของการรถไฟฯโดยตรง แต่ก็เป็นบริษัทเอกชนที่การรถไฟฯจ้างมา ดังนั้น ผู้ว่าการการรถไฟฯควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก และผู้ที่จะเข้ามาดูแลบริหารจัดการแทน ควรคัดเลือกคุณสมบัติพนักงานและเข้มงวดอบรมพนักงานให้มีทัศนคติหญิงชายในมิติที่ดี ควรตรวจสอบคุณสมบัติของพนักงานบริษัทเอกชน หากพบว่ามีข้อบกพร่องก็ไม่ควรทำสัญญาว่าจ้างต่อ ที่สำคัญควรมีการปฏิรูประบบปัญหาสังคมที่มีผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ” นายจะเด็จ กล่าว

ด้าน นายธีระ วัชรปราณี  ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนระบบความปลอดภัยบนรถไฟที่ยังหละหลวม ที่ผ่านมา เครือข่ายฯเคยเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ยกร่างกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ รวมถึงตู้เสบียงเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ แม้ปัจจุบันจะมีประกาศของการรถไฟฯแต่ยังไม่ครอบคลุมแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้  

นายธีระ กล่าวว่า จากข้อมูลที่เครือข่ายฯได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของผู้โดยสารรถไฟที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ต่อปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟในพื้นที่สถานีหัวลำโพง สามเสน บางเขน บางซื่อ หลักสี่ ธนบุรี ลาดกระบัง หัวหมาก ระหว่างวันที่ 3 - 10 ธ.ค. 2556 จำนวน 1,160 ตัวอย่าง พบว่า 85.95% เห็นว่าการขายและดื่มสุราบนรถไฟเป็นปัญหาใหญ่ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้โดยสาร ส่วน 44.23% เห็นว่าเสียงดังรบกวนสร้างความรำคาญ 29.31% เห็นว่าเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท 10.60% เห็นว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ ส่วนอีก 8.45% เห็นว่าเป็นสาเหตุของการลวนลาม คุกคามทางเพศ และ 7.41% เห็นว่าเป็นสาเหตุของการลักขโมย โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือ 93.53% เห็นด้วยหากมีการออกกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มสุราบนรถไฟเพราะจะช่วยให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และกลุ่มตัวอย่าง 86.03% เห็นด้วยหากกฎหมายนี้จะครอบคลุมไปถึงบริเวณสถานีรถไฟ

“กรณีนี้ชัดเจนคือดื่มสุราก่อนก่อเหตุ ซึ่งพนักงานรถไฟอาจซื้อขึ้นมาดื่ม หรือมีการเร่ขายบนรถไฟ ซึ่งหากมีการออกกฎหมายดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนและปัญหาการคุกคามทางเพศ ทะเลาะวิวาทได้ อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ ทางเครือข่ายฯจะขอเข้าพบ สธ. เพื่อทวงถามความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากควรมีการเร่งผลักดันให้เกิดการบังคับใช้” นายธีระ กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




นายวันชัย แสงขาว อายุ 22 ปี พนักงานบริษัทเอกชนที่รับจ้างทำความสะอาดบนรถไฟผู้ก่อเหตุ (นั่งกับพื้น)
กำลังโหลดความคิดเห็น