วอยซ์ออฟอเมริกา - สื่อมวลชนแห่งรัฐของสหรัฐฯ เผยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยปกป้องประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ขณะที่อเมริกาเตรียมเผยแพร่รายงานด้ายการค้ามนุษย์ประจำปีที่เป็นไปได้ว่าไทยจะถูกลดระดับสู่ขั้นเลวร้ายสุดเทียบเท่ากับคิวบา และอิหร่าน
ในรายงานข่าว Thailand Defends Human Rights Record วอยซ์ออฟอเมริการะบุว่าเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลในกรุงเทพฯ ย้ำว่าประเทศไทยมีความคืบหน้าในการต่อสู้กับปัญหาค้ามนุษย์เหนือกว่าที่เกณฑ์ที่ทางสหรัฐฯ กำหนดเสียอีก และที่จริงควรได้ปรับเลื่อนระดับขึ้นด้วยซ้ำ
เมื่อปีที่แล้ว ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (Trafficking in Persons) จัดให้ไทยอยู่ในระดับ 2 หรือกลุ่มที่ถูกจับตามอง อย่างไรก็ตาม ในรายงาน 2014 ที่ครอบคลุม 188 ประเทศซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ เหล่าทูตวอชิงตันเผยกับวอยซ์ออฟอเมริกา คาดหมายว่าไทยจะถูกลดขั้นสู่ระดับ 3
นั่นหมายความว่าไทยจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศต่างๆ อย่างคิวบา อิหร่าน คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และซีเรีย เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ที่ดูเหมือนว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดและไม่มีความพยายามเพียงพอในการจัดการกับปัญหาค้ามนุษย์
อย่างไรก็ตาม นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแอฟริกาใต้ ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ออฟอเมริกาว่าหากสหรัฐฯ มีความยุติธรรมไม่ลำเอียง เขาเชื่อมั่นว่าไทยควรได้รับการขยับอันดับขึ้น ไม่ใช่ปรับลดลง “แต่หากเราถูกปรับลดสู่ระดับ 3 เราก็จะเดินหน้าทุกความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เราจะสืบสวนและบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น เพิ่มระบบปกป้องและป้องกัน เพิ่มและขยายความร่วมมือระหว่างประเทศกับชาติอื่นๆ”
ทั้งนี้ ไทยอาจเผชิญมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและถูกตัดเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาหากถูกขึ้นบัญชีดำ อย่างไรก็ตาม นายทรงศักคาดหมายว่ามันจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงใดๆ โดยอ้างจากสิ่งที่กปรากฏกับประเทศอื่นๆ ที่ถูกจัดอยู่ในระดับต่ำสุด “มีบ้างที่มันอาจส่งผลกระทบทางจิตวิทยาบางอย่างต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ หรือยุโรป” วอยซ์ออฟอเมริกาอ้างคำสัมภาษณ์ของนายทรงศัก “ดังนั้น เราจึงจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับเหล่าผู้ซื้อในสหรัฐฯและในตลาดยุโรป เพื่อให้พวกเขาเข้าใจถึงความพยายามของพวกเรา และเข้าใจความคืบหน้าว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในไทย”
แนวโน้มการถูกปรับลดอันดับจากสหรัฐฯ มีขึ้นขณะที่ไทยกำลังเผชิญช่วงเวลาแห่งความยากลำบากในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆนานา ในนั้นรวมถึงข้อกล่าวหาที่ว่าเจ้าหน้าที่กองทัพเรือของไทยมีความเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากพม่า
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไทยเป็นเพียงชาติเดียวที่โหวตคัดค้านร่างแก้ไขอนุสัญญาปี 1930 ว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน ณ ที่ประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และรายงานเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งออกมาแฉว่าแรงงานต่างด้าวต้องทำงานหนักเยี่ยงทาสบนเรือประมงในธุรกิจค้ากุ้ง
ขณะเดียวกัน ชาวกัมพูชาราว 200,000 คน หรือราวครึ่งหนึ่งของแรงงานเขมรในไทย ก็พากันหนีเตลิดกลับบ้านหลังจากคณะรัฐประหารประกาศว่าต้องการกำจัดแรงงานผิดกฎหมาย
รัฐบาลกัมพูชากล่าวอ้างว่าไทยเริ่มปิดโรงงานและบริษัทหยุดจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าเจ้าหน้าที่ไทยใช้กำลัง ในนั้นรวมถึงฆ่าแรงงานกัมพูชาทิ้ง โดยเขากล่าวโทษว่าข่าวลือนี้เผยแพร่โดยแหล่งข่าวต่างแดน และข่าวลือนี้ไม่มีมูลโดยสิ้นเชิง