xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ค่ายารักษาเชื้อ “โบทูลินัม” หลังเปิบหน่อไม้ลวกสูงถึง 3.1 แสน สปสช.สั่งสำรองยาเพิ่มการเข้าถึง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! ค่ายารักษาเชื้อโบทูลินัม จากการกินหน่อไม้ลวกสูงถึง 3.1 แสนบาท สปสช. ชี้เป็นยากำพร้า เข้าถึงยาก ไม่มีการสำรองในอดีต ผู้ป่วยต้องสั่งยาจากต่างประเทศ จนบางรายรักษาไม่ทันถึงตาย เผยสั่งสำรองยานี้ตั้งแต่ปี 2554 แล้ว เพื่อช่วยผู้ป่วยในภาวะวิกฤตเข้าถึงยา พร้อมสำรองยาอื่นๆ อีก 3 ตัว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีข่าวพบผู้ป่วยจากการกินหน่อไม้ลวกบรรจุถุง ซึ่งปนเปื้อนเชื้อคลอสทรีเดียม โบทูลินัม ว่า ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อดังกล่าวจะมีอาการทางระบบประสาท กล้ามเนื้อเกิดภาวะอัมพาต เริ่มจากใบหน้า ไหล่ แขนส่วนบนและล่าง ต้นขาและน่อง รวมถึงกล้ามเนื้อกระบังลม ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ จึงต้องรีบรักษาโดยเร็ว โดยการรับ “โบทูลินัม แอนตีท็อกซิน” (Botulinum antitoxin) ซึ่งในอดีตมีราคาแพงมาก จัดอยู่ในกลุ่มยากำพร้า เพราะมีอัตราการใช้น้อยมาก ทำให้ยากต่อการเข้าถึง แต่ถือเป็นยาจำเป็นต้องใช้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ในปี 2554 บอร์ด สปสช. จึงเห็นชอบให้มีการสำรองโบทูลินัม ท็อกซิน เพื่อใช้ช่วยผู้ป่วยในยามฉุกเฉิน พร้อมให้วางแผนจัดระบบสำรองและจัดส่งยาที่รวดเร็ว โดยร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดหา สภากาชาดไทยผลิตยาบางรายการ มีศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ศูนย์พิษวิทยา รพ.ศิริราช และสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) ช่วยสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ทำให้เกิดการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

โบทูลินัม ท็อกซินเป็นยาที่มีราคาแพง ราคาจัดซื้อปัจจุบันอยู่ที่ 156,000 บาท/ขวด แต่การใช้ยาอยู่ที่ประมาณ 2 ขวดต่อราย ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย 1 ราย สูงถึง 312,000 บาท ทั้งยังไม่สามารถคาดการณ์การเกิดพิษต่อปีได้ ทำให้โรงพยาบาลมีความเสี่ยงในการสำรอง ขณะที่บริษัทผู้จำหน่ายไม่มีแรงจูงใจในการนำเข้ายา จึงเกิดปัญหาการเข้าถึงยา สปสช. จึงรับหน้าที่สำรองยาดังกล่าว” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเชื้อดังกล่าว 4 รายนั้น แบ่งเป็นผู้ป่วย 2 ราย ที่ จ.ชลบุรี โดย รพ.พญาไท ศรีราชา ได้ปรึกษาอาการผู้ป่วยมายังศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ซึ่งเมื่อวินิจฉัยอาการและยืนยันการใช้ยาแล้ว ได้ประสานขอเบิกยาจาก สปสช. ซึ่งใช้เวลาในการรอรับยาเพียง 3 ชั่วโมง เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วย จากการติดตามอาการหลังรับยาพบว่า มีอาการทางคลินิกดีขึ้นตามลำดับ ส่วนอีก 2 ราย ที่ รพ.ชัยภูมินั้น ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ได้ประสาน คร. เพื่อสอบสวนโรคและติดตามกลุ่มเสี่ยง ทำให้ติดตามและวินิจฉัยผู้ป่วยที่ชัยภูมิได้รวดเร็ว และได้เบิกยามาที่ สปสช. โดยใช้เวลาจัดส่ง 2 ชั่วโมงให้ คร. โดย คร. จัดส่งยาและลงสอบสวนโรคในพื้นที่ได้ในวันรุ่งขึ้น จากการติดตามผลพบว่าอาการทางคลินิกดีขึ้นเช่นกัน

ความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้รวดเร็ว ซึ่งในอดีตการรักษาผู้ป่วยจะต้องสั่งซื้อยาจากต่างประเทศ ทำให้ใช้เวลานาน บางครั้งไม่ทันต่อการช่วยเหลือ นอกจากนี้ การสำรองยานี้ไม่ได้ครอบคลุมการรักษาเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันฯเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา นอกจากโบทูลินัม แอนตีท็อกซินแล้ว ยังสำรองยากำพร้าอื่นๆ ได้แก่ ดิพทีเรีย แอนตีท็อกซิน สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคคอตีบ ยาต้านพิษไซยาไนด์ หรือ ไซยาไนด์ แอนตีได๊ส สำหรับรักษาอาการพิษจากสารกลุ่มไซยาไนด์ ซึ่งพบได้ในพืช เช่น มันสำปะหลังดิบ และสารเคมีที่ใช้ในครัวเรือนบางชนิด และแคลเซียม ไดโซเดียม อีดีเตท สำหรับรักษาภาวะเป็นพิษจากโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว สังกะสี แมงกานีส เป็นต้น เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษในภาวะฉุกเฉิน เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยตรง” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น