xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานเชื่อจัดอันดับค้ามนุษย์ระดับ 3 ไม่กระทบปลดสินค้าใช้แรงงานเด็ก 4 ชนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงาน ชี้จัดอันดับค้ามนุษย์ระดับ 3 สร้างความเสียหายหนัก เชื่อไม่กระทบผลประเมินปลดสินค้า 4 ชนิด เดือน ก.ย. นี้ นักวิชาการ แนะวางมาตรการแก้ปัญหาให้ชัดเจน ควบคู่ดูแลแรงงาน หวั่นกระทบอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก หากมีการกีดกันทางการค้า

วันนี้ (24 มิ.ย.) นางปราณิน มุตตาหารัตน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โจทย์ที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข ที่ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่มีการแสวงหาผลประโยชน์และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากเด็ก สตรี และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประเทศไทยได้มีการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายตาม พระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้ ทั้งการรณรงค์และการแก้ปัญหา อีกทั้งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน จึงทำให้ไทยถูกมองมองว่าเป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์ ในการนำเหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้แรงงาน จนส่งผลให้ถูกลดระดับให้เป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์อันดับที่ 3 อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้มีการป้องกันและแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ในการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่งเสริมการจ้างงานโดยภาครัฐ การตรวจแรงงาน การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดี ในอุตสาหกรรมกุ้ง การสร้างความเข้าใจร่วมกันกับระหว่างสถานประกอบการ โดยในอนาคต กระทรวงแรงงานมีแผนงานในการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดผลการป้องกันที่ยั่งยืน

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดที่ 16 กล่าวว่า การจัดอันดับให้ไทยตกไปอยู่ในระดับที่ต่ำสุด เรื่องการค้ามนุษย์ เชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ซึ่งต้องรอดูท่าทีของสหรัฐอเมริกาว่าจะออกมาตรการใดมากดดัน แต่ไม่น่าจะถึงขั้นคว่ำบาตรไทย เพราะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมกุ้ง และเครื่องนุ่งห่ม ที่มีการใช้แรงงานจำนวนมากจะกระทบหนัก โดยเฉพาะลูกจ้าง ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรายวัน และแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หากได้รับผลกระทบจนต้องถูกเลิกจ้าง จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน ดังนั้นภาครัฐควรจะแก้ปัญหานี้ควบคู่กันทั้งการสร้างความเข้าใจ โดยมีมาตรการที่ชัดเจน และหามาตรการดูแลลูกจ้างสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

รศ.แล กล่าวอีกว่า ส่วนการเดินทางกลับของแรงงานกัมพูชา ก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ เพื่อให้แรงงานกลับมาโดยเร็ว จะได้ไม่กระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ทั้งนี้ในประเทศอื่นที่ถูกจัดให้อยู่ระดับ 3 บางประเทศก็ไม่สนใจในเรื่องนี้ เพราะไม่มีการค้าขายระหว่างประเทศ แต่ในส่วนของไทยหากมีการค้าขายกับประเทศในชาติตะวันตก ก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะการที่จะขอปลดสินค้าที่ถูกขึ้นบัญชีดำของไทยใน 4 รายการ คือ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ที่ต้องทำงานอย่างหนักให้เห็นผลชัดแจ้ง

ด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การถูกลดระดับเป็น 3 ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยทางสหรัฐฯมองในเรื่องการดำเนินคดีเป็นหลักว่าไทยยังมีการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ไม่เพียงพอ และมีการนำเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศว่าไทยมีการใช้แรงงานบังคับ ทำร้ายแรงงานโดยเฉพาะแรงงานด้านประมง ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีความพยายามในการแก้ปัญหาทั้งการร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในส่วนต่างๆ ทั้งการจัดระบบการใช้แรงงานในสถานประกอบการ การตรวจแรงงาน เป็นต้น

“แม้ว่าไทยจะถูกปรับลดอันดับแต่ก็จะไม่หยุดแก้ปัญหา โดยจะร่วมมือกันทำงานเพื่อให้สหรัฐฯ เห็นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ การที่ไทยถูกลดอันดับเป็นระดับที่ 3 นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าของภาคเอกชนสหรัฐฯ เนื่องจากที่ผ่านมาสมาคมผู้นำเข้าสินค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้าของไทย โดยเตรียมจะเดินทางมาไทยในเดือนหน้า” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า การที่ไทยถูกลดอันดับนั้นเชื่อว่าไม่กระทบกับการยื่นขอปลดสินค้า 4 ชนิด คือ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ที่จะมีการตัดสินในเดือนกันยายนนี้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ แต่เป็นเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก ที่ขณะนี้ไทยได้ดำเนินการไม่ให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปอยู่ในพื้นที่สถานประกอบการ ทั้งไร่อ้อย ล้งกุ้ง ล้งปลา และโรงงานเย็บผ้าแล้ว โดยผู้ประกอบการต่างให้ความร่วมมือ เช่น ผู้ประกอบการอาหารทะเลที่ร่วมกันสร้างโรงเรียนเพื่อดูแลเด็กแรงงานต่างด้าวขณะที่พ่อแม่ทำงานในโรงงาน

น.ส. มาเรีย พาเวลไลเนน ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอล) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การค้ามนุษย์ทั่วโลกนั้น ผู้ชายถูกแสวงหาผลโยชน์มากกว่าผู้หญิง แต่จะต้องให้การคุ้มครองทั้งหญิงและชาย ซึ่งอาชีพของแรงงานข้ามชาติที่มีการย้ายถิ่นฐาน ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในภาคเกษตรกรรม ทำงานบ้านและโรงงานn รวมถึงทำงานในพื้นที่ชนบทห่างไกลซึ่งมีโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงาน ทั้งนี้ การบังคับใช้แรงงานบางเรื่องเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา จึงอยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดอย่างจริงจัง ส่วนค่าบริการจัดหางานของแรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องได้รับดูแลให้มีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ไม่สูงเกินไปเพื่อที่จะไม่ให้เกิดเป็นแรงงานบังคับที่แรงงานจะต้องอดทนทำงานเพื่อใช้หนี้ที่เกิดค่าบริการจัดหางาน

พ.ต.ท.มนตรี เบ้าทอง พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาการดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้ละเมิดสิทธิโดยเฉพาะอาชีพประมง ส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาผิดกับไต๋กงและเจ้าของเรือได้ เนื่องจากไม่มีการขึ้นทะเบียนเรือและหากขึ้นทะเบียนเรือก็เรือชื่อเดียวกันหลายสิบลำ นอกจากนี้ ยังพบว่าข้อมูลของลูกเรือแรงงานข้ามชาตินั้นมีปัญหาที่ไม่สามารถพิสูจน์ตัวบุคคลทั้งเจ้าของเรือ ไต๋กง และแรงงานข้ามชาติในเรือเพราะไม่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการ ทำให้เมื่อเกิดปัญหาร้ายแรงไม่สามารถเอาผิดได้ทันที

พ.ต.ท.มนตรี กล่าวอีกว่า แรงงานข้ามชาติบางคนอ่านภาษาไทยและภาษาอังกฤษไม่ได้ บางคนไม่รู้แม้กระทั่งชื่อ นามสกุลของเจ้าของเรือและไต๋กง เรียกกันแต่ชื่อเล่น เมื่อเกิดปัญหาและให้มีการชี้ตัวก็ไม่สามารถชี้ได้ชัดเจน และแม้จะมีการลงทะเบียนมีชื่อ นามสกุลเจ้าของและไต๋กงแต่กลับปรากฎไม่ใช่คนที่แรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ด้วยเป็นคนละคนกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นความยากลำบากในการทำงานที่ไม่สามารถจะเอาผิดได้

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณชีวิตแรงงาน กล่าวว่า การแก้ปัญหาค้ามนุษย์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 หน่วยงาน ซึ่งเห็นว่าแม้จะมีนโยบายแก้ปัญหาที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติงานระดับล่าง ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหารแต่ละหน่วยงานจะต้องกวดขันและเอาใจใส่อย่างจริงจัง รวมทั้งต้องดูแลไม่ให้มีการทุจริตคอรัปชั่น ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ขณะนี้ก็คือ การควบคุมบริษัทจัดหางานและนายหน้าจัดหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งที่ผ่านมามีการเก็บค่าใช้ในอัตราที่สูงเป็นภาระต่อแรงงานข้ามชาติทำให้เกิดหักเงินค่าใช้จ่าย จึงเป็นที่มาของการถูกต่างชาติมองว่าไทยมีปัญหาการค้ามนุษย์

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น